HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 29/11/2561 ]
ตายปีละเฉียด 4 หมื่น เช็กพฤติกรรมเสี่ยง เชื้อดื้อยา ความตายใกล้ตัว

 "ประเทศไทยมีการใช้ยาปฏิชีวนะมูลค่าปีละ 10,000 ล้านบาท และมีคนไทยติดเชื้อดื้อยามากกว่าปีละ 100,000 ราย เสียชีวิตมากกว่าปีละ 38,000 ราย" ข้อมูลตัวเลขจากสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมความน่าเป็นห่วงของคนไทยในการกินยาที่เสี่ยงต่อเชื้อดื้อยาจนเกิดการสูญเสียตามมา พบกลุ่ม "เกษตรกร" มีความเสี่ยงสูงสุด
          ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นอันตรายใกล้ตัวที่หลายคนขาดความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะความเชื่อผิดๆ ที่ว่าเป็นหวัด เจ็บคอ ต้องกินยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรียถึงจะหาย
          "หวัดมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากเชื้อไวรัส การกินยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรีย นอกจากไม่ช่วยให้หายเร็วขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในร่างกาย หากวันหนึ่งข้างหน้าเกิดป่วยหนักจากการติดเชื้อในอวัยวะที่สำคัญจะทำให้ยาใช้ไม่ได้ผล ส่งผลให้เสียชีวิตได้ อย่างที่มักจะได้ยินข่าวการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดอยู่บ่อยๆ" ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ให้ความรู้ความเข้าใจในกิจกรรมสัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 6
          เมื่อลงลึกถึงพฤติกรรมเสี่ยงเชื้อดื้อยา "รศ.ภญ.ดร.ธิติมา เพ็งสุภาพ" อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าทางศูนย์เฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) มีการจัดทำแบบสอบถาม 5 พฤติกรรมที่ส่งผลต่อการเกิดเชื้อดื้อยา โดยเลือกเฉพาะพฤติกรรมที่มีผู้ตอบว่าเคยปฏิบัติเป็นจำนวนมากจาก 10 พฤติกรรมที่ส่งผลต่อการเกิดเชื้อดื้อยาที่เคยสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2560 คือ
          1. ซื้อยาต้านแบคทีเรียมากินเอง (ในความเข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบ) 2. ซื้อยาต้านแบคทีเรียมากินตามคนอื่น 3. ซื้อยาต้านแบคทีเรียมากินเองตามที่เคยได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งก่อนๆ 4. หยุดรับประทานยาต้านแบคทีเรียเมื่ออาการดีขึ้น โดยไม่รับประทานติดต่อกันจนยาหมด และ 5. แกะแคปซูลเอาผงยาต้านแบคทีเรียไปโรยแผล
          จากการสำรวจโดยใช้ระบบออนไลน์ ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 เก็บตัวอย่างข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,855 คน โดยสอบถามภายในช่วงปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมาเคยมีพฤติกรรมใดบ้างจาก 5 พฤติกรรมข้างต้น ปรากฏว่า ข้อ 4 หยุดรับประทานยาต้านแบคทีเรียเมื่ออาการดีขึ้น โดยไม่รับประทานติดต่อกันจนยาหมดพบมากสุดถึง 779 คน ส่วนกลุ่มอาชีพที่เสี่ยงสูงสุดคือ "เกษตรกร" ร้อยละ 76.5 ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์แม้จะมีความเสี่ยง น้อยสุด คือร้อยละ 52.1 ก็ยังนับว่าสูง (มีเพียง 1 ใน 5 พฤติกรรมก็ถือว่าเสี่ยงแล้ว)
          ทั้งนี้ ผลสำรวจในกลุ่มประชาชนที่สำรวจปี พ.ศ. 2561 พบว่า มีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการทำให้เกิดเชื้อดื้อยาน้อยลงกว่าปี พ.ศ.2560 สอดรับกับที่ผ่านมา สสส. กพย. กระทรวงสาธารณสุข และหลายหน่วยงาน ได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งลดการใช้ยาต้านแบคทีเรียใน 3 อาการ คือ ไข้หวัด ท้องเสีย และแผลสด แต่ก็ยังพบว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และยังคงมีพฤติกรรมใช้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็นอยู่มาก
          เห็นได้พฤติกรรมการใช้ "ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย" ของประชาชน โดยเฉพาะในชุมชนที่พบว่า หาซื้อได้ง่ายๆ ตามร้านขายของชำทั่วไป ส่วนใหญ่นำไปใช้รักษาโรค หรืออาการต่างๆ เช่น ไข้หวัด เจ็บคอ แผลฝีหนอง เจ็บมดลูก ปวดฟัน กล้ามเนื้ออักเสบ ท้องเสีย โดยไม่รู้ว่ายาที่ใช้มีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะ หรือยา ต้านแบคทีเรีย และถูกจัดเป็นยาอันตราย เช่น เพนนิซิลลินห้าแสน ทีซีมัยซิน ออริโอมัยซิน กาโน สามธง ไดเซนโต เป็นต้น
          "ก่อนตัดสินใจใช้ยาปฏิชีวนะควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ถ้าเป็นโรคหวัด ท้องเสีย และแผลสดจากอุบัติเหตุหรือแผลเลือดออก ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเราสังเกตได้จากอาการเบื้องต้น คือ อาการแบบไหนที่เกิดจากเชื้อไวรัส พักผ่อนก็หายแล้ว กลั้วคอด้วยน้ำเกลือก็ดีแล้ว เช่น ถ้ามีอาการเจ็บคอ ส่องดูเบื้องต้นแล้วมีตุ่มหนองอยู่ในคอหรือไม่ หรือกดแล้วเจ็บหรือเปล่า ถ้าไม่เลยก็ติดเชื้อไวรัสแน่ๆ พักผ่อน 5-7 วันก็หายแล้ว หรือถ้าอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ดีกว่า
          "ส่วนอีกหนึ่งกลุ่มที่เป็นห่วงคือ กลุ่มที่แพทย์สั่งให้กินยาปฏิชีวนะ และต้องกินอย่างต่อเนื่องจนหมด แต่บางคนอาจลืม หรือหยุดยาเมื่ออาการดีขึ้น พฤติกรรมการกินยาแบบนี้ นอกจากการรักษาโรคไม่หายขาดแล้ว สิ่งที่น่ากลัวตามมาคือ เชื้อที่ฆ่าไม่หมดมันจะพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นเชื้อที่ดื้อยา ซึ่งมันสามารถแพร่พันธุ์กันได้ด้วย ทำให้ในอนาคตการใช้ยาปฏิชีวนะอาจไม่สามารถฆ่าเชื้อเหล่านั้นได้ นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเสียชีวิตตามมา ดังนั้นถ้าเราไม่ปรับพฤติกรรมการกินยาเสียใหม่ ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีคนตายประมาณ 10 ล้านคนทั่วโลก ส่วนตัวมองว่ามันน่ากลัวมาก" อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย.


pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved