HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 25/02/2563 ]
สธ.ประกาศไวรัส โควิด-19 โรคติดต่ออันตรายสั่งเตรียม4รพ.ใหญ่ในกทม.

 รองรับการแพร่ระบาดเข้มข้นวิตก25ผู้ป่วยต่างชาติในไทยยอดเสียชีวิตทั่วโลก2.6พันคน
          สาธารณสุขประกาศไวรัส"โควิด-19"เป็น"โรคติดต่ออันตราย"ลำดับ 14 เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมการระบาด เพื่อให้คนทำงานมีความมั่นใจ วิตก 25 ผู้ป่วยต่างชาติอยู่ในไทยเดือนกว่า เกรงแพร่เชื้อให้คนไทย เตรียม 4 รพ.ใหญ่รับระบาดในกทม. นายกฯสั่งผู้ว่าฯ-หน่วยงานเกี่ยวข้องสอบคนจีนป่วยลอบรักษาชายแดนไทย กำชับตรวจเข้มทุกช่องทาง พิษไวรัส "นกแอร์-นกสกู๊ต"เลิกจ้างนักบินครึ่งร้อย สถานการณ์ระบาด ทั่วโลก พุ่งใกล้ 8 หมื่น-ดับ 2.6 พัน เกาหลีใต้ เกิน 800 ดับ 8 อิตาลีตาย 4 ขณะ "คูเวต-บาห์เรน-อัฟกาฯ" พบผู้ติดเชื้อ
          เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังประชุมครม.ถึงกรณีข่าวคนจีนที่ป่วยจากไวรัสโควิด-19 จ้างคนไทยพาลักลอบเข้ามาช่องทางธรรมชาติเพื่อมารักษาในโรงพยาบาลชายแดนไทยว่า วันนี้ได้สั่งผู้ว่าฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้ว หากใครเกี่ยวข้องต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย เรามีนโยบายที่รัดกุมตรวจสอบคัดกรองการเข้า-ออกทุกด่านทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ช่องทางธรรมชาติ ย้ำทุกกองกำลังจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการคัดกรองตรวจสอบ ผิดกฎหมาย ต้องส่งกลับ โดยกองทัพบกเสริมกำลังทหารช่วยคัดกรองด้วย ขณะนี้ได้รับรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการตรวจผ่าน โรงพยาบาลในพื้นที่ก็ยังไม่พบการติดเชื้อ
          กำชับไทยต้องเข้มงวดมากขึ้น
          เมื่อถามว่ากรณีที่ประเทศเกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบก้าวกระโดด ไทยจะมีมาตรการห้ามคนไทยไปเกาหลีใต้ช่วงนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เราถึงมีมาตรการรองรับในระยะที่ 3 คำว่าก้าวกระโดดก็คือระยะที่ 1 เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดเกิดขึ้นมีมาตรการอย่างไร คัดกรองอย่างไร ระยะที่ 2 ติดเชื้อมาจากประเทศต้น ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิด ตอนนี้เราดำเนินการในระยะที่ 1 และ 2 ส่วนระยะที่ 3 มาตรการรองรับกรณีที่มีการ แพร่ระบาดของคนในประเทศ เราได้มีการประชุมไว้ล่วงหน้าแล้วจะมีมาตรการอย่างไรบ้าง บางอย่างเข้มงวดมากขึ้น
          "วันนี้มีการประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มเติมว่าจะทำอย่างไรโดยให้นำพ.ร.บ.โรคติดต่อมาดูว่าดำเนินการครอบคลุมหรือยัง ซึ่งครอบคลุมโรคติดต่ออยู่ 13 ชนิด ไม่ได้ทำให้ทุกคนตื่นตระหนก แต่ควรมีกฎหมายอะไรรองรับหรือไม่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกขึ้น เพราะยังไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแต่ต้องกฎหมายให้รัดกุมทั้งเจ้าหน้าที่ องค์การอาหารและยา(อย.)เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้รับการดูแลเพื่อระมัดระวังการแพร่กระจายฅในประเทศ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
          เพิ่มมาตรการ-อย่าเพิ่งตื่นตระหนก
          นายกฯกล่าวว่า หลายคนบอกว่าบิดเบือนจำนวนตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อหรือไม่ วันนี้ยังยืนยันตัวเลขเดิมอยู่ แต่ในส่วนที่ครอบคลุมก็ประมาณ 1,000 คน ต้องอยู่ในมาตรการ ต้องติดตาม ยังตรวจสอบไม่พบ จึงต้องตรวจสอบเป็นระยะๆ อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแล้วกัน เมื่อถึงระดับนั้น เราต้องมีมาตรการที่เข้มงวดต่อไปวันนี้หากเราพูดอะไรไปที่เกินเลยไปมากๆ จะมีผลเสีย ต่อการเดินทางไปมาหาสู่กัน มีผลต่อการท่องเที่ยว ซึ่งเราก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว แต่เมื่อมีความจำเป็นต่างๆ เราก็ต้องมาตรการรองรับก็ขอให้ทุกคนป้องกัน
          หลายชาติชื่นชมไทยรับมือโควิด-19
          นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้สิ่งสำคัญสุด เราต้องเตรียมมาตรการเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีการดูแลได้มากยิ่งขึ้น ในเรื่องเกี่ยวกับการผลิต หรือทดลองยาเวชภัณฑ์ต่างๆซึ่งมีความจำเป็น ไม่ได้หมายความว่ามากขึ้น อย่าไปบิดเบือนแล้วกันได้ไหม หลายเรื่องๆบางทีคนไม่เข้าใจ ทราบเป็นความหวังดีแต่กรุณาฟัง และหาข้อเท็จจริง หลักการและเหตุผลมาเสริมด้วย คิดเองเออเอง บางทีไม่ได้ ทำงานลำบาก เพราะเราทำงานกับคนหมู่มาก ตั้ง 68 ล้านคน เราต้องคำนึงถึง 68 ล้านคน จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน เพราะไม่ได้ติดโรคกันทุกคน เราก็ต้องมีมาตรการคุ้มครองดูแล คัดกรองคนที่มีข้อสงสัยว่าจะมีเชื้อ แต่วันนี้เราก็ได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศพอสมควร ในการควบคุม ในการดำเนินการมาตรการต่างๆ ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศหลายประเทศเช่นเดียวกัน
          สธ.ประกาศโรคติดต่ออันตราย
          บ่ายวันเดียวกันที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ แห่งชาติ วาระการพิจารณาออกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยมีกรรมการ 30 คน และมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ใช้เวลาประชุมตั้งแต่เวลา 14.30 น. ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ประกาศโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ลำดับที่ 14 และจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป
          เพื่อให้คนทำงานมีความมั่นใจ
          โดยนายอนุทินกล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงสาธารณสุข คนทำงานทุกคนใช้นโยบายการรับมือสถานการณ์นี้ในเชิงบวก1คือ หากสถานการณ์อยู่ในระยะที่ 2 แล้ว ก็จะใช้มาตรการป้องกันระดับ 3 เพื่อให้มั่นใจว่าเราอยู่หน้าสถานการณ์ ไม่ใช่วิ่งไล่ตาม ดังนั้น การประกาศให้ไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายไม่ใช่ว่าเราเอาไม่อยู่ แต่เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรคนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะยังกังวลว่าจะติดข้อกฎหมายอะไรหรือไม่ จึงต้องหามาตรการให้คนทำงานมีความมั่นใจ ยกตัวอย่างสมมุติว่าจำเป็นต้องกักตัวใครหนึ่งคน 14 วัน ถ้าไม่มีประกาศโรคติดต่ออันตรายก็จะได้แค่ขอความร่วมมือและวันดีคืนดี ถ้ามีคนที่เป็น Super Spreader แบบที่เกาหลีจาก 1 ก็ติดเป็นร้อยคน ก็จะออกมาปฏิเสธหาถูกจำกัดอิสระ จะมีมูลนิธิหัวหมอมาหาว่าเราจำกัดอิสรภาพ ดังนั้นเราจึงทำตามสถานการณ์
          รับเหนื่อยบั่นทอนใจกับเฟคนิวส์
          "วันนี้เราไม่ได้สู้กับไวรัสโคโรนา อย่างเดียว แต่ยังเหนื่อยกับข้อความที่แชร์กันมาจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ให้ร้ายก็มี เป็นสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจของคนทำงานมาก อย่างวันนี้สถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศคงที่มาสักระยะ ก็มีคนมาบอกว่าโกหก ประเทศที่เจริญกว่าประเทศไทยยังมีมากกว่านี้ เราผิดอะไรหรือไม่ คำพูดเหล่านี้มันบั่นทอน ที่เราทำมาถึงทุกวันนี้ได้บารมีได้คำแนะนำจาก ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์จากโรงเรียนแพทย์ นักวิชาการจากสถาบันต่างๆมาช่วยกัน แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับความกดดันทางสังคมทาง Social Media ได้" นายอนุทิน กล่าว
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโรคติดต่อ อันตราย 13 โรค ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออก ไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ 5.ไข้เหลือง 6.โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9.โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัส เฮนดรา 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส 12.โรคทางเดินหายใจ ตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส และ 13.วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก
          สธ.ชายจีนที่แม่สอดไม่ติดโควิด-19
          ก่อนหน้านี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่ายังมีผู้ป่วยสะสมที่ 35 ราย รักษาหาย 21 ราย ยังรักษาในรพ. 14 ราย ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 2 ราย ในรายที่ใส่เครื่องช่วยการพยุงการทำงาน ของปอดนั้น ตอบสนองต่อการรักษาดี ส่วน รายที่มีวัณโรค ร่วมด้วยมีการตอบสนองต่อการ รักษาดีเช่นกันสามารถหายใจได้ดีขึ้น นอกจากนี้ กระแสข่าวมีผู้ป่วยจากประเทศจีนเข้ามารักษาที่ รพ.แม่สอดนั้น ผลการตรวจแล็บ 2 แห่ง ออกมา เป็นลบ ไม่พบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังรักษาต่อตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
          ย้ำประสานคุมเข้มด่านพรมแดน
          ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าผลแล็บผู้ป่วยชาวจีนที่รพ.แม่สอด ออกมาเป็นลบ แต่ตามช่องทาง ที่เข้ามามีกระบวนการคนไทยกลุ่มหนึ่งรับจ้างพาเดินทางมาทางเรือและเข้าทางช่องทาง ธรรมชาติ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อระบบเฝ้าระวังโรค จะต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่าเป็นมาตรการที่เราต้องสะท้อนกลับไปว่าต้องทำให้เข้มข้นขึ้น ดีขึ้นซึ่งพรมแดนธรรมชาติเป็นส่วนที่คนสามารถเดินทางข้ามมาได้ แต่สิ่งสำคัญคือการทำงานในระดับพื้นที่ ทั้งด้าน ความมั่นคงและประชาชนในพื้นที่ ที่สำคัญ หากข้ามมารักษาที่รพ.ซึ่งเป็นตะแกรงขั้นที่ 2 แล้วถ้าคนที่พาเข้ามาเกิดติดเชื้อจริงนั้น คนที่พามาถือเป็นคนเสี่ยงสูงมากจะต้องถูก ติดตามเช่นกัน โดยในการประชุมคณะ กรรมการช่วงเช้า ที่มีปลัดกระทรวงเป็น ประธานได้เน้นย้ำเรื่องการประสานงานให้มากซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทางมหาดไทย ฝ่ายปกครอง ตอนนี้ประสานขึ้นเรื่อยๆ พยายาม ปิดพรมแดนธรรมชาติ
          สธ.วิตก25ผู้ป่วยต่างชาติในไทย
          นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ภายหลังจากกระทรวง สาธารณสุขได้ปรับเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคทำให้มีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นวันละกว่า 100 ราย ซึ่งยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม เราได้นำประสบการณ์การแพร่ระบาดที่ประเทศเกาหลีใต้ที่พบว่ามีผู้ป่วยหญิง 1 ราย ที่ป่วยแล้วไปแพร่เชื้อที่โบสถ์และสถานที่ต่างๆ มาปรับใช้กับในประเทศไทย ซึ่งยังไม่พบสถานการณ์ ที่คล้ายคลึงกันแต่จะเฝ้าติดตามอย่าง ต่อเนื่อง
          "การเฝ้าระวังตอนนี้ของไทยต้องเฝ้าระวังทั้งคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังคนในประเทศเองเพราะก่อนหน้านี้ที่มีผู้ป่วยต่างชาติ 25 คนนั้น เขามาอยู่ในไทยเดือนกว่าอาจจะมีการแพร่เชื้อในคนไทยด้วยก็ได้ จึงต้องค้นหาให้เจอ"นพ.โสภณ กล่าว
          เตรียม4รพ.ใหญ่รับระบาดในกทม.
          นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในระยะต่อไปที่จะส่งผลสถานการณ์ในประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จะมาจากการปฏิสัมพันธ์ในสังคมจะเกิดโอกาสในประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิมจึงต้องมีการย้ำมาตรการเฝ้าระวังโรคในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ดังนี้ 1.การคัดแยก คัดกรองผู้ป่วยระบบทางเดินหายในออกจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ 2.ปรับเกณฑ์เฝ้าระวังผู้ป่วยให้เร็ว และกว้าง ต้องมีการฝึกซ้อม รพ.ทุกสังกัดเตรียมรับมือสถานการณ์ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด
          "โดยเราได้เตรียมสถานที่บุคลากรและเครื่องมือที่พร้อมปฏิบัติงานภายใน 48 ชั่วโมง หากพบสถานการณ์ระบาดระดับ 3 โดยมาตรการก็อยู่ที่ว่าจะเจอผู้ป่วยมากแค่ไหน เบื้องต้นเตรียม รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ได้เตรียม รพ.ราชวิถี,รพ.นพรัตน์, รพ.เด็ก และสถาบันบำราศนราดูร เพื่อรองรับถ้ามีเคสเพิ่มประมาณ 30-40 คน เช่นที่สถาบันบำราศ ส่วนรพ.สังกัดกทม.อื่นๆ และ โรงเรียนแพทย์จะเตรียมการในระยะต่อไป" รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
          'นกแอร์-นกสกู๊ต'เลิกจ้างนักบินอื้อ
          เว็บไซต์ข่าวสดรายงานข่าวจากวงการนักบินว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้สายการบินหลายแห่งจำเป็นต้องยกเลิก และลดเที่ยวบินไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งสายการบินหลายแห่งเริ่มใช้มาตรการปรับลดจำนวนพนักงาน (Lay off) นักบินและลูกเรือ โดยสายการบินนกแอร์ได้สั่งปลดนักบินแล้วจำนวน 4 คน เมื่อวันที่ 21 ก.พ. อ้างว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สายการบินต้องปรับลดเที่ยวบิน
          สายการบินนกสกู๊ตซึ่งเป็นสายการบิน ร่วมทุนระหว่างนกแอร์กับสายการบินสกู๊ตของประเทศสิงคโปร์ ล่าสุดได้ถอดเครื่องบินออกจากฟลีทแล้ว 2 ลำ มาจากผลกระทบการบินที่ซบเซาจำนวน 1 ลำ และจากปัญหาไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดอีก 1 ลำ ส่งผลให้ต้องปรับลดนักบินและลูกเรือไปด้วย โดย สายการบินนกสกู๊ตประกาศเลิกจ้างนักบินแล้ว รวมทั้งสิ้น 24 คน เป็นนักบินสัญชาติไทย ทั้งหมดและเลิกจ้างลูกเรืออีก 50 คน
          รายงานข่าวจากวงการนักบินแจ้งว่า สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ประกาศใช้มาตรการให้สมัครใจการลาหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน (Leave Without Pay) ในส่วนของนักบินและลูกเรือโดยในส่วนของนักบินเปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 20 คน ขณะนี้ทราบว่า มีนักบินสมัครเข้าร่วมโครงการเต็ม 20 คนแล้ว
          ไวรัสระบาดใกล้8หมื่น-ดับ2.6พัน
          ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ล่าสุด ยอด ผู้ติดเชื้อไวรัสทั้งหมด 79,700 ราย เสียชีวิต 2,626 ราย ในจำนวนนี้อย่างน้อย 11,049 คน มีอาการวิกฤติ ส่วนผู้ได้รับการรักษาจนหายดีแล้วมี 23,500 คน
          สำหรับผู้ติดเชื้อนอกแผ่นดินใหญ่ เกาหลีใต้ 833 คน อิตาลี 215 คน ญี่ปุ่น 146 คน บนเรือไดมอนด์ ปรินเซส 691 คน สิงคโปร์ 89 คน ฮ่องกง 74 คน อิหร่าน 73 คน สหรัฐ 35 คน ไทย 35 คน ไต้หวัน 28 คน ออสเตรเลีย 22 คน มาเลเซีย 22 คน เยอรมนี 16 คน เวียดนาม 16 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 13 คน ฝรั่งเศส 12 คน มาเก๊า 10 คน แคนาดา 9 คน อังกฤษ 9 คน ฟิลิปปินส์ 3 คน อินเดีย 3 คน รัสเซีย 2 คน สเปน 2 คน อิสราเอล 2 คน และเลบานอน เนปาล กัมพูชา เบลเยียม ฟินแลนด์ สวีเดน อียิปต์ ศรีลังกา ประเทศละ 1 คน และประเทศที่ติดเชื้อเพิ่มใหม่ คูเวต 3 คน อิรัก บาห์เรน และอัฟกานิสถาน ประเทศละ 1 ราย
          เกาหลีใต้ผู้ป่วยพุ่งทะลุ800ตาย8
          สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี (เคซีดีซี)รายงานยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในเกาหลีใต้ พบเพิ่มอีก 161 คน ในจำนวนนี้ มี 142 คน เชื่อมโยงกับผู้ป่วยคนที่ 31 ซึ่งมีประวัติไปเข้าร่วมกิจกรรมในโบสถ์ลัทธิชินชอนจิ ในเมืองแทกู อย่างน้อย 4 ครั้ง ทำให้เชื้อแพร่ระบาดใน วงกว้างโดยเจ้าหน้าที่ได้กักบริเวณสมาชิกของโบสถ์นี้กว่า 10,000 คน พร้อมติดตาม ผู้หลบหนีอีกหลายคนด้วย
          สำหรับจำนวนผู้ป่วยสะสมในประเทศเพิ่มเป็นอย่างน้อย 833 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 8 คน ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นแหล่งผู้ติดเชื้อใหญ่ที่สุดนอกจีน โดยผู้เสียชีวิตรายล่าสุด คือ ชายอายุ 62 ปี เป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลแดนัม ในเมืองช็องโด เป็นสถานที่ที่พบผู้เสียชีวิตคนที่ 1 และคนที่ 4 ด้วย ตอนนี้ มีการปิดโรงพยาบาลแห่งนี้ชั่วคราวแล้ว พร้อมทั้งกักบริเวณบุคลากรการแพทย์และผู้ป่วยทุกคนซึ่งรักษาตัวอยู่ที่นี่
          โดยเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมุน แจ อิน ผู้นำเกาหลีใต้ ยกระดับการเตือนภัยด้านสาธารณสุขในประเทศเป็น "สีแดง" เป็นขั้นสูงสุด ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ เมื่อปี 2552 และประกาศให้เมืองแทกูและเมืองชองโด เป็นพื้นที่บริหารจัดการพิเศษด้านสาธารณสุขตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาด้วย
          อิตาลีเสียชีวิตพุ่ง4ติดเชื้อพุ่ง155
          ขณะที่ทางรัฐบาลอิตาลี ยืนยันพบ ผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 2 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 4 ราย โดยผู้เสียชีวิตราย ล่าสุดเป็นหญิงวัย 80 ปี ซึ่งเดิมป่วยด้วยโรคมะเร็ง และต่อมาได้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวานนี้ ส่งผลให้ผู้คิดเชื้อโควิด-19 ในอิตาลี ณ วันอาทิตย์ที่ 23 ก.พ. เพิ่มขึ้นเป็น 155 ราย
          ด้าน นายกรัฐมนตรี จูเซปเป คอนเต ของอิตาลี ประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 รวมถึงการห้ามประชาชนเดินทางเข้าและออกจากพื้นที่ที่กำหนดในตอนเหนือของอิตาลีซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากไวรัสโควิด-19 รวมทั้งระงับการ จัดงานและกิจกรรมสาธารณะ ธุรกิจ กีฬาและโรงเรียนทั้งหมดในพื้นที่
          นายโรแบร์โต สเปเรนซา รัฐมนตรีสาธารณสุข ออกคำสั่งเรื่องการใช้มาตรการกักตัวผู้ที่มีประวัติสัมผัสหรือติดต่อใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีผลบังคับใช้ใน วันเสาร์ โดยระบุว่าการแยกตัวคือวิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาด
          'คูเวต-บาห์เรน-อัฟกาฯ'พบผู้ติดเชื้อ
          สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ว่ากระทรวงสาธารณสุขของคูเวตรายงานเมื่อวันจันทร์ พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ "โควิด-19" จำนวน 3 คน ในประเทศโดยผู้ป่วยทั้งสามคนมีประวัติเดินทางเมื่อไม่นานมานี้ไปยังเมืองมัชฮัด ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ อันดับ 2 ของอิหร่าน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศ แบ่งเป็นชายชาวคูเวต อายุ 53 ปี ชายชาวซาอุดีอาระเบีย อายุ 61 ปี และพลเมืองอาหรับไร้สัญชาติ อายุ 21 ปี
          ด้านกระทรวงสาธารณสุขของบาห์เรน ออกแถลงการณ์เรื่องการพบพลเมืองอย่างน้อยคนหนึ่ง ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และพลเมืองคน ดังกล่าวมีประวัติเดินทางไปยังอิหร่าน "เมื่อไม่นานมานี้" ส่วนประเทศแรกในภูมิภาคตะวันออกกลางที่พบผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
          ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของอัฟกานิสถาน ซึ่งอยู่ในเอเชียใต้ รายงานการพบผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 อย่างน้อย 3 คน ในจังหวัดเฮรัต ทางตะวันตกของประเทศ และได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในพื้นที่แล้ว อนึ่ง จังหวัดเฮรัตมีพรมแดนติดกับอิหร่าน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อย่างน้อย 8 คน จากจำนวนผู้ป่วยสะสมที่พบแล้ว 43 คน


pageview  1204992    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved