HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 28/08/2562 ]
เริ่ม1ต.ค.ผู้ป่วยบัตรทองรับยาร้านยา

 ผู้ป่วยบัตรทองรับยาร้านขายยาแทน รพ. เริ่ม 1 ตุลาคมนี้ เปิดทางเลือกให้ประชาชน นำร่อง รพ. 50 แห่ง- 500 ร้านทั่วประเทศ เบื้องต้นเน้น 4 โรค ชงบอร์ดบัตรทองเคาะ 2 ก.ย.นี้ เพิ่มความสะดวกให้ประชาชนประสิทธิภาพในการใช้ยา ลดความแออัดใน รพ. หลังประมาณการพบผู้ป่วยกว่า 19 ล้านคน ครอบครองยาเกินจำเป็น มูลค่าสูญเสียทางการคลัง 2.3 พันล้านบาท
          นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน(ข.ย.1) ตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ว่า การให้ผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองนำใบสั่งยาจากโรงพยาบาลไปรับยาที่ร้านขายยาคุณภาพที่มีเภสัชกรประจำเข้าร่วมโครงการแทนการรอรับยาที่โรงพยาบาล เป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนได้เข้าถึงบริการสะดวกมากขึ้น โดยจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ในโรงพยาบาล 50 แห่งที่ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) ซึ่งมีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมาก และ 500 ร้านยาทั่วประเทศ เบื้องต้นจะดำเนินการใน 4 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดัน โลหิตสูง จิตเวช และหอบหืด ประมาณการว่าจะมีผู้ป่วยเลือกมารับยาที่ร้านยาราว 2 ล้านครั้ง จากที่มีการใช้บริการที่โรงพยาบาล 7 ล้านครั้ง จะมีผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยา 15 คนต่อวันต่อร้าน
          การบริหารจัดการงบประมาณ  ระยะแรกจะใช้งบที่เหลือจากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในปีที่ผ่านมา จำนวน 150 ล้านบาท ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว โดยน่าจะจ่ายเพิ่มเติมให้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นค่าบริหารจัดการยาแห่งละ 30,000 บาทต่อปี และให้ร้านยา 70 บาทต่อผู้ป่วย 1 คน อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการหารือรายละเอียดในหลักเกณฑ์อีกครั้งก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)ในวันที่ 2 กันยายนนี้  ส่วนงบประมาณในปีต่อๆ ไปจะต้องของบเพิ่มเติม ประมาณการว่าจะอยู่ที่ 800 ล้านบาทต่อปี
          "การที่ผู้ป่วยจะมารับยาที่ร้านยา ผู้ป่วยจะต้องเข้าระบบของโรงพยาบาลก่อนในการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ แล้วมีใบสั่งยามาแสดงที่ร้านยา หรือเป็นผู้ป่วยที่แพทย์มั่นใจแล้วว่าสามารถคุมโรคหรืออาการที่เป็นได้ ซึ่งจะมีเกณฑ์ในการพิจารณาหลังจากผู้ป่วยไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลแล้ว ครั้งต่อไปก็อาจจะมารับยาที่ร้านยาได้เลย โดยที่ร้านยามีการเชื่อมต่อข้อมูลออนไลน์กับโรงพยาบาล ซึ่งคนไข้ที่ไปโรงพยาบาล 100 คนจะเป็น กลุ่มโรคเรื้อรัง 60-70% ประเมินว่าในจำนวนนี้จะเลือกมารับยาที่ร้านยาใกล้บ้านราว 30% ก็จะช่วยลดความแอออัดของโรงพยาบาลไปได้ และผู้ป่วยก็มีความสะดวกมากขึ้นในการรับบริการ" นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว
          ด้าน นพ.ธีรพงศ์ ตุนาค ผู้อำนวยการ กองบริการการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่าประชาชนที่เจ็บป่วยโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาลมีการดูแลตนเอง โดยซื้อยาแผนปัจจุบัน ไม่ไปสถานบริการทางการแพทย์ 27.2% หรือราว 3.3 ล้านคน นอกจากนี้พบว่า ผู้ป่วยกว่า 40% มีปัญหาจากการใช้ยาที่บ้านเอง ได้แก่ การใช้ยาไม่ถูกต้องตามแพทย์สั่ง การได้รับยาในขนานที่ต่ำหรือสูงเกินไป หรือมีการบริหารยาฉีด/ยาพ่นด้วยตนเองไม่ถูกต้อง และผู้ป่วยมีการครอบครองยาเกินความจำเป็น จากประมาณการในระดับประเทศ พบว่าผู้ป่วย 19.2 ล้านคน ครอบครองยาเกินจำเป็น โดยคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางการคลัง 2,349 ล้านบาท หรือ 1.7% ของอัตราการบริโภคยาทั้งหมดของประเทศ


pageview  1205007    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved