HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 04/07/2562 ]
สมาร์ทโฟนซินโดรม ออฟฟิศซินโดรม

รศ.พญ.กฤษณา พิรเวช
          หัวหน้าฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
          สมาร์ทโฟนซินโดรม และออฟฟิศซินโดรม ทั้งสองโรคมีอาการคล้ายคลึงกันบางส่วน เนื่องจากปัจจุบันคนนิยมใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น หนุ่มสาว ผู้สูงอายุ เห็นได้ว่าเกือบทุกวัย ทุกวันจะมีการใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ในขณะที่ออฟฟิศซินโดรมจะเกิดกับคนทำงาน
          ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากับเวชศาสตร์ฟื้นฟูจะมีลักษณะอาการปวดที่เกิดจากการใช้ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ที่หมอสังเกตเห็น คือ ส่วนใหญ่จะอยู่ในท่าก้มหรือบางคนก้มมากจนจอแทบติดหน้า การก้มแบบนี้ทำให้กระดูกต้นคอรับแรงกดมากขึ้น ถ้าศีรษะตั้งตรง 0 องศา แรงกดที่ต้นคอประมาณ 4-5 กิโลกรัม (กก.) ถ้าก้มมากขึ้น 10-15 องศา แรงกดที่ต้นคอจะเพิ่ม 4-5 กก. ถ้าก้ม 30 องศา แรงกด 25 กก. ก้มถึง 45 องศา แรงกดอาจถึง 20 กก. ยิ่งโก้งโค้งทั้งคอและบ่า จะพบว่าแรงกดมีมากถึง 30 กก.
          การอยู่ในท่านี้นานๆ ทำให้กระดูกต้นคอทำงานหนัก กล้ามเนื้อที่อยู่รอบต้นคอและบ่าทำต้องงานตลอดเวลา มีอาการเมื่อยล้า ทำให้ไม่สามารถทำงานต่อได้ นอกจากนี้ การใช้สมาร์ทโฟนไม่ใช่แค่ก้มอย่างเดียว ยังใช้มือกด หรือยกขึ้น การที่ต้องยกมือนานๆ เช่น เล่นเกม ดูซีรีส์ หรือแชต เป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน จะทำให้กล้ามเนื้อเอ็น แขน หรือข้อมือปวดได้ รวมทั้งบางรายอาจมีอาการชามือได้ เนื่องจากการกดทับของพังผืดข้อมือ
          เคล็ดลับการใช้สมาร์โฟนอย่างถูกวิธี ไม่ควรก้มมาก ใช้แต่ละครั้งไม่ควรเกิน 1-1.30 ชั่วโมง ขณะใช้อาจใช้ขาตั้งแทน และใช้นิ้วโป้งสลับกับนิ้วชี้จิ้มแป้น หรือควรวางบนโต๊ะแล้วใช้นิ้วอื่นๆ บริหารกล้ามเนื้อโดยการยืดเหยียด เช่น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อรอบต้นคอ คือ การก้มคอไปข้างหน้าสูดลมหายใจ นับ 1-10 เอียง ไปทางด้านซ้ายและขวา นับ 1-10 และแหงนมองไปข้างหลัง นับ 1-10 อย่างช้าๆ ถ้าแถวบ่ามีอาการตึงมาก ใช้มือฝั่งตรงข้ามมายืดกล้ามเนื้อบ่าให้คลายตัว 
          ในส่วนของแขนก็สามารถยืดกล้ามเนื้อแขนได้ โดยที่เหยียดแขนออกไปให้ตรง และใช้มือดันข้อมือ นับ 1-10 และกระดกนิ้วขึ้นเพื่อเป็นการบริหารนิ้ว ส่วนมือก็จะเป็นการงอเหยียดนิ้วมือ กางพับออก จะช่วยให้คลายกล้ามเนื้อที่ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ถ้าออกกำลังกายแล้ว ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ยังมีอาการมากก็ต้องพบแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู อาจจะต้องใช้ยา หรือทำกายภาพ รวมทั้งฝึกการออกกกำลังกายที่ถูกต้อง
          ลักษณะที่ต้องมาพบแพทย์ เช่น เอ็นอักเสบเรื้อรัง มีปัญหาเรื่องนิ้วล็อก หรือมีอาการชาจากคอลงมาที่แขน สันนิษฐานได้ว่ามีเรื่องหมอนรองกระดูกหลังส่วนคอเสื่อมหรือพังผืดกดทับ ทั้งนี้ การฝังเข็ม อาจช่วยลดอาการปวดได้ หรือการนวดแผนไทย ในบางรายที่กล้ามเนื้อตึงก็สามารถช่วยได้ 
          แต่สิ่งสำคัญคือ การป้องกัน และใช้สมาร์ทโฟนให้ถูกวิธี เพราะแม้จะรักษาหายแล้ว หากกลับไปใช้ชีวิตประจำวันแบบเดิมๆ ก็อาจจะต้องกลับไปรักษาอีก


pageview  1204944    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved