HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 05/03/2562 ]
รับมือ เนื้องอกมดลูก ขณะตั้งครรภ์

 การดูแลตนเองตามที่แพทย์แนะนำ และพบแพทย์เพื่อติดตามสุขภาพของทารกและขนาดของเนื้องอกอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด ถือเป็นหัวใจหลักในการรับมือกับภาวะเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกขณะตั้งครรภ์ได้อย่างมั่นใจ
          สารพันความกังวลใจของคุณแม่ หลังพบปัญหาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกขณะตั้งครรภ์ ล้วนเกิดเป็นนานาคำถามที่ต้องการคำตอบว่าควรรับมืออย่างไร ปฏิบัติตัวแบบไหน เพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์สามารถลืมตาดูโลกได้อย่างปลอดภัย
          ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า  ผู้หญิงเกือบ 50% มีเนื้องอกกล้ามเนื้อ (Leiomyoma หรือ Uterine Fibroid) เพียงแต่อาจจะไม่มีอาการ หรือไม่เคยตรวจมาก่อน จึงมักพบเนื้องอกนี้ครั้งแรกเมื่อตรวจอัลตราซาวด์ขณะตั้งครรภ์
          โดยการอัลตราซาวด์ระหว่างตั้งครรภ์ไตรมาสแรก เป็นช่วงที่สามารถเห็นเนื้องอกในทุกตำแหน่งได้ง่ายที่สุด เนื่องจากมดลูกยังมีขนาดเล็ก เมื่อมดลูกและทารกมีขนาดโตขึ้นตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น การอัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูก้อนเนื้องอกก็จะค่อนข้างจำกัด
          พญ.จิตรนพิน ดุลยเกษม สูตินรีแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า อันตราย หรือภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้จากเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งของก้อน ขนาดของก้อน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเสริมอื่นๆ ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกมดลูกในแต่ละราย จึงมีอาการแสดง และภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกัน โดยภาวะที่พบได้บ่อย ได้แก่
          ก้อนโตเร็วขณะตั้งครรภ์และมีอาการปวด เนื่องจากขณะตั้งครรภ์มีฮอร์โมนสูง ทำให้ก้อนมีขนาดโตขึ้นเร็ว และเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงก้อนเนื้องอกไม่เพียงพอ การขาดเลือดทำให้เกิดอาการปวด
          ก้อนกดเบียดถุงการตั้งครรภ์ มักเกิดจากเนื้องอกชนิดที่ยื่นเข้ามาในโพรงมดลูก ซึ่งอาจขัดขวางการฝังตัวของถุงการตั้งครรภ์ในระยะแรก ทำให้แท้งง่าย หรือหากก้อนมีขนาดใหญ่จนโพรงมดลูกบิดเบี้ยวมาก อาจทำให้ทารกในครรภ์มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว เกิดภาวะข้อติดหรือผิดรูปตามมา
          ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ มักพบในกรณีที่รกเกาะอยู่ตรงตำแหน่งของเนื้องอก หรือเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งที่กดเบียดหลอดเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก
          เสี่ยงต่อภาวะคลอดก่อนกำหนด หากขนาดเนื้องอกมดลูกโตขึ้นมากอาจทำให้เกิดเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด
          ก้อนเนื้องอกขวางทางคลอด ในกรณีที่ก้อนอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูก หรือบริเวณปากมดลูก ทารกไม่สามารถลอดผ่านออกมาได้ จึงทำให้เสียโอกาสคลอดธรรมชาติ
          เสี่ยงต่อการมีภาวะตกเลือดหลังคลอด เนื่องจากเนื้องอกขัดขวางการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้เสียเลือดมากจากภาวะมดลูกไม่หดรัดตัว ต้องตัดมดลูกเพื่อรักษาชีวิตคุณแม่ไว้
          สำหรับการดูแลตนเองเมื่อพบเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์นั้น คุณหมอกล่าวว่า นอกเหนือจากการดูแลครรภ์ตามปกติแล้ว คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเนื้องอก หากมีอาการปวดที่ก้อนมากๆ อาจต้องใช้ยาช่วย แต่ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการจัดยาที่ปลอดภัย หรือหากมีอาการมดลูกหดรัดตัวก่อนกำหนด ต้องรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด โดยอาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อยับยั้งการคลอดตามความเหมาะสม นอกจากนี้คุณแม่ต้องมาฝากครรภ์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด เพื่อติดตามสุขภาพของทารก และขนาดของเนื้องอกเป็นระยะ หากก้อนเนื้องอกไม่ได้อยู่ในตำแหน่งขวางช่องทางคลอด คุณแม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้เองตามปกติ โดยต้องเฝ้าระวังภาวะตกเลือดหลัง คลอดและภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวอย่างใกล้ชิด
          อย่างไรก็ดี การดูแลตนเองตามที่แพทย์แนะนำ และพบแพทย์เพื่อติดตามสุขภาพของทารกและขนาดของเนื้องอกอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด ถือเป็นหัวใจหลักในการรับมือกับภาวะเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกขณะตั้งครรภ์ได้อย่างมั่นใจ.


pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved