HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 18/12/2561 ]
ห่วง3โรคใหม่-อุบัติซ้ำ นิปาห์-อีโบลา-ไข้หวัด

ไทยเสี่ยงแต่ยังไม่พบเชื้อค้นพบไวรัสรักษาพิษสุนัขทดลองฉีดหมาผลน่าพอใจ
          วงเสวนาจุฬาฯร่วมกับ'สวทช.'หัวข้อโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ 'หมอธีระวัฒน์'ชี้ 3 โรคน่ากลัว'ไวรัส นิปาห์-อีโบลา-ไข้หวัดใหญ่'
          เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่ห้องดุสิตธานี ฮอลล์ โรงแรมดุสิตธานี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานเสวนาวิชาการ หัวข้อตอบโจทย์สังคมโรคอุบัติใหม่/อุบัติซ้ำ เรื่อง "Desease X(โรคอะไรหว่า?) ลึกลับ อำพราง โรคติดเชื้อ"
          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย ศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยที่มาด้วยอาการโรคติดเชื้อโดยที่ทราบสาเหตุเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นบางพื้นที่ทราบสาเหตุแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น การรักษาที่ผ่านมาจะดูที่ความเป็นไปได้ในลักษณะของเชื้อที่พบบ่อยที่นั่น ณ เวลานั้น ฉะนั้นครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกของการ บูรณาการการทำงานร่วมกันของทั้งแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าระบบนิเวศวิทยา ทั้งจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และรวมถึงกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม ได้ร่วมมือกันศึกษาปัญหาของโรคติดเชื้อในมนุษย์ และสืบค้นต้นต่อถึงเชื้อที่ซ่อนในสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว ยุง เห็บ ไร ริ้น และแมลงต่างๆ
          ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ในส่วนของโรคอุบัติใหม่ขณะนี้ที่เรากลัวมากคือ 1.ไวรัสนิปาห์ ซึ่งเป็นไวรัสที่ระบาดในประเทศอินเดีย บังกลาเทศ และมาเลเซีย ทุกปีมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน เราพบว่าประเทศไทยก็มีไวรัสนิปาห์จริงและเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมแล้วพบว่ามีความคล้ายกับไวรัสนิปาห์ที่ระบาดในประเทศบังกลาเทศ 99 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้สมองอักเสบที่ทำให้ปอดบวมด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการตรวจเชื้อนี้ในประเทศไทยตลอดโชคดีที่ยังไม่พบการระบาดของเชื้อนี้ 2.อีโบลาซึ่งขณะนี้กำลังเข้ามาเรื่อยๆ จากแอฟริกา 3.ไข้หวัดใหญ่ แม้ว่าทางกระทรวงเกษตรฯพยายามยืนยันว่าไม่มีไข้หวัดนก แต่เราจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวัง และสิ่งที่น่ากลัวคือโรคที่ไม่รู้จักชื่อ ซึ่งในคณะวิจัยของเราพยายามพัฒนาการตรวจ แม้จะไม่รู้จักชื่อก็สามารถตรวจจับได้ ซึ่งนวัตกรรมนี้เรานำไปใช้ตรวจทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงว่าเด็กจะติดเชื้อหรือไม่ และเมื่อออกมาแล้วจะพาเชื้อออกมาสู่จังหวัดหรือไม่ เป็นผลงานที่เราพัฒนาขึ้นมาอย่างใกล้ชิดกับกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข และท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
          สำหรับในส่วนของเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งที่ผ่านมาเป็นโรคที่รักษาไม่หาย นั้น ศ.นพ. ธีระวัฒน์ บอกว่าปัจจุบันประสบความสำเร็จในการค้นพบไวรัสพิษสุนัขบ้าแล้ว เราสามารถรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขได้สำเร็จ 3 ใน 4 ตัว สามารถรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในหนูได้ พบว่าสามารถช่วยชีวิตหนูได้ 10 เปอร์เซ็นต์ และในอีกการทดลองช่วยชีวิตหนูได้ 40 เปอร์เซ็นต์ และอีกวิธีการโดยใช้ไวรัสตัดต่อพันธุกรรมฉีดเข้าไปในสุนัขและสามารถช่วยชีวิตสุนัขได้สามในสี่ตัว
          "การค้นพบไวรัสพิษสุนัขบ้าครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลยเรื่องการฉีดวัคซีน หันมาด้านการรักษา แต่เราใช้ไวรัสพิษสุนัขบ้าเป็นต้นแบบในการดูว่ามีเครื่องมืออะไรในการรักษาไวรัสที่เราเรียกว่า ไวรัส RNA ซึ่งไม่ได้มีแต่โรคพิษสุนัขบ้า แต่ยังมีทั้งได้อีโบลา ไข้หวัดใหญ่ต่างๆ ที่สามารถควบรวมเป็นแม่แบบได้" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว


pageview  1204998    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved