HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 05/09/2562 ]
ลมชักในเด็ก

 ปัจจุบันมีเด็กที่ป่วยเป็นโรคลมชักมากขึ้น และเป็นโรคหนึ่งที่สร้างความทุกข์ให้ ผู้ที่เป็นพ่อและแม่อย่างมาก แต่หากได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็หายขาดได้
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า โรคลมชักเป็นโรคระบบประสาทเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ทั่วโลกอุบัติการณ์ในเด็ก 41-187 คนต่อแสนประชากร พบอุบัติการณ์สูงในขวบปีแรก ความชุกของโรคลมชักรวมทุกอายุ 4-10 ต่อ 1,000 ประชากร สำหรับประเทศไทยประมาณการผู้ป่วยโรคลมชัก 500,000 คน เป็นผู้ป่วยเด็ก 1 ใน 3
          โรคนี้เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าที่มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการชักหลายรูปแบบ ซึ่งอาจมีหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม สมองได้รับบาดเจ็บจากการขาดออกซิเจน เลือดออกในสมอง การติดเชื้อที่ระบบประสาท หรือ โครงสร้างเซลล์สมองที่ผิดปกติ เป็นต้น
          เด็กที่มีอาการชักบ่อยอาจมีภาวะทางสติปัญญา พัฒนาการ หรือพฤติกรรมผิดปกติร่วมด้วย การรักษาโรคลมชักที่ถูกต้องเหมาะสม นอกจากทำให้เด็กหยุดชักแล้ว ยังทำให้สติปัญญา พัฒนาการ หรือพฤติกรรมกลับมาดีขึ้นได้ ส่วนใหญ่สามารถเรียนหนังสือ และโตขึ้นใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ
          พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการชักในเด็กมีรูปแบบที่เฉพาะและแตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่น อาการชักผวาเป็นชุดในทารก อาการชักผงกหัวตัวอ่อน อาการชักเหม่อสั้นๆ ในเด็ก เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการชักที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก ไม่รู้ว่าเป็นโรคนี้ จึงไม่ได้พาไปปรึกษาแพทย์ ทำให้รักษาล่าช้า ส่งผลให้พัฒนาการช้า หรือพัฒนาการถดถอย การรักษาเร็วจะช่วยให้มีโอกาสหายและพัฒนาการดีขึ้น นอกจากนี้ เด็กก็อาจมีอาการชักที่เหมือนกับผู้ใหญ่ เช่น ชักเกร็งกระตุกตาค้างที่เรียกว่า ลมบ้าหมู ชักแบบมีพฤติกรรมแปลกๆ เป็นต้น
          ดังนั้นหากสังเกตเห็นบุตรหลานมีอาการชัก หรือสงสัยพฤติกรรมที่ดูแปลกไปกว่าปกติที่เกิดซ้ำๆ ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
          การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเด็กเกิดอาการคือ 1.ผู้ปกครองต้องตั้งสติให้ดี 2.จัดท่าเด็กให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก และถ้าเห็นเศษอาหารให้กวาดออกมาจากปาก 3.ห้ามเอาอุปกรณ์ใดๆ รวมทั้งมือเข้าไปง้างปากผู้ป่วย เพราะอาจทำให้ฟันหักและตกลงไปอุดหลอดลม ขาดอากาศจนเสียชีวิต โดยทั่วไป อาการชักมักจะหยุดได้ภายใน 2-3 นาที ยกเว้นบางรายที่รุนแรงมากเกิน 5 นาที หลังหยุดชักแล้วให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ตามสโลแกนว่า "ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดได้เอง"


pageview  1204951    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved