HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 27/02/2562 ]
รู้จัก โรคจุดภาพชัดเสื่อม อีกหนึ่งในโรคสายตา

นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคจุดภาพชัดเสื่อม คือภาวะที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น พบได้มากในผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป
          สาเหตุจากจุดรับภาพตรงกลางของจอตาเสื่อม ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุขึ้นกับความรุนแรงของโรค
          อาการได้แก่ มองในที่สว่างไม่ชัด หรือแพ้แสง ปรับสายตาจากการมองเห็นในที่มืดมาที่สว่างไม่ค่อยได้ ตามัวมีจุดดำหรือเงาบังอยู่ตรงกลางภาพ เห็นสีผิดเพี้ยน
          แนะให้สังเกตความผิดปกติด้วยตัวเองซึ่งจำเป็นมาก โดยใช้แผ่นทดสอบจอตาส่วนกลางด้วยตารางตรวจจุดภาพชัดเช็คอาการจุดภาพชัดเสื่อม ถ้ามองเห็นภาพผิดปกติไป จะต้องพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการตรวจจอตาทันที
          พญ.สายจินต์ อิสีประดิฐ ผอ.โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เผยว่า โรคจุดภาพชัดเสื่อม เกิดจากความเสื่อมในส่วนกลางจอประสาทตา เกิดได้เมื่ออายุมากขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญทำให้สูญเสียความสามารถการมองเห็นในผู้สูงอายุ มักพบในผู้มีอายุมากกว่า 50 ปี อาจพบได้ในผู้มีอายุน้อยมักพบในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
          โรคจุดภาพชัดเสื่อม แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.โรคจุดภาพชัดเสื่อม แบบแห้ง พบได้ร้อยละ 90 เกิดจากเซลล์รับแสงในจุดรับภาพเริ่มเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ ตามวัยที่เพิ่มขึ้นเซลล์ รับแสงในจุดรับภาพมีน้อยลง การมองเห็นบริเวณกลางภาพแย่ลง ทำให้ต้องใช้แสงสว่างมากกว่าปกติ เมื่อต้องอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมระยะใกล้
          2.โรคจุดภาพชัดเสื่อม แบบเปียก เกิดจากมีเส้นเลือดงอกผิดปกติใต้จอตาทำให้สูญเสียการมองเห็นที่รุนแรง ภาวะโรคจุดภาพชัดเสื่อมแบบเปียก จะมีน้ำหรือเลือดรั่วออกมาจากเส้นเลือดที่งอกผิดปกติได้
          ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุที่มากขึ้น เผชิญแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลต โรคหัวใจความดันสูง คอเลสเตอรอลในหลอดเลือดสูงสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และพันธุกรรม สามารถทดสอบด้วยตนเองได้จากตารางแอมสเลอร์กริด มีทั้งเส้นแนวตั้งและแนวนอนโดยมีจุดตรงกลาง ถ้าเห็นบางเส้นไม่ชัดหรือเส้นจางหายไป ควรรีบพบจักษุแพทย์ทันที
          การรักษาอาจรักษาด้วยยา เลเซอร์หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน ในปัจจุบันเป็นเพียงชะลอการสูญเสียสายตา แต่สามารถป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้ โดยลดปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้โดยรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่บำรุงสายตา ได้แก่ ผักผลไม้สีเหลืองส้ม อาทิแครอต ฟักทอง ผักใบเขียว เช่น คะน้า ปวยเล้งฯลฯ คุมน้ำหนัก สวมแว่นกันแดด งดสูบบุหรี่
          จอตาเสื่อมจะไม่สามารถป้องกันหรือรักษาได้ แต่หากได้รับการวินิจฉัยการรักษาทันท่วงที จะช่วยชะลอความรุนแรงของโรค และลดโอกาสสูญเสียการมองเห็น


pageview  1204848    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved