HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 21/11/2561 ]
รพ.พระราม2อ่วม สบส.สรุปความผิด3กระทง

  ไม่รับสาวถูกสาดน้ำกรด มีทั้งโทษจำคุกและปรับ แจ้งสน.ท่าข้าม21พย.นี้
          กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงสรุปผลสอบ "รพ.พระราม 2" กรณีปฏิเสธให้การรักษาสาวถูกสาดน้ำกรดเสียชีวิต ชี้เข้าข่ายผิด 3 มาตรา มีทั้งโทษจำคุกและปรับ เตรียมแจ้งความร้องทุกข์ ดำเนินคดีทั้งผู้รับอนุญาตสถานพยาบาลและผู้ดำเนินการ ที่ สน.ท่าข้าม 21 พฤศจิกายน นี้
          เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวผลสรุปการประชุมคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน กรณี รพ.พระราม 2 ดำเนินการดูแล น.ส.ช่อลัดดา ทาระวัน สาวถูกสาดน้ำกรด ที่เสียชีวิตระหว่างการส่งต่อ ว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่อง ร้องเรียน ซึ่งมีกรรมการทั้งหมด 15 คน ส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอก ได้ส่งผลการประชุมให้อธิบดี สบส.พิจารณา โดยมี 5 กรณี ที่เข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2559 ดังนี้
          1.กรณีที่พยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ตรวจประเมินวินิจฉัยอาการผู้ป่วยและรักษาเบื้องต้นโดยไม่รายงานแพทย์ คณะกรรมการ มีมติเข้าข่ายกระทำผิดเรื่องการไม่ควบคุมและดูแลมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติตามกฎหมายวิชาชีพตัวเอง อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 34(1) และ (2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีมติเอกฉันท์ให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีต่อผู้ดำเนินสถานพยาบาลในชั้นศาล
          2.กรณีพยาบาลให้การตรวจรักษาแล้ว จากการสอบถามพบว่า ได้รายงาน ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้ดำเนินการ จึงได้สั่งการให้รับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล แสดงว่ามีความจำเป็นต้องรับการประเมินจากแพทย์ ก่อนที่จะนำผู้ป่วยไปนอน รพ.ตามที่ได้สั่งการ ดังนั้น คณะกรรมการ มีมติว่า อาจจะเข้าข่ายไม่ควบคุมดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในโรงพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด เข้าข่ายผิดมาตรา 34(2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
          3.ไม่ได้ให้การช่วยเหลือเยียวยา ผู้ป่วยฉุกเฉิน และการคัดแยกระดับฉุกเฉินตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ อาจเข้าข่ายกระทำผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มาตรา 35(3)  และ (4) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คณะกรรมการมีมติให้เปรียบเทียบปรับ ผู้ได้รับ อนุญาตให้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
          4.ไม่ได้ดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยในสภาพอันตรายและต้องได้รับการรักษาฉุกเฉินให้พ้นขีดอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาล อาจเข้าข่ายผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลไม่ควบคุมให้ดูแลช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรา 33/1 โดยเข้าข่ายเอาผิดตามมาตรา 36 วรรค 1 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้แจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้รับอนุญาตฯ และ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
          และ 5.เมื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว มีการอ้างความต้องการผู้ป่วยเองไปรักษา รพ.แห่งที่สอง เรื่องนี้เข้าข่ายเรื่องส่งต่อโดยไม่เหมาะสม ตามมาตรา 36 วรรค 3 อาจจะมีความผิดตามกฎหมายที่กำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแจ้ง โดยให้แจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้รับอนุญาตฯ และ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
          นพ.ณัฐวุฒิกล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้ว คณะกรรมการ มีมติให้แจ้งความร้องทุกข์ทั้งหมด ทั้งเปรียบเทียบปรับและจำคุก หลังจากมีมติแล้ว กองกฎหมายได้ส่งเรื่องมาที่อธิบดีเมื่อช่วงเช้าแล้ว เพื่อให้ความเห็น โดยได้ให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการ ต่อไป คือ ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนที่ สน.ท่าข้าม ซึ่งวันนี้จะทำหนังสือ และส่งในวันที่ 21 พฤศจิกายน โดยพนักงาน สอบสวนจะเริ่มเรียกมาสอบสวนตามกฎหมาย ก่อนส่งต่ออัยการ ว่าจะฟ้องประเด็นอะไร และศาลจะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย สำหรับ การเปรียบเทียบปรับนั้น คณะอนุกรรมการเปรียบเทียบจะพิจารณาว่า ปรับทั้งหมดเท่าไร
          นพ.ณัฐวุฒิกล่าวว่า อีกกรณีหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับสถานพยาบาล คือ พยาบาล ที่ให้การดูแลรักษาและยอมรับว่า ไม่ได้รายงานแพทย์เวร กรณีนี้เข้าข่ายเรื่องจริยธรรม ประกอบวิชาชีพไม่เป็นตามมาตรฐานที่กำหนด จะส่งเรื่องนี้ต่อสภาการพยาบาลพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณา ทั้งหมดสรุปว่า ไม่เข้าข่ายปฏิเสธรักษา เพราะ ผู้ป่วยขอไปเอง
          เมื่อถามถึงการปิดห้องผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้ขออนุญาต ทาง รพ.พระราม 2 มีการดำเนินการอะไรแล้วหรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เราให้แก้ไขภายใน 15 วัน ซึ่งหากไม่ดำเนินการอาจถูกพักใช้ใบอนุญาต ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้มาขอแก้ไข แต่หากมาขอก็จะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นตามมาตรฐานสถานพยาบาลหรือไม่ หากเป็นตามมาตรฐานก็จะเสนอเข้าที่ประชุมกรรมการสถานพยาบาล ซึ่งจะอนุมัติหรือไม่ขึ้นกับการตรวจสอบสถานที่ ส่วนบางอย่างที่ทำไม่ได้มาตรฐาน เช่น การส่งต่อ ก็มีคำสั่งทางปกครองให้แก้ไขภายใน 15 วัน กรณีอื่นก็ต้องช่วยเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิด


pageview  1204989    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved