Follow us      
  
  

[ วันที่ 20/06/2556 ]
เนื้องอกต่อมใต้สมอง 'คุชชิ่ง'มหันตภัยร้าย อันตรายถึงชีวิต

  โรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปกติ (Acromegaly)เกิดจากความผิดปกติของเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตหรือที่เรียกว่าโกรทฮอร์โมน (Growth Homone) มากกว่าคนปกติทั่วไป โดยโรคนี้ปกติจะไม่ค่อยพบบ่อยมากนัก เทียบเป็นอัตราส่วน 1 ต่อหลายแสนคนหรือ พบได้ 10%-25% ของเนื้องอกในสมองทั้งหมด
          แต่สำหรับในประเทศไทยนั้นพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากระบบการแพทย์ของไทยในปัจจุบันดีขึ้นกว่าในอดีตมาก มีการร่วมมือกันระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ และแพทย์ระบบทางเดินทางประสาทในการวินิจฉัยและรักษา ทำให้ค้นพบผู้ที่เป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
          และล่าสุดทาง ผศ.นพ.ธิติ สนับบุญ หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาบอกว่า ขณะนี้พบเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง ซึ่งถือเป็นโรคหายากแต่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งเป็นโรคยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายนักเพราะเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง เป็นโรคที่พบไม่บ่อยแต่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยถึงเสียชีวิตในกรณีที่ไม่ได้รักษาหรือรับการรักษาที่ล่าช้า เนื่องจากเนื้องอกดังกล่าวจะสร้างฮอร์โมนสเตียรอยด์ปริมาณสูง ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายทำงานบกพร่อง จึงเกิดการติดเชื้อตามอวัยวะหรือกระแสเลือดได้ง่ายและรุนแรง ระบบการทำงานของอวัยวะผิดปกติ ได้แก่ เกลือแร่ในเลือด เกิดโรคเบาหวานและอ้วน รวมถึงอาการแขนขาอ่อนแรง นอกจากนี้ ก้อนเนื้องอกที่ตำแหน่งต่อมใต้สมองซึ่งตั้งอยู่บริเวณฐานของสมองสามารถกดเบียด อวัยวะข้างเคียงเช่น เส้นประสาทตาทำให้ตามัวหรือบอด หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงได้
          ดังนั้น คนที่อ้วนขึ้นผิดสังเกตโดยเฉพาะส่วนใบหน้าหรือลำตัว หรือมีรอยแตกของผิวหนังที่มีลักษณะเป็นสีแดงบริเวณท้องหรือต้นขา ผู้ป่วยเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ยาก ลุกนั่งหรือยืนลำบาก ปวดศีรษะ ตามัว หรือผู้หญิงที่มีสิวหรือขนตามตัวมากขึ้นร่วมกับประจำเดือนที่ผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ถึงโอกาสที่จะเป็นของเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง เนื่องจากโรคเนื้องอกชนิดนี้สามารถรักษาให้หายขาดโดยการผ่าตัดซึ่งใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลระยะสั้นๆ ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีรอยแผลเป็นที่ใบหน้าหรือศีรษะ นอกจากนี้ ยังมีการรักษาเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผ่าตัดโดยใช้วิธีรังสีรักษาหรือการรักษาด้วยยาที่สามารถควบคุมระดับของฮอร์โมนสเตียรอยด์ได้
          "ผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และในผู้ป่วยบางราย การเปลี่ยนแปลงทางรูปลักษณ์ภายนอกอาจทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นและมีผลกระทบทางจิตใจ ดังนั้นหากมีอาการต้องสงสัยดังที่กล่าวมาจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป"ผศ.นพ.ธิติ  ระบุ

 pageview  1205516    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved