HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 08/07/2562 ]
ติดเหล้า บุหรี่ กว่า 3 แสนคน แนะโจ๋ 5 เทคนิคปฏิเสธเนียน ๆ

 ผลวิจัยล่าสุด พบเยาวชนอายุ 13-17 ปี มีปัญหาติดเหล้า-บุหรี่รวมกว่า 3 แสนคน พบในชายมากกว่าหญิง 2-4 เท่าตัว แนะ 5 เทคนิคการปฏิเสธหากถูกเพื่อนชวน
          นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยล่าสุดในปี 2561 ทั่วประเทศมีกลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-20 ปี 8 ล้านกว่าคน ส่วนใหญ่อยู่ ในระบบการศึกษา อย่างไรก็ดีจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมขณะนี้ นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากมีสิ่งยั่วยุมากมาย ทั้งจากการโฆษณา และจากเน็ต ไอดอลต่าง ๆ อาจทำให้วัยรุ่นเสี่ยงมีพฤติกรรมไปในทางที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย ที่สำคัญคือการ ใช้สารเสพติด เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ซึ่ง มีผลเกิดการเสพติด ทำลายความสามารถของสมองโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความจำ เสียการเรียน และมีผลทำให้เกิด โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคจิตเภทได้ และอาจเป็นประตูไปสู่การใช้สารเสพติดอื่น ๆ ตามมา
          แพทย์หญิงสายสุดา สุพรรณทอง จิตแพทย์ประจำ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า ผลการศึกษาของกรมสุขภาพจิตล่าสุดใน ปี 2559 ในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา อายุ 13-17 ปี มีปัญหาติดเหล้าและบุหรี่รวมกว่า 3 แสนคน โดยติดบุหรี่
          (Tobacco depen dence) ร้อยละ 2.4 หรือประมาณ 93,000 คน จากกลุ่มวัยนี้ที่มีจำนวนเกือบ 4 ล้านคน และติดเหล้า (Alcohol dependence)ร้อยละ 6.4 หรือมีประมาณ 240,000 คน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2-4 เท่าตัว จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยติดสุราที่เข้าบำบัดรักษาอาการทางจิตที่ รพ. จิตเวชนครราชสีมาฯ ล่าสุด ปีนี้ พบมีอายุน้อยที่สุดเพียง 20 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถรักษาให้สมองกลับมาเหมือนเดิมได้
          โอกาสพฤติกรรมความเสี่ยงของวัยรุ่นแต่ ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การเลี้ยงดู สภาพครอบครัว พื้นฐานทางอารมณ์ แต่ที่สำคัญที่สุดคือเพื่อน เนื่องจากวัยรุ่นส่วนใหญ่จะผูกพันกับเพื่อนมาก จะเรียนรู้ทักษะทางสังคมรวมถึงการยอมรับค่านิยมต่าง ๆ แนวคิดการปฏิบัติมาจากเพื่อน ซึ่งในช่วงเปิดเทอมใหม่นี้ เป็นโอกาสที่วัยรุ่นจะได้พบทั้งเพื่อนเก่าและ เพื่อนใหม่ในโรงเรียน อาจถูกชักชวนไปในทางที่ไม่เหมาะสมได้ และบางครั้งเพราะเกรงใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่กล้าปฏิเสธเพราะกลัวเพื่อนโกรธ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีความรู้และมีทักษะการปฏิเสธหากถูกเพื่อนชักชวนไปในทางที่ไม่ดี
          สำหรับเทคนิคปฏิเสธเพื่อนให้ได้ผลและไม่เสียเพื่อนด้วยมีข้อแนะนำ 5 ประการดังนี้ 1.ให้ใช้การปฏิเสธอย่างจริงจัง ทั้งท่าทาง คำพูด และน้ำเสียง เพื่อแสดงความตั้งใจอย่างชัดเจน 2.ให้ใช้ความ รู้สึกเป็นข้ออ้างประกอบเหตุผลด้วย เช่น ไม่สบาย, หมอสั่งห้าม  จะทำให้ฝ่ายชักชวนโต้แย้งได้ยากขึ้น 3.ควรบอกปฏิเสธให้ชัดเจนเช่นไปไม่ได้หรอก, ไม่ชอบ, ขอไม่ไปด้วย 4.การขอความเห็นชอบและแสดงอาการขอบคุณ เมื่อผู้ชวนยอมรับการปฏิเสธเพื่อเป็น การรักษาน้ำใจของผู้ชวน เช่น พูดว่าคงไม่ว่านะ, คงเข้าใจนะ และ 5.ให้ออกจากสถานการณ์นั้นโดยกรณีเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล อื่นที่ไม่น่าไว้วางใจหรืออาจเป็นอันตราย เพียง ใช้การปฏิเสธอย่างสุภาพ แล้วออกไปจากสถานการณ์โดยเร็ว
          แพทย์หญิงสายสุดา กล่าวต่อไปว่า หากปฏิเสธแล้วแต่เพื่อนยังพูดเซ้าซี้ ชักชวน หรือ พูดสบประมาท ก็ไม่ควรหวั่นไหวหรือใจอ่อนกับคำพูดเหล่านั้น เพราะจะทำให้ขาดสมาธิได้ ขอให้ยืนกรานการปฏิเสธโดยให้เลือกใช้ 3 เทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่งพร้อมบอกลาแล้วเดินจากไปทันที ดังนี้ 1.ปฏิเสธซ้ำ2.การต่อรองและเบนความสนใจ โดยชวนเพื่อนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน หรือ 3.การผัดผ่อนยืดเวลาออกไปเพื่อให้ผู้ชวนเปลี่ยนความตั้งใจ เช่น เอาไว้วันหลังดีกว่า เป็นต้น เทคนิคเหล่านี้ไม่ได้ใช้เฉพาะ ถูกชักชวนเรื่องสิ่งเสพติดเท่านั้น แต่ยังใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ชวนเล่นการพนัน มีเพศสัมพันธ์ หรือร่วมแก๊งซิ่งรถ เป็นต้น.


pageview  1205127    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved