HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 22/02/2562 ]
คำเตือนน้องหนู เรื่องความงาม จาก สคบ.

สคบ.หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ดูแลสอดส่อง กิจการ สินค้า บริการ และอื่นๆ ให้กับผู้บริโภค คือเราๆ ท่านๆ และน้องหนูทั้งหลาย เช่นเทศกาลสงกรานต์ สคบ.จะดูแลสอดส่องผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องฉีดน้ำ เช่น ปืนฉีดน้ำให้อยู่ในวิสัยของเล่นที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งอาจมีกำลังฉีดน้ำเร็ว แรง กระทั่งอาจทำให้ตาบอด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย บาดเจ็บได้
          สคบ.มีวารสารออกเป็นประจำ ฉบับสุดท้ายที่ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ได้รับ เป็นวารสาร สคบ. ปีที่ 2 ฉบับที่ 12 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อไม่นานมานี้
          เรื่องขึ้นปกคือ สคบ.ออกมาตรการเพื่อควบคุมธุรกิจเสริมความงาม ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษคือ Beauty Courses ในคอลัมน์ รอบรู้ผู้บริโภค ปัญหาเรื่องร้องเรียนที่สำนักงานได้รับเป็นลำดับต้นๆ คือประเด็นปัญหาธุรกิจเสริมความงาม ที่พบเกี่ยวกับการให้บริการไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้
          เช่น การลดน้ำหนัก หรือลดสัดส่วน การทำผิวดูขาวเรียบเนียน โดยผู้บริโภคต้องเสียค่าบริการเสริมความงาม ด้วยการดูจากโฆษณาตามสื่อ ทั้งอินเตอร์เน็ต โบรชัวร์ ซึ่งมักใช้นักแสดงที่กำลังเป็นที่นิยมมาเป็น "พรีเซ็นเตอร์" เพื่อเรียกร้องความมั่นใจในการตัดสินใจ
          แต่เมื่อใช้บริการ ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ทั้งยังได้รับความเสียหาย บาดเจ็บจากจมูกที่เสริม หรือขนาดอกที่เพิ่มขึ้นด้วยวัสดุไม่มีคุณภาพ ดูดไขมัน การฉีดโบท็อกซ์แบบไม่มีคุณภาพ
          บางครั้งคลินิกรักษาหรือแก้ไขได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม หรือไม่ตกลงแก้ไขให้ได้
          สาเหตุเหล่านี้จึงทำให้ผู้บริโภคร้องเรียนมายัง สคบ.จำนวนมาก
          กรณีนี้ สคบ.จึงร่วมมือกับแพทยสภา กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ออกมาตรการเพื่อควบคุมธุรกิจเสริมความงาม ดังนี้
          1.ผู้ประกอบการต้องมีใบอนุญาตประกอบการในสถานเสริมความงามจากกระทรวงสาธารณสุข
          2.ต้องมีแพทย์เฉพาะทางทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและรักษาผู้ใช้บริการ โดยการติดประกาศรายชื่อแพทย์ผู้ทำการรักษาในแต่ละวันไว้ที่สถานประกอบการอย่างชัดเจน
          3.เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการต้องดำเนินการเยียวยาแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำ
          4.กำหนดราคาค่าบริการโดยใช้มาตรฐานราคากลางเป็นหลัก ซึ่งแพทยสภาได้กำหนดมาตรฐานค่าบริการไว้
          5.ใช้คำโฆษณาที่เป็นจริง6.กรณีผู้ใช้บริการอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง
          หากผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากบริการเสริมความงาม และไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา ให้ร้องเรียน สคบ.ได้ที่ www.ocpb.go.th ด้วยการรวบรวมเอกสารหลักฐาน ใบเสร็จ เอกสารโฆษณานำมาประกอบการร้องเรียน หรือปรึกษาได้ที่ 1166
          อีกเรื่องหนึ่งสำหรับน้องหนูหญิงชายโดยเฉพาะ คือเรื่อง "ลวดดัดฟันแฟชั่น" สินค้าอันตรายห้ามขาย ผิดกฎหมาย น้องหนูคงรู้จักลวดดัดฟันแฟชั่นที่ใส่ลูกปัดสี หรือพลาสติก ที่ชอบนำมาใส่เลียนแบบการดัดฟัน
          จากการตรวจสอบพบว่า สินค้าชนิดนี้มีสารปนเปื้อน เป็นโลหะหนักหลายชนิด เช่นตะกั่ว โครเมียม สารหนู สารปรอท ฯลฯ รวมทั้งใช้วัสดุไม่มีมาตรฐาน ไม่มีอุปกรณ์ยึดเกาะที่แข็งแรงพอ อาจหลุดลงคอเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ น้องหนูจึงไม่ควรเห็นแก่ความสวยงามหรือเก๋ เท่ อย่างเดียว พึงควรระวังอันตรายด้วย
          ผู้ขายมีโทษ คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้นำเข้า ต้องระวางโทษไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ที่น้องหนูพึงระวังคืออันตรายทั้งการเสริมความงามบนใบหน้า อก และฟัน งามอย่างธรรมชาติดีที่สุด


pageview  1205101    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved