Follow us      
  
  

บางกอกทูเดย์ [ วันที่ 08/01/2564 ]
การรับมือโควิดรอบใหม่ของรัฐบาล ทั้งการ์ดตก-สับสน-สื่อสารผิดพลาด

ให้ความกังวลและการจับตามองการทำงานของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับบรรดาคณะรัฐมนตรี ทั้งหลาย ที่ยังสะท้อนภาพของความสับสนในการสื่อสารในภาวะวิกฤตเป็นอย่างมาก
          ประเด็นใหญ่อยู่ที่ การจะออกมาตรการเด็ดขาดเพื่อล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูงหรือไม่
          เพราะแน่นอนว่า หากมีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น ย่อมจะต้องกระทบกับภาวะเศรษฐกิจ และการทำมาหากินเลี้ยงปากท้องของประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหลายๆ ผู้ประกอบการแสดงออกถึงการที่จะได้รับความเดือดร้อน หลังจากที่ผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในครั้งแรกยังไม่ฟื้นตัว
          ที่สำคัญ การแพร่ระบาดครั้งที่สองในรอบนี้ ไม่ได้เกิดจากประชาชนการด์ตก แต่เป็นความบกพร่องอย่างชัดเจนของรัฐบาล ที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่มีการรับส่วยการข้ามแดนของแรงงานข้ามชาติ และปล่อยปละละเลยให้มีการเปิดบ่อนการพนันขึ้น
          ทำให้การตัดสินใจที่จะล็อกดาวน์หรือไม่ล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูง กลายเป็นสิ่งที่กดดันคนชื่อ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" อย่างเห็นได้ชัด
          ซ้ำยังก่อให้เกิดภาวะการสื่อสารที่สับสนในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งสะท้อนชัดถึงฝีมือในการทำงานของรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์
          ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ออกมาประกาศห้ามนั่งทานอาหารในร้านหลังเวลา 19.00 น. แต่หลังจากที่มีการประกาศออกไปในเวลาไม่กี่ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ประกาศเปลี่ยนแปลงให้เป็นว่าสามารถนั่งทานอาหารที่ร้านได้จนถึง 21.00 น.
          หรือกรณีของ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาโพสต์ขอบคุณที่พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยอมล็อกดาวน์ จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และสมุทรสาคร แต่ต่อมาเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกสื่อมวลชนถามถึงความสับสน ที่ช่วงแรก พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ไปอ่านรายละเอียดล็อกดาวน์ให้ดี
          โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีแจ้งในที่ประชุมว่า ไม่มีการล็อกดาวน์ 5 จังหวัดตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ เพียงแต่ให้ทำความเข้าใจตรงกันว่า ทั้ง 5 จังหวัดนี้อยู่ในกลุ่ม 28 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องเพิ่มมาตรการเข้มข้นมากกว่าจังหวัดอื่นในกลุ่ม โดยให้ถือเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดอย่างเข้มข้นเป็นพิเศษ
          และผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจตัดสินใจ และสั่งการในสถานการณ์ขณะนี้
          ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แจงว่า การแพร่ระบาดของ covid-19 ว่า ตอนนี้ยังอยู่ในระยะที่ 1 จึงยังไม่มีการล็อกดาวน์ประเทศ แต่หากเข้าสู่ระยะที่ 2 จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้น ซึ่งการใช้คำว่าระยะที่ 2 เมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวันในพื้นที่สีแดง รวมถึงพื้นที่สีเหลืองและสีส้ม ได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งเมื่อถึงขนาดนั้นจะเปลี่ยนไปใช้คำว่า ทวีความรุนแรงและรวดเร็ว
          ดังนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระยะที่ 1 ยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนสั่งการ ยอมรับว่า อำนาจบางอย่างในระยะที่ 1 ยังมีความลักลั่น และทำให้ประชาชนเกิดความสับสนบ้าง ทั้งเรื่องของการเดินทางข้ามจังหวัดการเปิดปิดสถานที่ ที่เป็นคำสั่งของผู้ว่าแต่ละจังหวัด
          "จะปล่อยให้เป็นแบบนี้สักระยะหนึ่ง แต่หากเข้าสู่ระยะ 2 ก็จะมีการปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งในตอนนั้นนายกฯ ก็จะเรียกอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดกลับคืนมาเป็นของนายกฯ ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน" นายวิษณุระบุอย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) ซึ่งลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีใจความว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อ กำหนดมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นในการระงับยับยั้งการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งระบาดแบบกลุ่มก้อนในเขตหลายเขตพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อการสกัดและยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด
          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังนี้
          1. การยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่ กิจกรรม หรือกิจการต่างๆ ดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้บริการ ผู้เดินทาง และประชาชนทั่วไปปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ด้วยการรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัย การล้างมือ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การ ติดตั้งแอปพลิเคชั่น "หมอชนะ" และ "ไทยชนะ" ตลอดจนยอมรับการกักกันตัวตามระยะเวลาในสถานที่ที่กำหนด หากอยู่ในข่ายที่ต้องรับการกักกัน
          2. การยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะของประชาชนในการเดินทางเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ จ.จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร เพื่อสกัดและยับยั้งการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด โดยให้ตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัด เพื่อคัดกรอง การเดินทางเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มข้น และให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวติดตั้งและใช้ระบบแอปพลิเคชั่น "หมอชนะ" นอกจากนี้บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ดังกล่าว ต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นโดยแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น ทั้งนี้ให้เป็นไปตำมหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย กำหนด
          3. การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค รัฐบาลมีเจตจำนงที่ชัดเจนและเด็ดขาดในการปราบปรามและลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งบุคคลใดก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างประเทศโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบ การคัดกรองโรค และการกักกันตัวตามมาตรการทางสาธารณสุข รวมทั้งการปล่อยปละละเลย เอื้ออำนวย หรือสมรู้ร่วมคิดให้มีการเปิดบ่อนการพนันในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อนจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรง
          จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเร่งตรวจสอบเพื่อดำเนินการ นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามขั้นตอนกฎหมาย และแต่งตั้งคณะ กรรมการเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว และเสนอมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้อีกต่อไป
          นอกจากนี้ ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงหน่วยงานด้านความมั่นคง (ศปม.) และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ปฏิบัติการกวดขัน สอดส่อง และเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมือง และการเปิดให้มีการมั่วสุมลักลอบเล่นการพนัน โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายทั้งทางวินัยและทางอาญา
          รวมถึงให้รัฐบาลสนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบของภาคประชาชน หากพบเห็นการกระทำหรือการปล่อยปละละเว้นการ กระทำซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายและส่งผลกระทบที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรง สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่นายกรัฐมนตรีผ่าน ศบค. ทำเนียบรัฐบาล
          ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว อาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณี ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทาง หรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วย
          ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.2564 เป็นต้นไปเป็นอันว่า 5 จังหวัดที่มีความสับสนเกิดขึ้นว่ามาตรการควบคุมเป็นอย่างไรนั้น ก็ชัดเจนเสียทีว่า ทั้ง จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร มีมาตรการควบคุมสูงสุด การเข้าออก 5 จังหวัดนี้จะต้องมีหนังสือรับรอง และหากมีการฝ่าฝืนใดๆ จะมีโทษหนักระดับจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เลยทีเดียว
          ก็หวังว่าจะคุมสถานการณ์ได้ในเร็ววัน และหวังว่ากรณีบ่อนที่ระยอง รวมทั้งบ่อนในจังหวัดอื่นๆ จะถูกจัดการได้จริงๆ ไม่ใช่ลูบหน้าปะจมูกอย่างที่เกิดขึ้น
          ในส่วนของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 86 ล้านคน โดยทวีปอเมริกา ยุโรปยังมีการติดเชื้ออย่างหนาแน่น ที่น่าจับตาคือสหราชอาณาจักรและบราซิล สำหรับประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 365 คน ในจำนวนนี้มาจากต่างประเทศอยู่ในระบบกักกัน 1 6 ราย และติดเชื้อในประเทศ 249 คน ซึ่งการระบาดในรอบใหม่พบผู้ติดเชื้อใน 56 จังหวัด และสถานการณ์ของโรคยังอยู่ในระยะที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างชะลอตัว ไม่ใช่เพิ่มขึ้นในระดับที่ตกอกตกใจกัน อย่างไรก็ตามยังต้องไม่ประมาทและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ในชนต่อไป โดยเฉพาะ จ.สมุทรสาคร และใกล้เคียงเพิ่มเติม
          นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับกรณีโรงงานพัทยาฟู้ดประเทศไทยจำกัด ซึ่งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีคนงาน ประมาณ 3,000 คน จากการตรวจเชิงรุกพบติดเชื้อ 900 คน แต่ประชาชนสงสัยว่าตัวเลขนี้หายไปไหน ขอชี้แจงว่า ตัวเลขนี้มีการรายงานไปแล้วเมื่อหลายวันก่อนหากยังจำกันได้ มีการตรวจเชิงรุกวันแรกพบติดเชื้อ 500 กว่าราย และต่อมาก็ค่อย ๆ ทยอยพบอีก 400 กว่าราย ดังนั้น ตัวเลขไม่ได้หาย แค่รายงานไปแล้ว
          ส่วนการจัดการกับผู้ติดเชื้อฯ นั้นทางโรงงานได้จัดโซนตั้ง รพ. สนาม แยกผู้ติดเชื้อกับไม่ติดออกจากกัน คล้ายกับที่ตลาดกลางกุ้งดำเนินการ ซึ่งที่ตลาดกลางกุ้งเข้าใจว่า น่าจะจัดเป็นโซนปลอดภัยได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ที่โรงงานดังกล่าว ส่วนใหญ่มีอาการน้อย เมื่อพ้น 10 วัน จะถือว่าไม่แพร่เชื้อ ส่วนคนงานที่เหลือก็อยู่ในโรงงาน และมีการตรวจเป็นระยะเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อกับผู้ไม่ติดเชื้อออกจากกัน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าผู้ติดเชื้อจะไม่มีการ เล็ดลอดออกมาสู่ชุมชน จะมีการดูแลจนหายดีหรือไม่แพร่เชื้อแล้วถึงจะสามารถออกมาสู่ชุมชนได้
          อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องผลิตภัณฑ์ อาหารกระป๋องที่ออกมาจากโรงงานแห่งนี้สามารถรับประทานได้ หรือไม่นั้น ขอย้ำว่าในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องนั้น จะมี มาตรการฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน มีการใช้ความร้อน และมีการบรรจุภัณฑ์อย่างดี ความร้อนที่ใช้สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เป็น อย่างดี รวมทั้งจุดที่มีคนงานติดเชื้อฯ ก็จะแยกคนงานออกและทำ ความสะอาด อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้ลงไปดูแลกำกับอย่างเข้มงวด ถ้าส่วนไหนไม่มีความปลอดภัยจะไม่ปล่อยให้ออกมา เด็ดขาด จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรการที่ดำเนินการอยู่
          ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และปฏิบัติราชการรองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการสอบสวนผู้ป่วยกลุ่มก้อนต่างๆ ทั้งสถานบันเทิง บ่อนพนัน สนามชนไก่ คาดว่าอีก 2 สัปดาห์ ยังคงต้องพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากพื้นที่เดิมที่มีการระบาด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรค เพื่อสกัดกันการแพร่เชื้อ โดยในส่วนของการติดเชื้อในบ่อนพนัน จ.ระยอง พบป่วยรวม 225 คน ใน 7 อำเภอ ใน จ.ระยอง จากนั้นกระจายไปหลายจังหวัด ส่วน สนามชนไก่ จ.อ่างทอง พบป่วยเพิ่ม 28 คน ทำให้มีผู้ป่วย รวม 76 คน แบ่งเป็นอ่างทอง 59 ราย สิงห์บุรี 4 ราย พระนคร ศรีอยุธยา 4 ราย ลพบุรี 4 รายสุพรรณบุรี 2 ราย นนทบุรี 1 ราย และขอนแก่น 2 ราย ขณะนี้กลุ่มสถานบันเทิงย่านปิ่นเกล้า ห้างพาต้า พบป่วยเพิ่ม 23 คน ทำให้มีผู้ป่วย 105 คน
          ทั้งนี้ขอให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้สังเกตอาการตนเอง 14 วัน ในระหว่าง 14 วันถ้ามีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ไม่ได้รับรส สงสัยว่าติดเชื้อขอให้สวมหน้ากากและเดินทางไปขอรับการตรวจวินิจฉัยที่สถานพยาบาล โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยรถสาธารณะ อาจเป็นไปได้ให้เดินทางโดยรถส่วนตัว
          วันนี้ประชาชนการ์ดไม่ตก และป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ให้ได้โดยเร็ว

 pageview  1204834    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved