HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/07/2562 ]
เตือนภัยอันตรายถึงตาบอด ใส่คอนแท็กต์เลนส์ อาบน้ำ

 รายงานทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ นิวอิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม แสดงให้เห็นถึงอันตรายอย่างยิ่งของการใส่คอนแท็กต์เลนส์อาบน้ำ หรือใส่ลงว่ายน้ำ รวมถึงการใช้น้ำประปาทำความสะอาดคอนแท็กต์เลนส์ ด้วยการเปิดเผยถึงกรณีผู้ป่วยรายหนึ่งในสหราชอาณาจักรซึ่งติดนิสัยใส่คอนแท็กต์เลนส์ลงสระและอาบน้ำฝักบัว ลงเอยถึงกับดวงตาพิการไปตลอดชีวิต และนับเป็นตัวอย่างรายที่ 2 แล้วที่เกิดปัญหากับดวงตาถึงขั้นตาบอดเพราะใส่คอนแท็กต์เลนส์อาบน้ำ
          ในกรณีของผู้ป่วยรายล่าสุดที่ปรากฏในรายงานใหม่นี้เป็นสตรีวัย 41 ปี ไปพบจักษุแพทย์หลังจากเกิดอาการตาข้างซ้ายพร่ามัว ปวดตาและไวต่อแสง นานถึง 2 เดือน ผู้ป่วยรายนี้แจ้งกับแพทย์ว่าใส่คอนแทคต์เลนส์ชนิดนิ่มอยู่ตลอดเวลาขณะที่ลงว่ายน้ำในสระและอาบน้ำฝักบัว เมื่อแพทย์ตรวจสภาพการมองเห็นพบว่าดวงตาข้างซ้ายมีความสามารถในการเห็นเพียง 20/200 ซึ่งเป็นระดับเริ่มแรกสุดตามนิยามของคำว่า "ตาบอด" ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ดวงตาข้างขวามีสภาพปกติ
          แพทย์ตรวจดวงตาแล้วพบว่ากระจกตา (คอร์เนีย) ที่มีสภาพเป็นเยื่อบุใสครอบอยู่ด้านนอกลูกตาข้างที่มีปัญหามีสภาพขุ่นมัวอย่างเห็นได้ชัด เมื่อทดสอบต่อไปโดยการใช้สีย้อมเพื่อตรวจหาความเสียหาย ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเมื่อส่องด้วยไฟสีน้ำเงิน พบว่าบริเวณคอร์เนีย ในตาข้างซ้ายของผู้ป่วยเปลี่ยนเป็นสีเขียว
          เมื่อนำตัวอย่างจากเยื่อบุกระจกตาไปทดสอบหาเชื้ออะมีบาชนิด อะแคนธ์อะมีบา เคราทิทิส (Acanthamoeba keratitis) พบว่าผลเป็นบวก แสดงให้เห็นว่าดวงตาข้างดังกล่าวติดเชื้อปรสิตหายากชนิดนี้ในบริเวณคอร์เนีย เชื้ออะมีบาชนิดนี้ในทางการแพทย์รู้กันดีว่าสามารถทำลายการมองเห็นของคนได้และเคยมีผลการศึกษาวิจัยพบว่าเชื่อมโยงกับการใช้คอนแท็กต์เลนส์ จากผลงานการศึกษาวิจัยของ นายแพทย์ ฝู่ หลันซิง จากโรงพยาบาลราชจักษุแมนเชสเตอร์ ในสหราชอาณาจักร
          จากข้อมูลของศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกา อะแคนธ์ อะมีบา เคราทิทิส เป็นอะมีบา (สัตว์เซลล์เดียว) ชนิดหนึ่งที่พบทั่วไปทั้งในน้ำ, ดิน และอากาศ ผู้ใส่คอนแท็กต์เลนส์เป็นประจำจะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อชนิดนี้ถ้าหากแสดงพฤติกรรมบางอย่างเป็นกิจวัตร เช่น ล้างคอนแท็กต์เลนส์ด้วยน้ำก๊อก, ว่ายน้ำหรืออาบน้ำฝักบัวทั้งๆ ที่ยังใส่คอนแท็กต์เลนส์อยู่ เป็นต้น
          ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม มีรายงานข่าวเกี่ยวกับนายนิค ฮัมฟรีย์ส ชาวอังกฤษวัย 29 ปี ที่ติดเชื้ออะมีบาตัวเดียวกันนี้เมื่อเดือนมกราคมปี 2018 แล้วสูญเสียการมองเห็นของดวงตาข้างซ้ายไปโดยสิ้นเชิงในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน
          ในกรณีของผู้ป่วยที่ได้รับการเปิดเผยล่าสุดนี้ ทีมแพทย์ได้รักษาอาการของดวงตาข้างซ้ายด้วยกรรมวิธีของจักษุแพทย์จนอาการติดเชื้อหมดไป แต่การสูญเสียการมองเห็นยังคงอยู่เนื่องจากมีรอยแผลบริเวณกระจกตา และแม้ว่าอีก 1 ปีต่อมา ผู้ป่วยรายนี้จะเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาด้วยกระจกตาบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตแล้วก็ตาม การมองเห็นก็เพียงแค่ดีขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น
          ดวงตาข้างซ้ายยังคงถือว่าพิการแม้ว่าจะไม่มีความเจ็บปวดแล้วก็ตาม


pageview  1205142    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved