HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 10/06/2562 ]
เตือนชิคุนกุนยาระบาดใต้

 ยอดป่วยพุ่ง'3.5พันราย' ยุงลายพาหะแพร่พันธุ์เร็ว 'ไข้เลือดออก'คร่าแล้ว41 ห่วงเด็ก-แนะพ่อแม่สังเกต
          กรมควบคุมโรคแนะรับมือโรค 'ชิคุนกุนยา' ภาคใต้ระบาดหนัก เหตุเข้าฤดูฝน ยุงลายพาหะนำโรคแพร่พันธุ์เร็ว ย้ำเตือนประชาชนเร่งกำจัดลูกน้ำยุงลาย สธ.แนะผู้ปกครองสังเกตอาการเด็กป่วย'ไข้เลือดออก'ต้องดูแลใกล้ชิด
          เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกระบาดในช่วงนี้ว่าตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2562 พบผู้ป่วยแล้ว 26,430 ราย และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 41 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน จึงขอความร่วมมือทุกคนช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและโรงเรียน เพื่อป้องกันบุตรหลานจากโรคไข้เลือดออก และขอให้สังเกตอาการของตนเองและผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ยังไม่สามารถบอกอาการของตนเองได้ชัดเจน หากมีไข้สูงลอย (ไข้สูงต่อเนื่อง) เกิน 2 วัน แนะนำให้ไปโรงพยาบาล ซึ่งอาการไข้เลือดออกมีระดับความรุนแรงต่างกันออกไป ตั้งแต่อาการน้อยไปถึงรุนแรงมาก แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งแพทย์จะตรวจประเมินอาการผู้ป่วย ถ้าพบว่าอาการไม่รุนแรงอยู่ในระยะไข้ ยังรับประทานอาหาร ดื่มน้ำได้ แพทย์จะแนะนำการดูแลที่บ้านให้ญาติทราบ และวิธีสังเกตอาการที่ควรรีบมาพบแพทย์ โดยเฉพาะช่วงไข้ลด หากมีอาการซึมลง รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ อ่อนเพลีย ปวดท้องมาก คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวาย อาจเข้าสู่ระยะช็อก ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงอาการผู้ป่วยไข้เลือดออกว่า หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอย อุณหภูมิ 38.5-40.0 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2-7 วัน อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หน้าแดง ปวดศีรษะ บางรายอาจมีปวดท้อง อาเจียน มีจุดแดงเล็กตามแขน ขา ลำตัว หากมีอาการไข้สูง 2 วันไข้ไม่ลดขอให้รีบไปพบแพทย์ สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่แพทย์ให้กลับมาพักฟื้นที่บ้าน ควรดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่บ่อยๆ เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดา รับประทานอาหารอ่อนและกินยาตามแพทย์สั่ง ห้ามกินยาแอสไพริน หรือไอบูโปรเฟน เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนภายใน 2-3 วันหลังจากไข้ลด หากผู้ป่วยมีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดและอุจจาระเป็นสีดำ หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อลดการเสียชีวิต หากไม่แน่ใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ไข้เลือดออกถือเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย การควบคุมไข้เลือดออกแบ่งเป็นหลายมาตรการ 1.ในช่วงปกติก็จะมีการดำเนินการปราบลูกน้ำยุงลายอย่างสม่ำเสมอ มีคำแนะนำให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ขัดภาชนะน้ำขังทุก 7 วัน ทั้งในโรงเรียน วัด หรือแม้แต่สถานที่ที่ไม่มีเจ้าของ 2.ในช่วงการระบาด มีสูตร 3-3-1 คือ หากพบผู้ป่วย 1 ราย จะต้องมีการวินิจฉัยและรายงานพื้นที่ทั้งโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบล (รพ.สต.) ภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อได้รับรายงานแล้วต้องลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง และลงมือปฏิบัติการให้เสร็จใน 1 วัน และปูพรมคนหาคนเสี่ยงในระยะ 100 เมตร
          "ที่ผ่านมามีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มข้น และในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ จะเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) ก็จะมีการรณรงค์อีกรอบ" นพ.สุวรรณชัยกล่าว และว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า มีประชาชนส่วนหนึ่งที่มีภารกิจไม่ได้อยู่บ้านช่วงกลางวัน จึงมีปัญหาเรื่องการเข้าไปกำจัดลูกน้ำยุงลาย จึงได้ประสานท้องถิ่น บุคลากรสาธารณสุขเข้าไปขออนุญาตดำเนินการในช่วงเย็นแทน สำหรับประชาชนที่ไม่ให้ความร่วมมือ แต่ละท้องถิ่นจะมีอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และบุคลากรสาธารณสุขมีอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 สั่งการให้เจ้าของบ้าน หรือเจ้าของพื้นที่ดำเนินการจัดหาสเปรย์กำจัดลูกน้ำยุงลายมาใช้เอง เพราะเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของทุกคน
          นอกจากนี้ นพ.สุวรรณชัยยังเปิดเผยถึงการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 9-15 มิถุนายนว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-5 มิถุนายน พบผู้ป่วยแล้ว 3,592 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี และกลุ่มอายุ 35-44 ปี โดยภาคใต้เป็นภาคที่พบผู้ป่วยมากที่สุดถึง 3,500 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.4 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม วันที่ 5 มิถุนายน พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 86 ราย และมีแนวโน้มพบมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561
          "การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการเพาะพันธุ์ของยุงลาย ที่นอกจากจะเป็นพาหะโรคไข้ปวดข้อยุงลายแล้ว ยังเป็นพาหะโรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้าอีกด้วย โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ จะมีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก หากประชาชนมีอาการไข้ ผื่น ปวดข้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ภาคใต้ในช่วง 14 วันก่อนป่วย ขอให้ไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
          อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ในทุกพื้นที่ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคคือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันดอกไม้ทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ นอกจากนี้ ขอให้ป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้หากมีอาการข้างต้นขอให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง


pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved