HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 05/03/2562 ]
รู้จัก โรคประสาทหูเสื่อม ความเสี่ยง คนทำงาน

 โรคที่เกิดขึ้นได้หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง
          ผู้ที่สัมผัสกับเสียงดังจากสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน มีความเสี่ยงเกิด "โรคประสาทหูเสื่อม"แนะใช้อุปกรณ์ป้องกันและรับการตรวจความสามารถทางการได้ยินอย่างน้อยปีละครั้ง
          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า โรคประสาทหูเสื่อมจากการทำงาน เป็นโรคที่พบบ่อยมากในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับเสียงดัง ได้แก่ งานอุตสาหกรรมโลหะ งานตัดไม้ เลื่อยไม้ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมยางและพลาสติก ขับรถรับจ้าง
          อาจมีผลทำให้สูญเสียการได้ยิน โดยมักมีความผิดปกติของหูทั้ง 2 ข้างมากกว่าข้างเดียว จะได้ยินลำบากมากขึ้นถ้าในบริเวณนั้นมีเสียงดัง จึงควรใส่อุปกรณ์ป้องกัน และตรวจความสามารถทางการได้ยินอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อป้องกันการเกิดโรคหูเสื่อมในอนาคต
          นอกจากปัญหาเรื่องการได้ยินแล้วผู้ที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินมักจะได้ยินเสียงดังในหู เช่น เสียงหึ่งๆ หรือเสียงกระดิ่งโดยอาจจะเป็นพักๆ หรือเป็นตลอดเวลาและอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อต้องสัมผัสกับเสียงดังมากๆ
          การได้ยินเสียงดังผิดปกติในหูจะทำให้รู้สึกรำคาญ ดังนั้น ผู้ป่วยมักจะบ่นนอนไม่ค่อยหลับหรือไม่มีสมาธิทำงาน
          ทั้งนี้ สถานประกอบการควรเฝ้าระวังสุขภาพให้ผู้ปฏิบัติงาน โดยตรวจการได้ยินซักประวัติรวมถึงประวัติการทำงานที่ต้องสัมผัสเสียงดัง การใช้ยา โรคประจำตัว การเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน เนื่องจากลูกจ้างทุกคนที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีระดับเสียงดังมากกว่า 140 เดซิเบล ต้องได้รับการตรวจการได้ยิน
          โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จัดให้มีคลินิกโรคจากการทำงานดูแลสุขภาพผู้ใช้แรงงาน พนักงานออฟฟิศ คนวัยทำงานแบบครบวงจร โดยตรวจวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ให้คำแนะนำเจ้าของสถานประกอบการ ตลอดจนประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ ตรวจร่างกายตามความเสี่ยงรวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพให้สถานประกอบการ


pageview  1205102    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved