HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 02/04/2563 ]
เตือนเชื้อโควิดแพร่ทางอากาศอยู่ห่างก็ติดได้

 เมื่อวันที่ 1 เมษายน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าประจำห้องไอซียู โรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุโรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า มีข้อมูลล่าสุดสนับสนุนว่าผู้ป่วย โควิด-19 ระยะฟักตัวสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสทางอากาศไม่ต่างจากวัณโรค ขณะร้องเพลงร่วมกับผู้อื่น
          สื่ออเมริกาลงข่าวกลุ่มนักร้องประสานเสียงในโบสถ์แห่งหนึ่งที่รัฐวอชิงตัน จำนวน 45 คนจาก 60 คน ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเสียชีวิต 2 คนภายใน 3 สัปดาห์ ทั้งที่ทุกคนที่มาร้องเพลงเป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง วันที่ 10 มีนาคม ไม่มีใครไอ ไม่มีใครป่วย พวกเขาป้องกันตัวเองทุกอย่าง ล้างมือ ยืนรักษาระยะห่าง 1-2 เมตร ไม่แตะตัวหรือแตะต้องสิ่งของอะไร
          แสดงว่าขณะที่คนที่อยู่ในระยะฟักตัว ร้องเพลงเปล่งเสียงสูงออกมามีละอองฝอยฟุ้งกระจายออกมา เป็นละอองฝอยขนาดเล็ก ไม่ใช่น้ำลายหรือเสมหะ ละอองเล็กขนาดต่ำกว่า 5 ไมครอน ล่องลอยไปในอากาศ ทำให้คนที่อยู่ห่างออกไปไกลๆก็ติดเชื้อได้ ไม่ใช่จากการไอจามรดกัน การสัมผัสเนื้อตัวหรือสิ่งของร่วมกัน
          ต่อไปนี้ถ้าต้องร้องเพลง ตะโกนเชียร์กีฬา และมีคนอยู่ด้วยกันหลายคน คนที่ร้องหรือตะโกนต้องใส่หน้ากากอนามัย เพราะอาจอยู่ในระยะฟักตัวโดยที่ตัวเองไม่รู้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศให้ ผู้อื่นเป็นวงกว้าง
          วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่าน เฟซบุ๊กว่า โควิด-19 การลดการแพร่กระจายของโรคในประเทศไทย มาตรการต่างๆ ที่ออกมา เราสามารถลดการแพร่กระจายของโรคมาได้ระดับหนึ่ง จากอำนาจการแพร่กระจายปกติ 1 คน แพร่โรคต่อ 2.5 คน ลดลงเหลือ 1 คนแพร่ไป 1.5 คน แต่อัตราดังกล่าวยังไม่เป็นที่พอใจ จะต้องลดให้เป็น 1 หรือน้อยกว่า 1 ให้ได้ โดยต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ประกอบไปด้วย 1.วินิจฉัยโรคให้ได้รวดเร็ว และให้ได้มากที่สุด โดยการตรวจผู้สัมผัส ผู้ต้องสงสัยเพิ่มขึ้น และต้องออกผลให้รวดเร็ว ตรวจจำนวนผู้ต้องสงสัยเพิ่มขึ้น เพื่อควบคุม กักกัน ไม่ให้โรคแพร่กระจาย ผู้ติดเชื้อทุกคนจะต้องได้รับการดูแล ควบคุม ไม่ให้เกิดอาการมาก หรือรุนแรงโดยรักษาแต่เริ่มแรกรวดเร็ว รวมทั้ง ผู้ที่รักษาหายจะต้องมั่นในว่าพ้นระยะไม่ไปแพร่กระจายโรคได้
          2.ลดความเสี่ยงในการติดโรคของคนทั่วไป ตั้งแต่สุขอนามัย ล้างมือ กินร้อนที่รู้จักกันดี ไปจนถึงกำหนดระยะห่างของบุคคล สังคม ไม่น้อยกว่า 2 เมตร ไม่ว่านอกบ้าน ในบ้าน การใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคและลดการติดต่อ 3.ลดการเคลื่อนที่ของประชากร ลดการสัมผัสโรคด้วยการอยู่บ้าน และจะต้องทำให้มากที่สุด 4.การมีระเบียบวินัย เมื่อเปรียบเทียบจีนกับประเทศประชาธิปไตยทางตะวันตกแล้ว จีนมีระเบียบวินัยมากกว่า สามารถควบคุมโรคได้จนไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ยกเว้นผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศ
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความลงเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยระบุว่า คำถามจากรุ่นพี่ อดีตนายทหารนักเรียน ร.ร.เสนาธิการทหารบกถามว่า ถ้ากำหนดสถานการณ์สมมุติว่าย่านถนนแจ้งวัฒนะเกิดการระบาดโควิด-19 รุนแรง เลวร้ายจนต้องปิดล้อมจำกัดเขตพื้นที่การระบาดแล้ว แม้ รพ.มงกุฎวัฒนะ จะตั้ง โรงพยาบาลสนามก็แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมาก...ผมจะตัดสินใจทำอย่างไร
          "คำตอบของผมคือ ผมจะแปรสภาพ รพ.มงกุฎวัฒนะ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ตติยภูมิสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เท่านั้น ซึ่งจะทำให้เขตพื้นที่ปิดล้อมการระบาดแจ้งวัฒนะมีโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถเฉพาะทางขั้นสูงทุกสาขา และอนุสาขา หากเป็นเช่นนี้แล้วย่านถนนแจ้งวัฒนะจะมีโรงพยาบาลศูนย์ตติยภูมิสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 500 เตียงทันที ซึ่งน่าจะรับมือได้ (ถ้าไม่ได้ก็ตายกันเป็นเบือครับ) ส่วนผู้ป่วยอื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิด-19 ให้จิตอาสาขนส่งลำเลียงไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ นี่คือไพ่ใบสุดท้ายหากเกิดสถานการณ์ระบาดเลวร้ายที่ย่านถนนแจ้งวัฒนะครับ...ผลลัพธ์จากไพ่ใบสุดท้ายนี้คือ รพ.มงกุฎวัฒนะ ขาดทุนย่อยยับครับ แต่สิ้นสุดสถานการณ์ระบาดแล้วก็ยังมีโอกาสค่อยๆ กอบกู้สร้างเนื้อสร้างตัวกันใหม่ ผมพูดจริง ทำจริงนะครับ"


pageview  1205091    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved