HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 14/08/2561 ]
สธ.ดีเดย์ 7ก.ย. ฉลากนมผงเด็กทุกสูตรต้องต่าง

กรมอนามัยดีเดย์ 7 ก.ย.เปลี่ยนฉลากนมผง "สูตร 3-อาหารเสริมทารก" ต้องแตกต่างจาก "นมทารก" หลังครบกำหนดระยะ พ.ร.บ.นมผง ที่ผ่อนผันให้ 1 ปี กฎหมายกำหนดชัด ต้องแยกแยะได้ง่าย ป้องกันเข้าใจผิดโฆษณาข้ามผลิตภัณฑ์ ฝ่าฝืนโทษปรับ 3 แสน วันละ 1 หมื่น
          จากการที่ พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ. นมผง มีผลบังคับใช้ 8 ก.ย.2560 แต่ในมาตรา 15 ที่กำหนดว่าผู้ผลิต นำเข้าหรือผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารกหรืออาหารสำหรับเด็กเล็กหรือตัวแทน ต้องดำเนินการให้ฉลากอาหารสำหรับทารกและฉลากอาหารสำหรับเด็กเล็กแตกต่างกันอย่างชัดเจนและสามารถมองเห็นหรือแยกแยะได้โดยง่าย
          อีกทั้งมาตรา 26 ที่กำหนดให้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารเสริมสำหรับทารก หรือตัวแทนต้องดำเนินการให้ฉลาก "อาหารเสริมสำหรับทารก" แตกต่างจากฉลาก "อาหารสำหรับทารก" ฉลากอาหารสำหรับ เด็กเล็ก หรือฉลากอาหารอื่นอย่างชัดเจน และสามารถมองเห็นหรือแยกแยะได้โดยง่าย ซึ่งมีการระบุไว้ในบทเฉพาะกาลว่าให้ใช้ฉลากเดิมที่ยังไม่ปรับตามกฎหมายนี้ต่อไปได้ แต่ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ
          นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนฉลากอาหารสำหรับเด็กเล็กหรือนมสูตร 3 ต้องมีความแตกต่างกับอาหารสำหรับทารก หรือนมสูตร 1 ซึ่ง พ.ร.บ.ให้เวลา 1 ปีในการปรับเปลี่ยนนั้น จะครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันและจะมีการบังคับใช้เรื่องฉลาก ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย. 2561 ฉลากนมทุกสูตรจะต้องปรับเปลี่ยนให้ความแตกต่างกันทั้งหมด โดยผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาทและปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง
          ส่วนกฎหมายลูกที่ออกตาม พ.ร.บ.นี้ ได้ดำเนินครบทั้ง 10 ฉบับแล้ว ประกอบด้วย 1.การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2.การแต่งตั้ง พนักงานเจ้าหน้าที่ 3.การกำหนดแบบบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ 4.การจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารก 5.ให้ข้อมูลอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็กและอาหารเสริมสำหรับทารกแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข
          6.การให้ตามประเพณีแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข 7.การสนับสนุนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุขและสถาบันอุดมศึกษาที่สอนเกี่ยวกับสุขภาพแม่และเด็ก จัดประชุม อบรม สัมมนา เกี่ยวกับอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็กและอาหารเสริมสำหรับทารก 8.การบริจาคอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็กแก่หน่วยบริการสาธารณสุข 9.การทำลายเอกสารสื่อโฆษณาที่ได้ยึดหรืออายัด10.หลักเกณฑ์การเปรียบเทียบปรับ
          พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เท่าที่ลงพื้นที่ตรวจร้านค้าจัดจำหน่าย พบว่าร้านค้ารู้ว่า พ.ร.บ.นมผง มีผลบังคับใช้แล้ว นมทารกหรือต่ำกว่า 1 ปี ไม่มีลดแลกแจกแถม และแยกนมสำหรับเด็กเล็กที่มีการโปรโมตออกไปต่างหาก แต่นมสูตร 1- 2- 3 สำหรับช่วงวัยต่างๆ ยังคงมีความเชื่อมโยงกันอยู่บ้างบนตัวฉลาก ซึ่งอาจเป็นสินค้าเก่า โดยกฎหมายให้เวลาในการปรับตัว 1 ปี จะต้องปรับเปลี่ยนฉลากให้ไม่มีความเชื่อมโยงกัน
          สำหรับการที่ พ.ร.บ.นี้กำหนดให้ฉลากนมแต่ละสูตรต้องแตกต่างและแยกแยะออกจากกันได้ง่ายเนื่องจากที่ผ่านมามีการโฆษณาข้ามผลิตภัณฑ์  นายบวรสรรค์ เจี่ยดำรง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี  ให้ข้อมูลไว้ว่า มูลค่าทางการตลาดของธุรกิจนมผงอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท มีผู้ผลิตรายใหญ่ 7 บริษัท
          จากการศึกษาและติดตามกลยุทธ์ทางการตลาดพบว่าใช้ 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ 2. การส่งเสริมการขายลด แลก แจก แถม 3. การตลาดทางตรง โดยติดต่อแม่โดยตรงผ่านกิจกรรมงานต่าง ๆ มีข้อมูลว่า ใช้งบฯจัดงานในห้างใหญ่ๆ ประมาณ 100 ล้านบาทต่อครั้ง 4. การตลาดทางอินเทอร์เน็ต ถือเป็นการตลาดทางตรงยิ่งกว่าทางตรง เพราะสื่อสารกับคุณแม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดความภักดีในยี่ห้อสินค้าและการตลาดผ่านโทรศัพท์มือถือและแอพพลิเคชั่น เฉลี่ย 3 โพสต์ต่อวันเป็นอย่างน้อย และ 30 โพสต์ต่อวันต่อ 1 ยี่ห้อ เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการตลาด เชิญชวนร่วมกิจกรรม เคล็ดลับการดูแลสุขภาพคุณแม่ การดูแลลูกและโภชนาการ
          "มีการโฆษณาหรือส่งเสริมการตลาดแบบข้ามผลิตภัณฑ์(Cross Promotion) คือ มีการโฆษณานมผงสูตร 3 ที่เป็นสูตรสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไปและทุกคนในครอบครัว ซึ่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไม่ได้ห้ามโฆษณา แต่มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์และสัญลักษณ์ให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับนมสูตร 1 สำหรับทารก 0-12 เดือนและนมสูตร 2 สำหรับเด็ก 6 เดือน- 3 ปี ซึ่งประกาศ อย.ห้ามโฆษณา เมื่อเป็นเช่นนี้จะส่งผลต่อคุณแม่เวลาไปเลือกซื้อ เมื่อเห็นนมสูตร 1 และ 2 ที่มีสัญลักษณ์คล้ายสูตร 3 ที่เห็นทางโฆษณาก็จะเลือกซื้อนมสูตร 1 และ 2 นั้นด้วย ทั้งที่ไม่ได้โฆษณานมสูตรนี้ โดยตรง" นายบวรสรรค์กล่าว
          อนึ่ง ตามพ.ร.บ.นมผง 2560 ให้นิยามคำว่า ทารก หมายถึง เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 12 เดือน และเด็กเล็ก หมายถึง เด็กอายุเกิน 12 เดือน ถึง 3  ปี


pageview  1205008    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved