HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 22/08/2561 ]
สมุนไพรอันตราย สำหรับผู้ป่วยโรคไต

 สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และเครือข่ายร่วมกันเตือน ให้ประชาชนและผู้ป่วยโรคไต ตระหนักถึงการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคไต และรับรู้ความจริงเกี่ยวกับสมุนไพรรักษาโรคไต
          ศ.นพ.เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย บอกว่า ในปัจจุบันได้มีการโฆษณาถึงสรรพคุณของยาสมุนไพรหลายชนิดว่าสามารถรักษาโรคไตเรื้อรังให้ดีขึ้น หรือกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งสมุนไพรดังกล่าวประชาชนสามารถซื้อหาได้โดยง่าย แต่ขอยืนยันว่าในปัจจุบัน ยังไม่มีสมุนไพรชนิดใดหรือตำรับใด ได้รับการบรรจุไว้ใน "รายการยาจากสมุนไพรของบัญชียาหลักแห่งชาติในข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคไต" นั่นคือ ยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัย หรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ นอกจากนี้ สมุนไพรยังอาจมีปฏิกิริยากับยาประจำที่แพทย์สั่ง ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพ หรือเกิดพิษของยาขึ้นได้
          ด้าน ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรรักษา โรคไตมาจากหลายแหล่ง โดยเฉพาะมาจากทาง สื่อออนไลน์ เช่น โฆษณาที่ว่าหากต้องการหายจากโรคไตให้เอาเซี่ยงจี๊มาต้มกับน้ำแล้วดื่มอย่างน้อยวันละสามแก้ว ซึ่งตรงนี้เป็นการบอกเล่าที่ผิด เพราะปกติคนป่วยเป็นโรคไตไม่ให้กินเครื่องในสัตว์เยอะ เพราะมีเกลือแร่ และกรดยูริกค่อนข้างมาก พอคนที่เป็นโรคไตไปรับประทานอาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำ น้ำท่วมปอด เกิดอันตรายได้
          สมุนไพรอีกชนิดหนึ่ง คือ เห็ดหลินจือ แต่จริงๆ แล้วข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนยังมีค่อนข้างน้อย และมีข้อมูลพบว่าผู้ป่วยบางรายที่รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ทำมาจากเห็ดหลินจือบ่อยๆ อาจพบอาการของโรคตับ และไตวายมากขึ้นได้ อีกทั้งเห็ดหลินจือยังมีราคาแพง มะม่วงหาวมะนาวโห่ สมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่มีความเชื่อว่าเป็นยาต้านอนุมูลอิสระ สรรพคุณจะช่วยป้องกันเซลล์มะเร็ง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตอาจมีผลทำให้ไตขับสารโพแทสเซียมออกมาไม่ทัน ส่งผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจเสียชีวิตได้
          พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ อายุรแพทย์โรคไต รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า ยังไม่มีสมุนไพรตัวใดที่มีการวิจัยในมนุษย์โดยวิธีการวิจัยที่เหมาะสม แล้วสามารถพิสูจน์ได้ว่าช่วยให้การทำงานของไตดีขึ้น และยังต้องระวังการใช้สมุนไพรที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจมีการใช้สมุนไพรผิดชนิด และมีสิ่งหรือสารปนเปื้อน เช่น สเตียรอยด์ สารหนู แคดเมียม ซึ่งอาจมีผลต่อโรคไต นอกจากนี้ ยังมีพืชหรือสมุนไพรอีกหลายประเภทที่ควรระวังในผู้ป่วยโรคไต เช่น มะเฟือง จะมีกรดออกซาเลตไปจับกับแคลเซียมที่ไต แล้วอาจเกิดอาการไตวายเฉียบพลันได้
          นอกจากนั้น สมุนไพรอีกหลายชนิดมีปริมาณกรดออกซาเลตอยู่มาก เช่น โกฐน้ำเต้า ตะลิงปลิง ปวยเล้ง และแครนเบอร์รี่ หากรับประทานใน ปริมาณมากๆ อาจทำให้เกิดนิ่วในไต และมีผลการทำงานของไตผิดปกติ และจากข้อมูลรายงาน จากต่างประเทศพบว่า สมุนไพรอย่างไคร้เครือ ปัจจุบันห้ามใช้แล้วทั่วโลก เนื่องจากมีข้อมูลยืนยันแล้วว่าทำให้เกิดไตวาย และเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย


pageview  1204836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved