HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 17/05/2555 ]
พาร์กินสัน

"พาร์กินสัน" เป็นโรคที่คุณก็อาจเป็นได้ และปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า โรค พาร์กินสันประกอบด้วย 4 อาการหลัก ได้แก่ 1.อาการสั่น (Rest Tremor) 2.อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle rigidity) 3.อาการเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) 4.อาการสูญเสียการทรงตัว (Postural instability)
          นอกจากนี้ ยังมีอาการที่อาจพบร่วมด้วย ได้แก่ อาการน้ำลายไหล เขียนตัวหนังสือเล็ก เดินไม่แกว่งแขน เดินซอยเท้า เท้าติด ยกเท้าลำบาก หกล้มบ่อย พูดเสียงเบาๆ อยู่ในลำคอ นอนไม่หลับ เป็นต้น อาการจะเริ่มจากข้างใดข้างหนึ่ง และลามไปอีกข้างหนึ่ง โดยที่อาการสองข้างจะไม่เท่ากัน ข้างที่เริ่มเป็นก่อนจะเป็นมากกว่าข้างที่เป็นทีหลัง ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการสั่น เคลื่อนไหวลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ ไหล่ติด ในรายที่สูงอายุอาจมาด้วยอาการหกล้ม ซึ่งนำไปสู่ภาวะกระดูกหัก ได้ ส่วนอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อน ไหว (non motor symptoms) เช่น ความจำหลงลืม การนอนหลับที่ผิดปกติ ฝันร้าย ประสาทหลอน ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ความดันต่ำ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่อยู่ ความเสื่อมทางเพศ ท้องผูก เป็นอาการที่อาจพบได้
          เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติ และตรวจร่างกายเพื่อการวินิจฉัยแยกโรค อาจต้องตรวจเลือดเพื่อทำสแกนสมองโดยซีที หรือเอ็มอาร์ไอ หาสาเหตุและวินิจฉัยแยกโรค และเริ่มรักษาด้วยยาทดแทนโดปามีนที่ขาดหายไปจากเซลล์สมองเสื่อม
          มีการตรวจด้วยวิธีใหม่ๆ เช่น การทำ F-dopa PET scan  หรือ DAT dopaminergic transportation scan จะสามารถเสริมความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคได้ การรักษาด้วยยายังคงเป็นการรักษาที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในช่วงต้นของอาการ โดยยากลุ่มใหม่ๆ ที่ใช้ในการรักษาจะเป็นยาชนิดออกฤทธิ์ยาว ใช้กินเพียงแค่วันละ 1 ครั้ง ก็สามารถควบคุมอาการได้ 24 ชั่วโมง หรือจะใช้ยาชนิดแผ่นแปะบริเวณผิวหนัง ปัจจุบันยังมีกลุ่มยาใหม่ ซึ่งนอก จากมีฤทธิ์ลดอาการโรคพาร์กินสันได้แล้ว อาจยังสามารถชลอความเสื่อมของโรค พาร์กินสันได้ด้วย
          สำหรับในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อน และยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง ทำให้การปรับยาเป็นไปได้ยากขึ้น มีการรักษาด้วยวิธีใหม่ๆโดยการผ่าตัด ซึ่งมี อยู่ 2 วิธี คือ 1.การผ่าตัดสอดสายเข้าทางหน้าท้องสู่ลำไส้เล็ก และเชื่อมต่อสายหน้าท้องกับยา Duodopa 2.การผ่าตัดสมอง Deep Brain Stimulation


pageview  1205454    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved