HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 08/03/2562 ]
ถอดรหัส เครียด-ซึมเศร้า วิกฤตยุคโซเชียลร้อน การเมืองเดือด

 อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล
          ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพแวดล้อมในปัจจุบันมีส่วนทำให้ผู้คนในสังคมรู้สึก
          หงุดหงิด หัวร้อนกันเป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการจราจรบนท้องถนน ที่ทั้งติดขัด ทั้งเสี่ยงกับการที่จะเกิดความขัดแย้งกับคนรอบข้าง รวมไปถึงสภาวะปัญหาภายในครอบครัว และปัญหาที่มาจากสังคมภายนอก เช่น ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
          ประกอบกับการเสพสื่อโซเชียล ที่มีข่าวคราวชวนให้อารมณ์เดือด ออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ
          สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ภาวะเครียด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางด้านสุขภาพกายและจิตตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจจะร้ายแรงจนถึงขั้นนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ 
          นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ให้ข้อมูลว่า การฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ประมาณ 6-6.5 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยช่วงวัยที่พบการฆ่าตัวตายสำเร็จในแง่จำนวน คือ วัยทำงาน แต่ถ้าพูดถึงอัตราการฆ่าตัวตายที่เป็นสัดส่วน พบว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้ กลุ่มผู้สูงอายุถือว่ามีสัดส่วนที่สูงที่สุด จึงเป็นวัยที่ต้องเฝ้าระวังจับตามอง
          "ในกลุ่มที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ พบว่าอันดับแรกเป็นผู้มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสัมพันธภาพในครอบครัว การทะเลาะเบาะแว้งกับคนใกล้ชิด ตามด้วยผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกายต่อเนื่องยาวนาน โดยมากจะพบในวัยสูงอายุ นอกจากนี้ ยังมีโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท หรือโรคทางอารมณ์ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญมาก ดังนั้น ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการฆ่าตัวตาย คือการรักษาความสัมพันธ์ทั้งในครอบครัวหรือกับบุคคลอื่น ด้วยการรับฟังกันและกัน เป็นวิธีการเอาใจใส่กันที่ง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วย" นพ.ณัฐกรกล่าวขณะที่ รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี อาจารย์จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ระบุว่า ขณะนี้ในสังคมมีปัจจัยและแนวโน้มที่ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราการเกิดโรคซึมเศร้าที่มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะประเทศไทย แต่ทั่วโลกก็มีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางครอบครัว ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม ที่ทำให้มีความกดดันในชีวิตมากขึ้น
          รศ.นพ.ศิริไชยยังวิเคราะห์อีกว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมข้างต้นยังมีผลต่อการเลี้ยงดูเด็กที่จะเติบโตขึ้นด้วย เนื่องจากพ่อแม่มีเวลาใกล้ชิดกับลูกน้อยลง ทำให้ความผูกพันน้อยลง ประกอบกับพ่อแม่มีความเครียด คุณภาพในการพัฒนาเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาเป็นคนที่มีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุขจึงน้อย 
          "ทั้งนี้ เด็กที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมที่เริ่มเปลี่ยนแปลง จากเดิมสังคมไทยเป็นสังคมครอบครัวใหญ่ มีความใกล้ชิด แต่ตอนนี้สังคมไทยเป็นไปในทางอุตสาหกรรมเยอะขึ้น มีทั้งส่วนที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดความเครียดและพื้นฐานจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดูเติบโต ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า"
          ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของสื่อโซเชียลที่เข้ามามีบทบาทในสังคม ซึ่งอาจารย์จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นวิเคราะห์ว่า โดยตัวของสื่อโซเชียลเองไม่ได้มีผลทำให้เกิดโรคซึมเศร้า แต่การใช้งานส่งผลได้ 2 ทาง คือผลทางบวก ถ้ามีการใช้สื่อในการเผยแพร่ความรู้ และผลทางลบ ทั้งการเสนอเรื่องของการฆ่าตัวตาย ที่มีส่วนทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้ามีความคิดอยากจะทำตามหรือลงมือทำตามได้ โดยเฉพาะการเผยแพร่วิธีการฆ่าตัวตายที่ลงโดยละเอียดหรือจะเป็นวิธีที่มีการระบุว่าเป็นวิธีที่สบาย เป็นวิธีเสียชีวิตอย่างสงบ หรือเสียชีวิตอย่างไม่ทรมาน ตรงนี้จะเป็นการกระตุ้นความคิดที่จะทำให้ลงมือฆ่าตัวตายได้ง่าย
          "นอกจากนี้ ยังมีการเสนอความคิดเห็น หรือคอมเมนต์ที่รุนแรงแล้วมีการโต้ตอบกันอย่างดุเดือด ซึ่งตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเครียด เนื่องจากการใช้โซเชียลไม่ได้เป็นการสื่อสารแบบเฟซทูเฟซ หรือตัวต่อตัว ที่เราจะเห็นอารมณ์ความรู้สึกของคนที่เราสนทนาด้วย ทำให้เกิดการตอบโต้ที่รุนแรง"
          พร้อมยกตัวอย่างประเด็น "การเมือง" ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กำลังอยู่ในกระแสสังคมขณะนี้
          รศ.นพ.ศิริไชยบอกว่า การที่เรารักและรับข้อมูลต่างๆ มาก มักจะมีผล กระทบต่อจิตใจและอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความโกรธ ดังนั้น จะต้องมีการสอนให้ประชาชนรู้จักประเมินอารมณ์ตัวเอง ถ้าเรารู้สึกว่าตึงเครียดไม่ว่าจากข่าวทั่วไป หรือเรื่องการเมืองที่ยิ่งทำให้เกิดความเครียดง่ายขึ้นเพราะเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของความเห็นที่ไม่ตรงกัน ถ้ารู้สึกว่าไม่มีความสุขแล้วหรืออารมณ์หงุดหงิดง่าย ก็ควรจะลดการเข้าถึงสื่อและการบริโภคสื่อในช่วงระยะนั้นก่อน
          "ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องการเสนอความเห็นทางการเมืองหรือเสพข่าวทางการเมือง ถ้าเรารู้สึกว่ามันเยอะเกินไปและมีผลต่อเราไม่ว่าจะเป็นโกรธหรือผิดหวังก็ต้องลดการบริโภคข้อมูลเหล่านั้น ยิ่งปัจจุบันข้อมูลมันเข้าถึงได้ง่ายและข้อมูลส่วนใหญ่ที่มามักจะเป็นข่าวด้านลบ"
          ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือความตระหนักรู้ถึงสภาวะอารมณ์ของตัวเอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเครียดจากการเมือง หรือปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นและอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
          และในมุมมองของอาจารย์จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ปัญหาโรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องเล็ก
          รศ.นพ.ศิริไชยบอกว่า ปัจจุบันโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ทำให้เกิดความสูญเสียปีสุขภาวะ หมายถึงปีที่คนสูญเสียชีวิตตามปกติสุขจากโรคต่างๆ ตั้งแต่ไม่สามารถไปทำงานตามปกติได้ ไม่สามารถที่จะมีความสุขมีสุขภาพที่ดีตามปกติได้ รวมถึงการฆ่าตัวตายด้วย เป็นการเสียปีที่เขาจะมีชีวิตอย่างมีความสุขไป ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ทำให้เกิดความสูญเสียเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยองค์การอนามัยโลก คาดประมาณว่าปี 2030 หรือประมาณ 10 ปีข้างหน้า โรคซึมเศร้าจะทำให้เกิดความสูญเสียเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 ฉะนั้น เมื่อมีภาวะซึมเศร้าทุกคนต้องประเมินตัวเองให้เป็น
          "โรคซึมเศร้าต่างจากเราผิดหวังหรือสูญเสีย เช่น หากเป็นคนปกติเวลาถูกคนรักทิ้ง หรือผิดหวังเรื่องต่างๆ เราจะมีความรู้สึกเศร้า แต่เวลามีเพื่อนมาพูดคุยมีกิจกรรมอย่างอื่นเรายังสามารถทำอย่างอื่นได้ แต่กรณีเป็นโรคซึมเศร้าจะรู้สึกว่ามีอารมณ์เศร้าไม่อยากทำอะไรอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะพยายามทำกิจกรรมอะไรที่เคยทำแล้วสนุกก็ไม่อยากทำและอาจจะมีอาการอื่นๆ เช่น นอนไม่หลับหรือหลับไปแล้วตื่นขึ้นมาตอนดึกแล้วนอนต่อไม่หลับ มีอาการเบื่ออาหาร มีอาการอ่อนเพลีย สมาธิความจำไม่ค่อยดี และมักจะมีความคิดทางลบ ตั้งแต่คิดเรื่องไม่ดี คิดว่าไปเคยทำผิด อะไรสักอย่างที่ปกติเราอาจจะลืมไปแล้ว แต่การเป็นโรคซึมเศร้าทำให้คิดย้อน คิดว่าเราไม่ดี เราเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆ และอาจคิดไปถึงการทำร้ายตัวเองและไม่อยากมีชีวิตอยู่ โดยมักมีอาการต่อเนื่องจนเกิน 2 สัปดาห์"
          อาจารย์จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ยืนยันด้วยว่า ผู้คนทุกเพศทุกวัยล้วนมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้ทั้งสิ้น
          ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มวัยเด็ก ทั้งเด็กที่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรม เด็กเกเร หรือมีอารมณ์ก้าวร้าว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่ไม่ค่อยมีความสุข มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ ขณะเดียวกัน เด็กที่การเรียนดีถ้าสิ่งแวดล้อม หรือพ่อแม่ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันดีแล้ว เช่น เด็กหลายคนรู้สึกว่าเรียนดีแล้วแต่ยังดีไม่พอ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการ บูลลี่ หรือพฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น ทำให้มีคนจำนวนมากมีอาการซึมเศร้าจากเหตุที่ถูกข่มขู่ ใส่ร้าย กดดันให้มีการแบนเพื่อน กลั่นแกล้งผ่านโลกออนไลน์ เป็นต้น
          กลุ่มผู้ใหญ่ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงไม่แตกต่างกัน เพราะคนที่มีปัญหาความเครียดมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าเยอะขึ้น เช่น อาจจะมีปัญหาด้านการเงิน เป็นต้น แต่คนที่มีรายได้เยอะแต่ยังรู้สึกไม่พอหรือคนที่รวยก็มีความเครียดอย่างอื่นตามมาได้ ดังนั้น ทุกคนจึงมีความเสี่ยงไม่แตกต่างกันมาก
          กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นอีกกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน เพราะผู้สูงอายุเป็นช่วงที่สุขภาพร่างกายและความสามารถในการทำอะไรต่างๆ ถดถอย รายได้อะไรก็จะลดลง จึงเป็นวัยที่มีปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดได้เยอะ มีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากเหมือนกัน และการรักษาจำเป็นต้องพบแพทย์เท่านั้น
          อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการรักษานั้น รศ.นพ.ศิริไชยระบุว่า มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5-10 ที่เป็นโรคซึมเศร้า แต่คนที่มารักษาจริงๆ น้อยกว่านั้นเยอะมาก เรียกได้ว่ายังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากกว่าครึ่งที่ยังไม่ได้รับการรักษา โดยจำนวนหนึ่งยังไม่ได้มารักษาเพราะยังเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชน้อย บางครั้งเหมารวมว่าคนที่เป็นโรคทางจิตเวชศาสตร์เป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง หรือจะไปทำร้ายและเป็นอันตรายต่อผู้อื่น ทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ไม่กล้ามารับการรักษา เพราะกลัวคนอื่นรู้ว่าเข้ารักษาอาการทางจิตเวช ประกอบกับเรามีจิตแพทย์ไม่พอ ทั่วประเทศที่ทำงานจริงๆ มีอยู่ประมาณ 600 กว่าคนเท่านั้น เนื่องจากจิตแพทย์เป็นสาขาที่ขาดอยู่
          "ฉะนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการให้เด็กโตมาในบรรยากาศที่ทำให้การพัฒนาการทางด้านจิตใจสมบูรณ์ ด้วยการให้เวลา ให้ความรักและความใกล้ชิดกับพ่อแม่ ซึ่งปัจจุบันพ่อแม่จะห่างเหินกับลูกไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุทางเศรษฐกิจและสังคมการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่ทำให้ความใกล้ชิดและความผูกพันระหว่างพ่อกับแม่และลูกห่างกันไปอีก เช่น พ่อแม่อยู่กับหน้าจอเยอะ เวลาที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับลูกก็ลดลง หรือแม้แต่เด็กก็เหมือนกัน
          "ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องให้พ่อแม่รู้จักวิธีที่ให้ลูกเติบโตเป็นคนมีสุขภาพจิตที่ดีตั้งแต่การเลี้ยงดู ตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ" รศ.นพ.ศิริไชยทิ้งท้าย


pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved