HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 21/02/2562 ]
อุทยานฯห้ามไม้ขีด-ไฟแช็กป้องกันไฟป่าลดฝุ่นมลพิษ

4 จังหวัดเหนืออีสาน ค่าฝุ่นยังเกินมาตรฐาน อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ตั้งโต๊ะให้ชาวบ้านเซ็นชื่อก่อนเข้าป่า พร้อมยึดไฟแช็ก-ไม้ขีด ป้องกันการเผาป่า ขณะที่ทัพภาค 3 ใช้ ฮ.ลุยดับไฟป่า 29 จุดในลำพูน ขณะที่พ่อเมืองกาฬสินธุ์ ออกสาธิตการใช้เครื่องจักรตัด-ตีใบอ้อย ลดการเผา พร้อมรณรงค์เลิกเผาอ้อย ตั้งเป้า 2 ปี ตัวเลขเป็นศูนย์ ส่วนเมืองกรุง-ปริมณฑล อากาศดีขึ้นหลายหน่วย ยังลุยจับรถควันดำได้ไม่มีหมด ขณะที่ กรมอนามัย เผยผลสำรวจพบคนไทยรู้ปัญหา แต่สวมหน้ากากป้องกันน้อย ต้องรณรงค์ต่อเนื่อง ทปอ.ออกโรงจี้ทุกมหา'ลัยช่วยแก้ปัญหา
          เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 19 ก.พ. กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ลดลงจากวันที่ 18 ก.พ. ทุกพื้นที่ มีค่าฝุ่นละออง 7-29 มคก./ลบ.ม. ยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีถึงดีมาก ทั้งนี้คาดการณ์จากแบบจำลองการคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ว่าในวันที่ 20 ก.พ. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่จากการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นละอองของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง จะช่วยให้ปริมาณฝุ่นละอองลดลงได้
          ขณะที่สถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือ คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับดี ถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 26-56 มคก./ลบ.ม.  โดย ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 53 มคก./ลบ.ม. ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน 56 มคก./ลบ.ม. ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา 54 มคก./ลบ.ม. ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 51 มคก./ลบ.ม.
          สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น คพ.ได้ร่วมกับ บก.จร. สำนักงานเขตดุสิต และเขตทวีวัฒนา ออกตรวจสอบรถที่วิ่งสัญจรบนถนนพระราม 5 เขตดุสิต ถนนพระราม 9 เขตสวนหลวง และถนนพุทธมณฑลสาย 2 กับ ถนนบรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา เรียกรถตรวจสอบ 213 คัน พบควันดำ 62 คัน จึงออกคำสั่งห้ามใช้ชั่วคราวเป็นเวลา 30 วัน ส่วนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตรวจสอบรถ 1,066 คัน จับกุมรถควันดำได้ 28 คัน แบ่งเป็นรถบรรทุก 25 คัน รถโดยสาร 3 คัน จึงสั่งพ่น "ห้ามใช้" ลงบนรถทุกคัน และลงโทษปรับ 5,000 บาท พร้อมออกหนังสือเตือนให้ปรับปรุง
          ส่วนในจังหวัดอื่นที่ค่าฝุ่นยังเกินมาตรฐานนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานจากอุทยานแห่งชาติศรีลานนา อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ว่า เจ้าหน้า ที่อุทยานฯ พร้อมชุดกำนันผู้ใหญ่บ้าน ได้ตั้งโต๊ะให้ชาวบ้านห้วยทราย หมู่ 8 ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว ที่จะเข้าไปในป่าเซ็นชื่อทุกคน ทั้งนี้หากตรวจสัมภาระพบไฟแช็ก หรือไม้ขีดไฟ จะขอเก็บไว้แล้วคืนให้เมื่อกลับออกมา เมื่อกลับออกมาจากไร่หรือป่าค่อยมาเอาคืน เพื่อลดการเกิดปัญหาไฟป่าในพื้นที่ ซึ่งทำมาเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับชาวบ้านทำแนวกันไฟ พร้อมออกลาดตระเวนช่วยกันดับไฟป่าที่เกิดขึ้นจากการเผาหาของป่า และที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
          ด้านกองบังคับการเฉพาะกิจควบคุมสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ภายในค่ายกาวิละ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้รับรายงานว่า พื้นที่ จ.ลำพูน เกิดเพลิงไหม้ รวม 29 จุด ใน 3 พื้นที่ คือ ดอยขะม้อ อ.เมือง ดอยพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง และดอยป่าปลู อ.บ้านโฮ่ง ทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้ทั้งเฮลิคอปเตอร์ เข้าร่วมดับไฟป่า สำหรับการขึ้นทำฝนหลวงนั้น สภาพอากาศความชื้นยังไม่เหมาะสม
          ที่ จ.กาฬสินธุ์ นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ และผู้นำท้องถิ่นร่วมกันจัดกิจกรรมสาธิตการใช้เครื่องจักรกลตัดอ้อยและตีใบอ้อย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อยลดปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง PM2.5 หลังพบว่า ส่วนใหญ่ 60% ใช้แรงงานคนในการตัด จึงทำให้มีการเผาอ้อย เพื่อความสะดวกของแรงงานในการเข้าไปตัด พร้อมทั้งจะบูรณา การกับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และ เกษตรกรชาวไร่อ้อย เร่งรณรงค์ให้พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ปราศจากการเผาอ้อย ให้ตัวเลขเป็นศูนย์ ภายในระยะเวลา 2 ปี
          วันเดียวกัน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ ฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นในอากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ เน้นการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาพื้นที่เกษตรกรรมให้กำหนดช่วงเวลา จัดระเบียบการเผา และประกาศเขตห้ามเผา ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อป้องกันสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน
          ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวภายหลังร่วมหารือกับสมาคมที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมไทย ว่าได้ข้อสรุป 4 ข้อ ที่จะให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาเป็นส่วนหนึ่งในแก้ปัญหาคือ 1.การให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ จัดระบบการแจ้งเตือนมลพิษในเมือง ระบุจุดเสี่ยงฝุ่น แจ้งพื้นที่เสี่ยงปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน 2.มหาวิทยาลัยอาจจะจัดตั้งศูนย์ตรวจควันดำ และให้คำแนะนำแก้ไขรถสาธารณะเครื่องยนต์ดีเซลเก่าที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ 3. นโยบายแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จะแจ้งข้อมูลต้นเหตุปัญหาให้ประชาชนรับรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม พร้อมออกมาตรการที่เข้มงวดกับการก่อสร้าง  ยานพาหนะ สนับสนุนการใช้ขนส่งมวลชนระบบราง และรถยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรการจูงใจทางภาษี สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมเมืองเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา และ 4. ทปอ.จะร่วมมือกับสมาคมที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมไทยช่วยแก้ปัญหานี้ต่อไป
          ขณะที่ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากผลสำรวจประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ร้อยละ 95.2 มีการรับรู้ฝุ่น PM2.5 แต่มีเพียง ร้อยละ 45.3 ที่สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองแบบเฉพาะ จึงจำเป็นต้องรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พบว่า ร้อยละ 41.2 แนะนำหรือบอกต่อข้อมูลให้คนใกล้ชิด คนรู้จัก ดูแลป้องกันสุขภาพ รวมถึงคอยสังเกตอาการของตนเองและคนใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติ ขณะที่ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 53.6 ดูแลตนเองได้ด้วยการเตรียมยาประจำตัว และนำอุปกรณ์จำเป็นติดตัวไปด้วย พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้ มากกว่าร้อยละ 91.9 เห็นว่า ภาครัฐสื่อสารให้ประชาชนมีความเข้าใจจนดูแลป้องกันตนเองได้ทันเหตุการณ์ และต้องช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยเกือบร้อยละ 50 ยินดีให้ความร่วมมือช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อลดผลกระทบ และลดการใช้รถยนต์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม


pageview  1205066    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved