HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 15/08/2561 ]
ห้ามแพร่คลิปภาพฆ่าตัวตายผิดกฎหมาย-เลียนแบบเพิ่ม

อธิบดีกรมสุขภาพจิตเตือนห้ามเผยแพร่คลิป-ภาพเหตุการณ์ฆ่าตัวตาย ชี้อาจส่งผลเกิดพฤติกรรมเลียนแบบเพิ่ม หวั่นกลายเป็นสังคมเคยชิน ภูมิใจใครเห็นก่อน แนะหากเห็นเหตุการณ์ควรพยายามช่วยเหลือ
          น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปัญหาการถ่ายคลิปและภาพบุคคลและนำมาเผยแพร่ ก่อนเกิดเหตุการณ์ทำร้ายตัวเองของผู้ที่กำลังอยู่ในอารมณ์คับขันในชีวิต เช่น กรณีการกระโดดสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุด เป็นเด็กนักเรียนมัธยมศึกษากระโดดอาคารเรียน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย ที่ควรเรียนรู้และสร้างสรรค์ ทำความเข้าใจ ก่อนที่จะบานปลาย หรือกลายเป็นความเคยชิน หรือภาคภูมิใจว่าเป็นคนที่เห็นก่อนใคร
          การถ่ายคลิปและแชร์ส่งต่อกัน อาจจะเป็นการซ้ำเติมผู้ที่ทำร้ายและจบชีวิตของตัวเองรวมทั้งครอบครัวด้วย แต่อีกมุมหนึ่งที่อยากให้สังคมเปลี่ยนความคิด จากการคอยบันทึกภาพนาทีแห่งชีวิตของคนอื่น ที่เราเป็นผู้เห็นก่อน เป็นการให้ความช่วยเหลือชีวิตเขาแทน เนื่องจากภาวะตึงเครียดทางจิตใจ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย
          โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากหลายเรื่องทั้งจากการดำเนินชีวิต การแข่งขัน การขาดภูมิคุ้มกันทางใจ ปัญหาสุขภาพต่างๆ เมื่อรุมเร้าเข้ามาในชีวิตมากมาย บางคนหาทางระบายปัญหาออกไม่ได้ จึงสะสมกลายเป็นผู้มีปัญหาสุขภาพจิต จนถึงขั้นที่เรียกว่า มืดแปดด้าน และตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ ที่คนปกติไม่ทำกัน
          น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า การที่คนคนหนึ่งยืนบนระเบียงตึก หรือนั่งเหม่อลอย อยู่บนราวสะพานคนเดียว หรือปีนขึ้นที่สูงๆ ถือว่าเป็นพฤติกรรมแสดงออกของ ผู้ที่เกิดวิกฤตปัญหาทางจิตใจ ที่หาทางออกชีวิตไม่ได้ และเป็นการส่งสัญญาณ ขอความช่วยเหลือประการหนึ่ง เมื่อพบเห็นผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ ขอให้รีบให้ความช่วยเหลือแทน สามารถทำได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยวิธีการเดินเข้าไปหาและพูดคุยสอบถามด้วยท่าทางยิ้มแย้ม เหมือนการทักทายกันตามปกติทั่วไป โดยไม่ต้องกลัวว่า เราจะไปกระตุ้นให้เขาตัดสินใจทำร้ายตัวเองเร็วขึ้น
          ประการสำคัญคือ อย่าไปผลีผลามไปจับฉุดรั้งตัว เพราะอาจทำให้เขาตกใจได้ การได้ชวนพูดคุยแม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ แค่ 1-5 นาที ก็มีความหมายมาก เป็นการชะลอ จะทำให้ผู้ที่กำลังคิดสั้นมีอารมณ์ซึ่งมักเป็นอารมณ์ชั่ววูบ ให้เย็นลงและได้สติขึ้นมา เขาก็จะเลิกคิดทำร้ายตัวเอง ภาพที่เกิดขึ้นทั้งหมด แม้จะไม่ได้บันทึกลงในโลกโซเชียล แต่มันจะอยู่ในโลกของสวรรค์คือ มีความสุขปีติใจ ทั้งผู้ช่วยเหลือและผู้รอดชีวิตตลอดไป
          นพ.ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารขณะนี้ ประชาชนสามารถใช้ สมาร์ทโฟน และกลายเป็นผู้สื่อสาร สื่อข่าวและรับข่าวรอบด้าน สิ่งที่ทุกคนต้องระมัดระวังและต้องช่วยกันสร้างความตระหนักก็คือ ไม่ควรนำเสนอและแชร์ภาพเหตุการณ์คนทำร้าย ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นชนิดสดหรือภาพนิ่ง เพราะจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ทำให้คนที่กำลังอยู่ในอารมณ์ชั่ววูบเกิดการกระทำเลียนแบบ (Copycat) ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการนำเสนอวิธีการ รายละเอียด
          สิ่งที่ควรจะเพิ่มเติมคือ การช่วยชี้แนะทางออกของชีวิต เพราะการจบชีวิตไม่ได้ทำให้ปัญหาทุกอย่างจบลง จริงอยู่ ในขณะนั้นคนเราอาจคิดว่าชีวิตของตัวเองอับจนจริงๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเพราะอารมณ์ของเราอับจนมากกว่า ดังนั้นหากมีสติขึ้นมา อารมณ์ก็จะปลอดโปร่ง ปัญญาก็จะพรั่งพรู จะมองเห็นทางออกมากมาย หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งมีบริการตลอด 24 ชั่วโมง
          "คนที่เคยคิดทำร้ายตัวเองไม่ใช่เป็นผู้ป่วยทางจิต แต่เป็นมนุษย์ที่แท้จริง ซึ่งมีอารมณ์ความรู้สึก ต่างจากหุ่นยนต์ และต่างจากคนร้ายที่อาจยิ้มได้บนความทุกข์ของคนอื่น มนุษย์ที่แท้จริงอาจเสียใจในความผิดพลาดของตัวเอง อาจผิดหวังในความปรารถนาดีที่มอบให้คนอื่นได้ ดังนั้นเมื่อคนเหล่านั้นผ่านพ้นช่วงวิกฤตชีวิตมาได้ เราจึงควรชื่นชมและให้กำลังใจ และหากเป็นเพราะชะตากรรมต้องสิ้นลมจากโลกนี้ไป เราก็ควรเคารพการตัดสินใจ และให้กำลังใจ ญาติรวมถึงคนรอบข้าง" นพ.ประภาส กล่าว
          ก่อนหน้านี้ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์เฟซบุ๊ค ถึงกรณี การถ่ายคลิปฆ่าตัวตายของหญิงสาวอายุ 18 ปี ที่ว่าจ้างให้ชายขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างช่วยถ่ายคลิป ซึ่งเป็นการไลฟ์สดระหว่างเธอกำลังก่อเหตุฆ่าตัวตาย ด้วยการกระโดดจากสะพานพระราม 8 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยเตือนว่า "หน้าที่ตามกฎหมายต้องหยุดการกระทำ ไม่ให้เด็กสาวเสี่ยงชีวิต ยังกลับยืนถ่ายคลิปต่อไป ผมดูคลิปจนจบแล้ว อาจ..เป็นความผิดมีโทษถึงจำคุกนะครับ คนถ่ายคลิปหรือคนที่ยืนอยู่ด้วยแล้วไม่ห้าม.. ฝากเตือน ระมัดระวังกันไว้นะครับ เหตุการณ์เช่นนี้ คนถ่ายคลิป คนยืนดู ไม่ยอมเข้าไปช่วย หยุดเหตุการณ์ร้าย ปล่อยให้เขาตาย คุณอาจ..ผิดกฎหมายมีโทษถึงจำคุกได้"
          อนึ่ง มาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


pageview  1204999    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved