HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 21/11/2561 ]
5 ข้อควรรู้ก่อนการนวด

  การนวดไทย เป็นศาสตร์และศิลปะอีกแขนงที่สำคัญ เป็นภูมิปัญญาไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ การนวด คือ การใช้น้ำหนักกดลงบนส่วนต่างๆ ของร่างกายซึ่งทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด คลายตัวจากความปวดเมื่อย
          ประโยชน์จากการนวดยังช่วยส่งเสริมสุขภาพ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดสามารถไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยคลายกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนตัว  ยืดหยุ่นได้ดีป้องกันการเป็นพังผืด ทั้งยังช่วยกระตุ้นระบบน้ำเหลืองให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย รวมทั้งการนวด ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ทำให้หายใจเข้าและออกได้ลึกขึ้น ทั้งนี้ผู้นวดต้องมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ความสามารถในการตรวจรักษา นวดให้ถูกจุดและมีความปลอดภัย
          การนวดแม้ช่วยผ่อนคลาย และรักษาโรค ฟื้นฟูสมรรถ ภาพ แต่ก็อาจมีกรณีที่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัย พท.ป.ศราวุฒิ อิสโร แพทย์แผนไทย โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน และจากข้อมูลสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้กล่าวถึง ข้อควรรู้ก่อนการนวด และข้อควรระวังในการนวด!
          การนวดไทย นวดแบบเชลยศักดิ์ เป็นการนวดเพื่อสุขภาพ หรือการนวดเพื่อผ่อนคลาย การนวดในรูปแบบนี้สืบ ทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยการฝึกฝนและการบอกเล่า มีแบบแผนการนวดตามวัฒนธรรมท้องถิ่น ประกอบกับประสบการณ์ที่สั่งสมของครูนวด แต่ในปัจจุบันมีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย ส่วน การนวดไทยแบบราชสำนัก เป็นการนวดที่ต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้เรียนอย่างละเอียดถี่ถ้วน และมีขั้นตอนการสอนเป็นระเบียบแบบแผน ปัจจุบันนำมาใช้บำบัดโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
          "การนวดให้กับผู้สูงอายุ ผู้นวดต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งนี้ระบบการทำงาน กล้ามเนื้อและกระดูกเสื่อมถอยลง ควรนวดเพื่อผ่อนคลายเฉพาะจุด ไม่ควรนวดท่าดัดตัว เพราะอาจเกิดอันตรายได้ และด้วยที่การนวด ต้องกดหรือบีบให้เส้น ที่ยึดหรือตึงผ่อนคลายลง จึงไม่ควรนวดกดเส้นเลือด หรือกดซ้ำๆ ที่จุดเดิมเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเส้นเลือดบริเวณบ่า และขาหนีบ ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดช้ำได้ง่าย
          ส่วนการนวดให้กับผู้ที่มีอาการปวดฉับพลัน โดยอาจเกิดจากกล้ามเนื้อได้รับการกระทบกระเทือน อย่างเช่น อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา ฯลฯ ไม่ควรนวดแรงๆ เพราะจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อช้ำ ควรนวดในลักษณะผ่อนคลายและนวดอย่างช้าๆ ซึ่งสามารถบรรเทาอาการปวดได้"
          ในข้อห้าม ข้อควรระวัง ยังกล่าวถึง บริเวณที่มีการอักเสบ จากการติดเชื้อ การนวดจะทำให้มีการอักเสบมากยิ่งขึ้น อีกทั้งไม่ควรนวดหากพบว่ามีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส กลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว โรคหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ยังควบคุมอาการให้เป็นปกติไม่ได้ โรคกระดูกพรุนรุนแรง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดใส่เหล็กและข้อเทียม บริเวณที่กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคผิวหนัง มีแผลเปิดเรื้อรัง โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ โรคมะเร็ง แผลหลังผ่าตัดยังไม่หายสนิท ฯลฯ ต้องเพิ่มความระมัดระวัง
          นอกจากนี้ การประคบสมุนไพร ซึ่งมักใช้คู่กับการนวดไทย เพื่อช่วยให้เนื้อเยื่อ พังผืดยืดตัวออก ลดการติดขัดของข้อต่อ ลดอาการปวด ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และช่วยลดการบวม อันเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ การใช้ควรต้องมีความเข้าใจ และใช้ด้วยความระมัดระวังร่วมด้วย.


pageview  1204953    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved