HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 15/01/2563 ]
ลดเค็มลดโรค

 รู้หรือไม่? การบริโภคโซเดียมในปริมาณมากเกินกว่า 2,400 มิลลิกรัม หรือมากกว่า 1 ช้อนชาต่อวัน จะทำให้มีการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำ
          ในร่างกาย ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ไตและหัวใจทำงานหนัก และอาจจะส่งผลในระยะยาวทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตแทรกซ้อนตามมา
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่าโซเดียมเป็นส่วนประกอบของเกลือ ซึ่งเกลือ 1 กรัม จะมีโซเดียมประมาณ 400 มิลลิกรัม โดยร่างกายมีความต้องการโซเดียมประมาณ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน เกลือโซเดียม หรือเกลือแกง เป็นตัวหลักของสารที่ให้ความเค็มในเครื่องปรุงรสที่นิยมใช้ คือ น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ เต้าเจี้ยว ฯลฯ และยังใช้ในการถนอมอาหารประเภทหมักดอง เช่น ผักดอง ผลไม้ดอง ไข่เค็ม ปลาร้า ปลาเค็ม เนื้อเค็ม เป็นต้นนอกจากนี้ เกลือโซเดียมยังแฝงมากับอาหารอื่นๆ เช่น ขนมอบกรอบ ผงชูรส หากกินอาหารที่เค็มจัดที่มีเกลือโซเดียม หรือเกลือแกงมากกว่า 6 กรัมต่อวัน หรือมากกว่า 1 ช้อนชาขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งในระยะยาวมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้น มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และไตเสื่อม
          นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า หากร่างกายได้รับเกลือมาก จะมีการคั่งของสารน้ำในร่างกาย ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และความดันในหลอดเลือดฝอยของหน่วยกรองในไตสูงขึ้น ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น
          นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดภาวะบวมน้ำเพิ่มขึ้นด้วย การที่ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่พอเพียงไม่มากไม่น้อยจนเกินไป จะเกิดผลดีต่อระบบควบคุมความดันโลหิต ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน
          วิธีลดปริมาณโซเดียม เช่น หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารรสจัด และอาหารหมักดอง ชิมอาหารทุกครั้งก่อนเติมเครื่องปรุง เลือกบริโภคอาหารสด หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวที่มีเครื่องปรุงรสปริมาณมาก ลดความถี่การบริโภคอาหารที่ต้องมีเครื่องปรุงน้ำจิ้ม และลดปริมาณน้ำจิ้มที่บริโภค ทดลองปรุงอาหารโดยใช้ปริมาณเกลือ น้ำปลา ตลอดจนเครื่องปรุงรสอื่นๆ เพียงครึ่งหนึ่งที่กำหนดไว้ในสูตรปรุงอาหาร
          ควรปลูกฝังนิสัยให้บุตรหลานกินอาหารรสจืด โดยไม่เติมเกลือ ซีอิ๊วขาว น้ำปลา ตลอดจนซอสปรุงรสในอาหารเด็กและทารก และควรบริโภคอาหารที่มีปริมาณโพแทสเซียมสูง เช่น ผักใบเขียว และผลไม้ จะช่วยลดความดันโลหิตได้


pageview  1205005    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved