HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 05/05/2555 ]
ภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลัน

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดซึ่งทำหน้าที่ส่งผ่านเลือดไปเลี้ยงสมอง อาจเป็นได้ทั้งการตีบ อุดตัน หรือฉีกขาด ส่งผลให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดและมีก้อนเลือดกดทับสมองอยู่ ซึ่งก่ออันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหรือทุพพลภาพได้
          นพ.ฤกษ์ชัย ตุลยาภรณ์โชติ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาประสาทวิทยา ด้านหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคในกลุ่มประสาทวิทยาที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่ง เกิดจากความเสื่อมสภาพสะสมของเซลล์ในร่างกายที่กำหนดโดยยีน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงวัย 20 ปี และจะแสดงอาการชัดเจนในช่วงวัย 50 ปี โดยการดำเนินของโรคนั้น ขึ้นกับปัจจัยภายนอกที่จะเข้าไปเร่งให้การเสื่อมสภาพเร็วขึ้น อาทิ ลักษณะนิสัยการกิน สภาพแวดล้อม ความดันโลหิต การดื่มสุรา หรือการสูบบุหรี่
          จากรายงานในปี 2542 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยถึง 44,587 คน ซึ่งสาเหตุใหญ่ของความพิการและเสียชีวิตของผู้ป่วย ก็เนื่องจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับมือกับอาการที่เกิดอย่างปัจจุบันทันด่วน
          อาการที่ใช้เป็นข้อสังเกตว่า สมองขาดเลือดไปเลี้ยง คือการชาตามแขนขา ใบหน้า หรือร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง มีการสื่อสารบกพร่องสับสน เห็นภาพซ้อน ตาพร่า ทรงตัวลำบาก วิงเวียนและปวดหัวโดยไม่มีสาเหตุ ในบางรายที่รุนแรงมาก อาจเป็นลมหมดสติได้
          การแสดงออกทางร่างกายที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและระดับความรุนแรงของสมองส่วนที่ขาดเลือด ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงจากโรคประจำตัวของคนไข้ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจและลิ้นหัวใจร่วมด้วย ฉะนั้น การวินิจฉัยเพื่อกำหนดวิธีการรักษาจึงต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบทั้งหมด
          โดยทั่วไปเมื่อคนไข้มาด้วยภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลัน ถ้าอาการเกิดยังไม่ถึง 4.5 ชั่วโมง แพทย์อาจจะพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด (T-PA) เพื่อสลายก้อนเลือดที่อุดตัน แต่ด้วยความเสี่ยงต่อผลร้ายที่อาจตามมาจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยบางกลุ่ม ทำให้บางกรณีแพทย์ก็จำเป็นต้องตัดสินใจงดยานี้ทั้งที่ยังอยู่ในช่วงเวลาที่สามารถให้ได้
          ข้อห้ามที่จะให้ยาละลายลิ่มเลือดประการหนึ่งคือ เรื่องขนาดของการ Stroke เพราะยิ่งเราเห็นว่า Strokes ใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งอันตรายสำหรับการให้ยาละลายลิ่มเลือดมากขึ้นเท่านั้น
          ลักษณะแบบนี้ การรักษาที่เหมาะสมคือ เราต้องผ่าตัดเพื่อยกกะโหลกศีรษะออก โอกาสที่ผลการรักษาจะออกมาดีก็มีมากขึ้น อีกประการหนึ่งคือ Stroke ขนาดใหญ่สามารถมีเลือดออกมาเองได้ การให้ T-PA จึงอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุด แต่ระหว่างนั้น เราก็รักษาคนไข้ด้วยวิธีอื่นไปด้วย เช่น ให้ยาบางตัว หรือให้นอนยกหัวสูงเพื่อลดสมองบวม
 


pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved