HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 22/04/2563 ]
ป่วยใหม่ไทยลดต่อเนื่องศบค.ตั้งเป้าต่ำสิบ14วัน

 ทุบสถิติติดเชื้อรายใหม่ต่ำสุด 19 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศบค.ชี้เบาใจได้แต่อย่าวางใจ วอนอยู่บ้านทำยอดต่ำสิบให้ได้ อย่างน้อย 14 วัน สธ.เร่งสอบสวนโรคเหตุ เชียงรายป่วยโควิดซ้ำ เตือนประชาชนระวัง หน้าฝนห้ามการ์ดตก สปสช.ออก 7 มาตรการเชิงรุกดูแลคนไข้บัตรทอง ภูเก็ตกลับมาติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย
          ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 เมษา ยน เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 19 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,811 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 109  ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 655 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 48 ราย
          โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 48 เป็นชายไทยอายุ 50 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ มีโรคประจำตัวเบาหวาน สูบบุหรี่ มีประวัติขับรถไปส่งผู้โดยสารที่สนามมวยลุมพินี เริ่มหายใจลำ บาก มีไข้ต่ำ ไอในวันที่ 18 มี.ค. และเข้ารับการตรวจเบื้องต้นที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม. โดยรับยากลับไปทานที่บ้าน แต่อาการไม่ดีขึ้น วันที่ 23 มี.ค.จึงกลับมารักษาตัวอีกครั้ง มีไข้สูง 39.5 ปวดกล้ามเนื้อ มีเสมหะเพิ่มขึ้น ผลตรวจยืนยันเป็นโควิด-19 อาการแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย.
          "ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ 19 ราย เป็นผลต่อเนื่องมาจากการปฏิบัติตัวของคนไทยเมื่อ 14 วันที่แล้ว ที่เราร่วมมือกันหยุดเชื้อเพื่อชาติในช่วงวันที่ 7-8 เม.ย. ขณะเดียวกันความร่วมมือที่ผ่านมายังทำให้โรงพยาบาลต่างๆ มีเตียงว่างมากขึ้น เพียงพอต่อการรับผู้ป่วย ดังนั้นจึงขอให้ร่วมมือกันต่อไป" นพ.ทวีศิลป์ ระบุ
          สำหรับผู้ป่วยใน จ.สตูล 19 ราย เป็นบุคคลที่อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐทั้งหมด ไม่มีผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัด จึงต้องขอบคุณ จ.สตูลที่รับผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศเข้าไปดูแลในพื้นที่ และขอปรับ จ.สตูลไปอยู่ในจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วย รวมกับ 9 จังหวัดก่อนหน้านี้ รวมเป็น 10 จังหวัด นอกจากนี้ มีจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นในช่วง 14 วัน อีก 1 จังหวัดคือ สุพรรณบุรี รวมจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 14 วัน 36 จังหวัด และในรอบ 7 วันที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเข้ามาเพียง  11 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ กทม. นนทบุรี ภูเก็ต ชลบุรี ยะลา ปัตตานี สงขลา กระบี่ นราธิวาส ขอนแก่น  ชุมพร
          ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่กักตัวของรัฐ 71 ราย ส่วนอาชีพที่ติดเชื้อมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รับจ้างทั่วไป ฟรีแลนซ์ 395 ราย ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว 308 ราย พนักงานบริษัท โรงงาน 235 ราย พนักงานในสถานบันเทิง 176 ราย นักเรียน นักศึกษา 164 ราย ช่วงอายุระหว่าง 20-39 ปี ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้เพราะเป็นช่วงอายุที่เป็นพาหะนำเชื้อโรค
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยในทวีปเอเชียนั้น ตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา สิงคโปร์มีผู้ป่วยรายใหม่มากที่สุด 1,426 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีอยู่ในประเทศกว่า 3 แสนคน อาศัยอยู่ในหอพักขนาดใหญ่ 43 แห่ง แต่ละห้องอยู่กันแบบแออัด 12-20 คน และพบว่าผู้ป่วยกลุ่มแรกในสิงคโปร์เริ่มจาก 4 คน จากนั้นขยายเป็นพันคนในเวลารวดเร็ว น่ากังวลใจมาก ทางสิงคโปร์จึงล็อกดาวน์หอพักทุกแห่ง มีคลินิกสถานพยาบาลเข้าไปดูแล นำแรงงานที่มีผลเป็นลบไปอยู่ในเรือ มีการตั้งศูนย์ขึ้นมาดูแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ และทุกคนจะได้รับค่าจ้างระหว่างกักตัว ซึ่งเป็นการควบคุมการระบาด เราจึงต้องเรียนรู้จากเขาในการดูแลแรงงานต่างด้าวในประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้สแกนดูพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวพักอาศัยว่าเป็นอยู่อย่างไร จัดให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมและความสะอาด รวมถึงตั้งพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว
          เบาใจแต่วางใจไม่ได้
          ส่วนผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 20 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 21 เม.ย.  มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 963 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 33 ราย ชุมนุมมั่วสุม 65 ราย ลดลงจากคืนก่อน 21 ราย จึงขอความร่วมมืออย่าออกจากบ้านถ้าไม่มีความจำเป็น ขอให้ครอบครัวตักเตือน สำหรับจังหวัดที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุด ได้แก่ กทม. ปทุมธานี สมุทรปราการ ภูเก็ต พระนครศรีอยุธยา ระยอง  นครราชสีมา ราชบุรี นนทบุรี บุรีรัมย์ ส่วนจังหวัดที่ไม่มีการกระทำผิด ได้แก่ สิงห์บุรี ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ นครพนม ขณะที่คนไทยที่จะเดินทางกลับจากต่างประเทศวันนี้ จะมีคนไทยจากไต้หวัน 120  คน และจากญี่ปุ่น 100 คน ซึ่งจะไปอยู่ในสถานกักตัวของรัฐทั้งหมด
          "เรายังอยู่ในการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ยังรณรงค์ให้ลดการเดินทาง วันนี้เรามีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ต่ำกว่า 20 ราย เพราะคนไทยร่วมมือกัน หลายคนเบาใจได้ แต่วางใจยังไม่ได้แน่นอน เนื่องจากมีตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ให้เห็น เพียง 4 คนยังทำให้ขึ้นมาเป็นพันได้ ถ้าเราคุมได้ไม่ดีตัวเลขจะยกกำลังขึ้นมา ดังนั้นต้องขอความร่วมมือเอกชน ถ้าสามารถสั่งทำงานที่บ้านได้ก็ให้ทำ รัฐยังยืนยันมาตรการนี้อยู่" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
          เมื่อถามว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้นระลอกใหม่ เราจะป้องกันการระบาดระลอกใหม่อย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การจะผ่อนปรนหรือยกเลิกต้องเรียนรู้จากประเทศต่างๆ ประชาชนจังหวัดไหนต้องการอิสรเสรีขึ้นอยู่กับความร่วมมือของท่าน ใครทำกรรมดีไว้ก็ส่งผลดีให้ได้ ถ้าร่วมมือดีก็จะทำให้มีพื้นที่ในการที่จะทำอะไรต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งสุขภาพก็สำคัญ ปากท้องก็สำคัญ เราจะไล่ลำดับขึ้นมา ชีวิตต้องอยู่ได้ก่อน จากนั้นเศรษฐกิจและสังคมจะได้ตามมา ยึดหลักการแบบนี้เราถึงมีวันนี้
          "ขอประชาชนว่าเราอยู่ในตัวเลขสองหลัก เราต้องช่วยกันต่ำสิบให้ได้ อย่างน้อย 14 วัน เราจะได้เห็นหน้าเห็นหลังสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร เราอาจเป็นประเทศแรกของโลกที่ซีลประเทศได้เป็นอย่างดี  ถ้าตัวเลขต่ำสิบเราก็ต้องมีพฤติกรรมแบบใหม่ที่เป็นปกติ คือสวมหน้ากากอนามัยร้อยเปอร์เซ็นต์" โฆษก ศบค.กล่าว
          ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.อนุ พงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีข่าวการพบผู้ป่วยติดเชื้อซ้ำที่ จ.เชียงรายและชัยภูมิว่า ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แพทย์จะให้รักษาตัวที่โรงพยาบาล 2 สัปดาห์ จึงจะให้กลับบ้านไปดูแลตัวเองต่ออีก 14 วัน จนครบ 30 วัน นับจากวันที่มีอาการ สำหรับเคสที่ชัยภูมิถือว่าเป็นเคสที่พบในช่วงเวลา 1 เดือน จึงถือว่าเป็นระยะเดียวกัน  การที่ป่วยในครั้งหนึ่งแล้วไม่มีไข้ แต่เมื่อตรวจแล้วยังเจอเชื้อโควิด-19 ซ้ำอีกครั้ง ถือว่าเป็นซากเชื้อ
          ส่วนที่เชียงรายต่างจากรายแรกที่กลับมามีอาการอีกครั้ง พบว่ามีไข้สูงร่วมกับปอดอักเสบ ซึ่งขณะนี้แพทย์กำลังอยู่ระหว่างวินิจฉัยว่าการป่วยครั้งนี้มีผลมาจากเชื้อโควิด-19 หรือเป็นการติดเชื้อซ้ำเติมจากแบคทีเรียอื่น เนื่องจากระหว่างพักฟื้นในช่วงระยะเวลา 30 วัน ร่างกายของแต่ละคนจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน บางคนเร็วบางคนช้า ซึ่งโรคนี้เป็นโรคใหม่ โดยเจ้าหน้าที่กำลังอยู่ระหว่างเก็บข้อมูล เรียนรู้ว่าเมื่อไหร่ร่างกายจึงจะมีระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำได้
          นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝนซึ่งไข้เลือดออกจะแพร่ระบาดมาก โดยเฉพาะเดือน พ.ค. ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ที่จะทำให้สามารถตัดวงจรการแพร่เชื้อได้ โดยบุคลากรทางการแพทย์จะต้องพิเคราะห์โรคให้ได้ว่าคนไข้ที่ขอรับการรักษาเป็นไข้เลือดออกหรือติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือ อย่าลืมว่าหน้าฝนกำลังมา เราจะการ์ดตกไม่ได้
          7 มาตรการดูแลบัตรทอง
          นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิ การสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า  ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน  ได้เห็นชอบ 7 มาตรการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนี้ 1.ส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ให้ผู้ป่วยรายเก่าทางไปรษณีย์ มีหน่วยบริการเข้าร่วมโครงการแล้ว 349 แห่ง 2.ลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยขยายร้านยา "โครงการรับยาใกล้บ้าน" 3.ผู้ ป่วยโรคเรื้อรังรับยาหรือบริการทางการแพทย์ตามความจำเป็นนอกหน่วยบริการประจำได้ 4.จ่ายชดเชยค่าบริการกรณี โรคโควิด-19 ให้หน่วยบริการนอกระบบบัตรทอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น รพ.เอกชน โดยใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายฯ 5.จ่าย ชดเชยค่าบริการโรคโควิด-19 ให้โรงพยาบาลสนามที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้าน
          6.เสนอแก้ไขประกาศกระทรวง สาธารณสุข โดยให้รายการค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ ปีงบประมาณ 2563 ใช้ซื้อครุภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ได้ และเพิ่มอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีโควิด-19 เป็น 2 เท่าจากเดิม และ 7.มอบเลขาธิการ สปสช. และประธานบอร์ด สปสช.พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตราค่าใช้จ่าย และการจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยบริการ เพื่อทันต่อสถานการณ์การระบาด ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 นั้น พบว่าประมาณ 80% เป็นผู้ป่วยบัตรทอง
          ที่ จ.ภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า มีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 193 ราย  (พบรายใหม่ 1 ราย) ให้กลับบ้าน 133 ราย
          นพ.ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายที่ 193 เป็นชายชาวอิตาลี อายุ 83 ปี อาศัยในเขตป่าตอง อ.กะทู้ พบมีการเดินทางไปสถานที่เสี่ยง เช่น ซอยบางลา ร้านอาหารอิตาเลียน ซอยนาใน ต.ป่าตองหลายครั้ง
          ที่ด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย อ.เบตง จ.ยะลา มียอดแจ้งการเดินทางเข้ามาในวันนี้จำนวน 50 คน ทั้งนี้ นางเจ๊ะมะ เวชวิชัย เดินทางมาจากรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย บอกว่าเดินทางกลับมาพร้อมเพื่อนจำนวน 20 คน ตนอยู่ที่ไหนก็ไม่สบายใจเท่าแผ่นดินไทย
          ที่ จ.ปัตตานี พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 91 คน โดยรายที่  91 อาศัยในพื้นที่  ม.6 ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง มีประวัติเป็นผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากมัรกัสยะลา
          ที่ จ.นราธิวาส พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.และคณะ ได้เดินทางไปดูสภาพช่องทางข้ามธรรมชาติหลังชุมชนตันหยงมะลิ เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก โดยมี พล.ท.พรศักดิ์ พูนสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4, พล.ต.สมดุลย์ เอี่ยมเอก ผบ.ฉก.นราธิวาส, พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค ผบ.พล.ร.5 ให้การต้อนรับ หลัง พล.อ.อภิรัชต์รับฟังการบรรยายสรุปแล้วเสร็จ ได้ย้ำให้เพิ่มมาตรการสกัดกั้นกลุ่มบุคคลที่แอบลักลอบเข้าเมือง เพราะอาจเป็นบุคคลที่นำเชื้อมาแพร่ระบาดในประเทศไทย พร้อมสั่งการหาอุปกรณ์ส่องสว่างติดตั้งตามจุดต่างๆ
          ที่ จ.ชุมพร นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ผู้ป่วยหญิงรายที่ 13 และ 14 ซึ่งเป็นเจ้า หน้าที่รัฐจากทัณฑสถานแห่งหนึ่งนั้น ได้ตรวจหาเชื้อจากผู้ร่วมงานทั้งหมดแล้ว ผลคือไม่มีใครติดเชื้อ สำหรับผู้ป่วยรายที่ 12 เพศหญิงอายุ 24 ปี กับลูกสาวซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 16 เป็นเด็กหญิงอายุ 2 ขวบ 8 เดือน รักษาตัวอยู่ห้องเดียวกันใน รพ.ชุมพรเขตร อุดมศักดิ์ ผู้ป่วยที่เป็นแม่อาการเป็นปกติ แต่ลูกสาวมีอาการทางปอดเล็กน้อย แต่โดยรวมถือว่าดีขึ้นมาก
          ที่บ้านของ น.ส เอ และ น.ส บี (นามสมมุติ) อายุ 24 และ 25 ปี ชาวตำบลบ้านโพธิ์ อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายแรกของจังหวัด และรักษาหายออกจาก รพ.วันที่ 5 เม.ย. และกักตัวต่อที่บ้านครบ 14 เปิดเผยว่า พร้อมจะไปบริจาคพลาสมาให้โรงพยาบาลเพื่อนำไปทำวัคซีน
          ที่ รพ.ขอนแก่น นพ.ชาญชัย จันทร์ วรชัยกุล ผอ.รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า ผู้ป่วยติดเชื้อยังอยู่ที่ 6 ราย  ซึ่งรักษาหายอย่างเด็ดขาดแล้ว 4 ราย คงเหลือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาที่ รพ.เพียง 2 ราย เป็นสามีภรรยากัน โดยภรรยาอายุ 63 ปีนั้นอาการดีขึ้นมาก มีสติรับรู้แต่ยังพูดไม่ได้ จะพิจารณาถอดเครื่องช่วยหายใจเร็วๆ นี้ สำหรับเคสที่ 6 ที่เป็นสามีไม่มีอาการอะไร หากหายแล้วก็จะส่งตัวกลับบ้าน สำหรับลูกไม่มีเชื้อแล้ว พบว่ามีภูมิต้านทานชัดเจน สภากาชาดไทยขอตรวจละเอียดอีกรอบ ซึ่งจะรู้ผลภายใน 1-2 วันนี้.


pageview  1204857    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved