Follow us      
  
  

[ วันที่ 20/03/2556 ]
กระดูกสันหลังหัก ภาวะกระดูกพรุน

 โรคกระดูกพรุน พบในหญิงวัยหมดประจำเดือน หรือผู้สูงอายุ ทั้งชายและหญิง ทำให้กระดูกขาดความแข็งแรง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก แม้เกิดจากแรงเพียงเล็กน้อยได้ ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลัง หลังจากเกิดเหตุการณ์กระทบกระเทือนเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น นั่งรถตกหลุมนั่งกระแทกบนโซฟา หรือก้มยกของ เป็นต้น และในบางรายอาจไม่พบเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอาการ ผู้ป่วยเพียงแต่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ก็สามารถเกิดภาวะกระดูกสันหลังหักยุบในโรคกระดูกพรุนได้
          โรงพยาบาลธนบุรีได้ให้ความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาภาวะกระดูกสันหลังหักยุบในโรคกระดูกพรุน ดังนี้
          สำหรับอาการเบื้องต้น  ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณกลางหลังตรงตำแหน่งที่มีการหักยุบ โดยอาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลาขยับ เช่น พลิกตะแคงตัวในท่านอน ลุกจากนอนมานั่งลุกจากนั่งมายืน บิดตัว ก้มและเงย เป็นต้น เนื่องจากมีการขยับและเสียดสีกันของกระดูกที่หัก
          นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากขึ้นเวลาที่กระดูกสันหลังรับน้ำหนัก เช่น ในท่านั่ง ยืน หรือเดินอาการปวดหลังอาจมีเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ หรือปวดมากจนผู้ป่วยไม่สามารถลุกนั่ง ยืน หรือเดินได้ ต้องนอนอยู่ตลอดเวลาหากมีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังอาจไปกดทับไขสันหลัง หรือเส้นประสาท จะทำให้มีอาการชา อ่อนแรงของขา ทำให้ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะได้
          การวินิจฉัย ทำได้โดยการซักประวัติอาการปวด ตรวจร่างกายบริเวณกระดูกสันหลัง และถ่ายภาพเอกซเรย์ ภาพเอกซเรย์จะพบกระดูกสันหลังบาง และมีการหักยุบ อาจพบว่ามีหักยุบหลายปล้อง ซึ่งบางปล้องอาจเป็นการหักยุบในอดีตซึ่งกระดูกได้ติดแล้ว และไม่ทำให้เกิดอาการปวด ดังนั้น จะต้องหาปล้องที่มีการหักยุบในครั้งนี้ ซึ่งจะตรงกับตำแหน่งที่มีอาการเจ็บ
          การตรวจภาวะกระดูกพรุน สามารถทำได้โดยการตรวจมวลกระดูกด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
          การรักษาเบื้องต้น ได้แก่ 1.การพักโดยการจำกัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยนอนพักในระยะแรก และลุกนั่งยืนเดินเท่าที่จำเป็น 2.ใส่เสื้อพยุงหลังที่เหมาะสม โดยทั่วไปต้องใช้ตัวที่ยาวจากสะโพกถึงไหล่จึงจะสามารถประคองกระดูกที่หัก และลดการเคลื่อนไหวของกระดุกที่หักได้ ทำให้มีอาการปวดน้อยลง และลดการยุบเพิ่มขึ้นของกระดูกสันหลังได้ โดยให้ใส่ตลอดเวลาที่มีการทำกิจกรรม 3.ให้ยาแก้ปวด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันที่จำเป็นได้ 4.ให้แคลเซียมและวิตามินดี เพื่อช่วยการสมานตัวของกระดูก 5.ให้ยาฮอร์โมน Calcitonin ชนิดพ่นจมูก ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บปวดจากกระดูกสันหลังหักยุบ และยังช่วยในการสมานตัวของกระดูกด้วย6.ผู้ป่วยควรบริหารแขนขา โดยการขยับแขนขาอยู่เสมอ แม้ในท่านอนเพื่อลดการฝ่อตัวของกล้ามเนื้อจากการใช้งานที่น้อยลง ช่วยการไหลเวียนโลหิตด้วย และบริหารปอดโดยการหายใจเข้าออกลึกๆ ยาวๆ เพื่อป้องกันภาวะปอดฟุยแฟบจากการนอนนาน
          โดยทั่วไปอาการปวดจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ และอาการปวดจะหายในเวลา3 เดือน ซึ่งก็คือระยะเวลาที่กระดูกติดนั่นเอง

 pageview  1205546    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved