HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 23/05/2562 ]
เตือน มะเร็งหลังโพรงจมูก ภัยเงียบที่ทุกคนควรระวัง

 มะเร็งโพรงจมูกอาจไม่แสดงอาการในระยะแรกๆ เนื่องจากโพรงจมูกมีลักษณะค่อนข้างกว้าง โดยอาการอาจจะปรากฏออกมาเมื่อมะเร็งเจริญเติบโตไปรอบๆ หรือมีขนาดใหญ่จนปิดกั้นโพรงจมูกไปมากแล้ว อาการทั่วไปที่พบบ่อย คือ คัดจมูก น้ำมูกไหลข้างเดียวโดยที่ผู้ป่วยไม่ได้เป็นหวัดหรือภูมิแพ้ และยังมีอาการอื่นๆ ที่มีความแตกต่างกันในคนไข้แต่ละราย ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากบริเวณไหน
          โรคมะเร็งหลังโพรงจมูกเป็นโรคที่พบมากในแถบเอเชียบางประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย สำหรับประเทศไทยพบมะเร็งหลังโพรงจมูกในเพศชายมากกว่าเพศหญิงราว 2 เท่า และมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ข้อมูลจากทะเบียนมะเร็ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2014 พบผู้ป่วยเพศชาย 1,087 คน เพศหญิง 462 คน คิดเป็นอุบัติการณ์การเกิดโรค 2.62 และ 1.0 คนต่อประชากรแสนคนในเพศชายและเพศหญิงตามลำดับ
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งในโพรงจมูกและโพรงอากาศข้างจมูกเกิดความผิดปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าสาเหตุที่แท้จริงของโรคคืออะไร ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัส การรับประทานอาหารที่มีสารไนโตรซามีน และการสัมผัสสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม อาทิ ฝุ่นไม้ บุหรี่ เป็นต้น จึงถือเป็นภัยเงียบที่ควรระวัง แนะเลี่ยงการสูบบุหรี่ สารก่อมะเร็ง สิ่งสำคัญควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอเพื่อรักษาได้ทันเวลา
          นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะเร็งโพรงจมูกอาจไม่แสดงอาการในระยะแรกๆ เนื่องจากโพรงจมูกมีลักษณะค่อนข้างกว้าง โดยอาการอาจจะปรากฏออกมาเมื่อมะเร็งเจริญเติบโตไปรอบๆ หรือมีขนาดใหญ่จนปิดกั้นโพรงจมูกไปมากแล้ว อาการทั่วไปที่พบบ่อย คือ คัดจมูก น้ำมูกไหลข้างเดียวโดยที่ผู้ป่วยไม่ได้เป็นหวัดหรือภูมิแพ้ และยังมีอาการอื่นๆ ที่มีความแตกต่างกันในคนไข้แต่ละราย ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากบริเวณไหน เช่น มีเลือดกำเดาไหล หูอื้อ ชาและปวดบวมบริเวณใบหน้า ปวดหัว และมีก้อนนูนอยู่บริเวณต้นคอใต้ติ่งหู เป็นต้น
          หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ในด้านการวินิจฉัยนั้น ใช้เวลาวินิจฉัยค่อนข้างนานและอาจต้องวินิจฉัยหลายๆ ครั้ง เพื่อหาระยะและระดับความรุนแรงของโรคอย่างถูกต้อง เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยการรักษาหลักมี 3 วิธี ได้แก่ 1.ผ่าตัดในกรณีที่ เนื้องอกอยู่ในระยะแรกๆ ยังไม่มีการกระจายตัวมากนัก 2.การฉายแสง และ 3.การให้ยาเคมี
          สำหรับการป้องกันมะเร็งโพรงจมูกเบื้องต้น ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติแนะนำว่า ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่ การสวมเครื่องป้องกันขณะปฏิบัติงานในโรงงานที่มีสารก่อมะเร็ง และสิ่งสำคัญควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอเพื่อการรักษาที่ทันเวลา เนื่องจากการรักษาโรคในระยะแรกเริ่มจะได้ผลดีกว่าในระยะลุกลาม.


pageview  1205088    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved