Follow us      
  
  

สยามกีฬา [ วันที่ 19/07/2564 ]
ป่วยสูงเป็นสถิติ11,397ดับ101 ไทยเร่งพัฒนาอีก3วัคซีน

 ติดเชื้อนิวไฮ 11,397 ราย เสียชีวิตอีก101 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 116,135 ราย อาการหนัก 3,464 ราย หายป่วยเพิ่ม 5,726 ราย ศบค.จ่อล็อกดาวน์ 100% จันทร์นี้ มาตรการเข้มปิดเต็มระบบ ทั้งกิจการ-บังคับอยู่บ้าน หลังติดโควิดทะลุหมื่นคน ตายเกิน 100 นายกฯ กำชับหน่วยฉีดวัคซีนโควิต-19 เข้มงวดมาตรการเว้นระยะห่างประชาชน ผู้รับบริการ เผยยอดฉีดวัคซีนในไทยสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน สธ.เคลียร์ปม จม.แอสตร้าฯ ยันเดิน หน้าเจรจาขอวัคซีนโควิด 61 ล้านโดส ในสิ้นปี 64 ย้า! ฉีดสูตรเอสเอ (SA) บุคคลทั่วไป เว้นสูงวัย พื้นที่เสี่ยงคงแอสตร้าฯ 2 เข็ม
          ติดเชื้อพุ่ง11,397รายดับ101ราย
          ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,397 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อทั่วไปในประเทศ 11,070 ราย ติดเชื้อจากผู้เดินทางต่างประเทศ 9 ราย และติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขังเพิ่ม 318 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 374,523 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 63 รวม 403,386 ราย หายป่วยเพิ่มวันนี้ 5,726 ราย หายป่วยสะสม 256,484 ราย หายป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 63 รวม 283,910 ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิต 101 คน เสียชีวิตสะสม 3,247 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 รวม 3,341 คน ส่วนผู้ป่วยรักษาอยู่ 116,135 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 67,835 ราย โรงพยาบาลสนาม 48,300 ราย อาการหนัก 3,464 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 846 ราย “ขณะที่จำนวนผู้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - วันที่ 17 กรกฎาคม รวม 14,223,762 โดส ใน 77 จังหวัด จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 10,780,432 ราย และเข็มที่ 2 สะสม 3,443,330 ราย
          ส่วนผู้เสียชีวิต 101 ราย แบ่งเป็น ชาย 52 คน หญิง 49 คน โดยกรุงเทพมหานครเสียชีวิตสูงสุด 60 คน สมุทรปราการ 15 คน นครปฐม 5 คน ปัตตานี 5 คน นครนายก 4 คน สงขลา 2 คน นราธิวาส ชลบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครสวรรค์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา หนองคาย จังหวัดละ 1 คน
          ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โควิด-19 ยังคงติดจากคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า การเข้าไปสถานที่แออัด พลุกพล่าน พื้นที่ระบาด เป็นต้น ส่วนผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย แบ่งเป็น อาหรับเอมิเรตส์ 4 ราย กัมพูชา 4 ราย และ สหราชอาณาจักร 1 ราย
          ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก 190,754,523  ราย เสียชีวิต 4,098,678 ราย รักษาหาย 173,815,130 ราย ประเทศที่ติดเชื้อสูงที่สุด 5 อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,953,937 ราย, อินเดีย 31,105,270 ราย, บราซิล 19,342,448 ราย, รัสเซีย 5,933,115 ราย,ฝรั่งเศส 5,855,198 ราย
          ศบค.จ่อล็อกดาวน์100%
          นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุม ศบค.วาระเร่งด่วนในวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ศบค.ได้หารือร่วมกับคณะแพทย์และเร่งหาข้อสรุปแนวทางและมาตรการสำคัญเพื่อควบคุมและหยุดยั้งการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งประเมินผลจากมาตรการที่ประกาศใช้ที่ผ่านมา ซึ่งยังคงไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ ดังนั้น เพื่อให้การแพร่ระบาดและการสูญเสียน้อยลงให้มากที่สุด ศบค.และคณะแพทย์ เห็นพ้องว่าจำเป็นต้องยกระดับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งจะต้องกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ. ศบค. ได้สั่งให้หน่วยงานจัดทำแผนและดำเนินการช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนควบคู่กันไปด้วย เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านต่างๆ
          “ดังนั้น เพื่อการเตรียมความพร้อมและให้ประชาชนได้เตรียมตัว นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ ศบค. กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทย์ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนล่วงหน้าก่อนจะมีการประกาศใช้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมาก” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
          สำหรับมาตรการที่บังคับใช้ ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2563 อาทิ ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยงตามที่แต่ละจังหวัดได้มีคำสั่ง, การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค เช่น สนามมวย สนามกีฬา สถานประกอบการ อาบอบนวด และนวดแผนโบราณ สปา สถานที่ออกกำลังกาย (ฟิตเนส) สถานบันเทิง ฯลฯ การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร, ห้ามกักตุนสินค้า ทั้งยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน, การห้ามชุมนุม หรือห้ามทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน, ห้ามเสนอข่าวเท็จ และห้ามออกนอกเคหสถานเว้นแต่มีความจำเป็น เป็นต้น
          ยอดฉีดวัคซีนไทยอันดับ2อาเซียน
          น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  จากกรณีที่มีรายงานภาพข่าวที่มีประชาชนจำนวนมากไปรอฉีดวัคซีน ณ จุดบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลบางแห่งและไม่มีการเว้นระยะห่าง และมีการชี้แจงของผู้ดูแลพื้นที่ในเวลาต่อมาว่าเกิดจากประชาชนมา ณ จุดบริการก่อนเวลานัดหมายนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีข้อห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงกำชับให้หน่วยให้บริการแต่ละหน่วยเพิ่มความระมัดระวังเรื่องของการจัดคิวและให้ข้อมูลเวลารับวัคซีนแก่ประชาชนที่ชัดเจน รวมถึงมีมาตรการจัดการในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวด
          ทั้งนี้ ข้อมูลการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนไทยทั่วประเทศ ณ วันที่ 17 ก.ค. 2564  รวมอยู่ที่ 14.13 ล้านโดส ซึ่งจากข้อมูลที่รวบรวมโดยกระทรวงการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) พบว่าเป็นปริมาณการฉีดวัคซีนที่สูงเป็นอันดับ2 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซียที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 57.48 ล้านโดส ขณะที่ฟิลิปปินส์ฉีดวัคซีนแล้ว 14.07 ล้านโดส มาเลเซีย 13.62 ล้านโดส กัมพูชา 9.67 ล้านโดส เป็นลำดับที่ 3-5 ในอาเซียน ตามลำดับ
          ไทยกำลังพัฒนาวัคซีน3ตัว
          น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่เพียงพอ ทั้งในส่วนที่รัฐบาลจัดหาเพื่อฉีดให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและวัคซีนทางเลือก โดยให้จัดหาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 100 ล้านโดสในปี 2564 รวมถึงเป้าหมายปี 2565 ตามมติของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่ได้เห็นชอบให้ปรับกรอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เป็น 120 ล้านโดส
          นอกจากการจัดหาจากผู้ผลิตต่างประเทศแล้ว วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาในประเทศจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงวัคซีนอย่างครอบคลุม โดยสถานบันวัคซีนแห่งชาติได้รายงานข้อมูลล่าสุดว่า การการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในไทยมีความคืบหน้าไปมาก บางชนิดเข้าสู่เฟสการทดลองในคนแล้ว โดยคาดว่าวัคซีนที่พัฒนาในประเทศจะสามารถนำมาใช้ในประเทศได้ในปี 2565
          สำหรับวัคซีนที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศไทยขณะนี้มี 3 ชนิด คือ
          1. วัคซีนชนิดชนิด mRNA CU-Cov19 พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย อยู่ระหว่างขั้นตอนการทดสอบในคน 2. วัคซีนชนิดเชื้อตาย HXP-GPOVac ที่พัฒนาโดย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบัน PATH สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างการทดสอบในคน 3. วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax1 เป็นวัคซีนที่พัฒนาจากใบพืชตระกูลยาสูบ พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพไทยกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านขั้นตอนการทดลองในสัตว์ทดลองแล้วเตรียมการเข้าสู่การทดลองในคน
          สธ.เปิดไทม์ไลน์แอสตร้าฯ
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเด็นการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของประเทศไทย ภายหลังจากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไปเมื่อวันที่ 20 ม.ค.64 ได้จัดส่งวัคซีนมาแล้ว ดังนี้ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ล็อตแรก จำนวน 117,300 โดส , วันที่ 28 พ.ค. 242,100 โดส , วันที่ 4 มิ.ย. 1,787,100 โดส , วันที่ 16 มิ.ย. 610,000 โดส , วันที่ 18 มิ.ย. 970,000 โดส , วันที่ 23 มิ.ย. 593,300 โดส , วันที่ 25 มิ.ย. 323,600 โดส , วันที่ 30 มิ.ย. 846,000 โดส , วันที่ 3 ก.ค. 590,000 โดส , วันที่ 9 ก.ค. 555,400 โดส , วันที่ 12 ก.ค. 1,053,000 โดส และ วันที่ 16 ก.ค. อีก 505,700 โดส รวมกว่า 8,193,500 โดส
          ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการแลกเปลี่ยนวัคซีนระหว่างประเทศ โดยนำวัคซีนเก่ามาให้ก่อน และคืนด้วยวัคซีนใหม่ อย่างเช่นที่ประเทศอิสราเอลทำร่วมกับเกาหลีใต้ นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการเจรจากับต่างประเทศเพื่อขอแลกเปลี่ยนวัคซีนมาใช้ในประเทศไทยก่อนนั้น ที่ผ่านมาก็มีการเจรจากับหลายประเทศ เช่น ที่ญี่ปุ่นบริจาควัคซีนแอสตร้าฯ ให้ไทย และปลายเดือนนี้มีอีก 1 ประเทศ ที่ก่อนหน้านี้เรามีการเจรจาเพื่อขอแลกวัคซีนแอสตร้าฯ ที่เขามีเหลือเนื่องจากจองไว้เยอะ และต่อมาเขามีการเปลี่ยนไปใช้วัคซีนชนิดอื่น ไทยจึงเจรจาขอแลกวัคซีนนั้นมาใช้ก่อน ล่าสุดเขาก็จะเปลี่ยนมาเป็นการบริจาคให้เราแทน ดังนั้นขอชี้แจงว่าเรามีการเจรจาอยู่ตลอด แต่กรณีที่ยังอยู่ระหว่างเจรจาไม่สำเร็จก็เลยยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ
          นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ส่วนวัคซีนชนิดโปรตีน ซับยูนิต เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ทั่วโลกมีอยู่ 3 ประเทศ ที่กำลังพัฒนา คือโนวาแวค สหรัฐอเมริกา บริษัทที่ประเทศจีน และที่ประเทศคิวบา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งการจัดซื้อวัคซีนมาใช้ในประเทศ และปกติในการเจรจาตรงนี้จะมีการเจาต่อในเรื่องของการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้วย
          เคลียร์ปม จม.แอสตร้าฯ
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงจดหมายการเจรจาข้อมูลที่มีการเปิดเผยตามที่เป็นข่าวไปเมื่อวานนี้(17 ก.ค.) ว่า จดหมายที่มีการเปิดเผยออกไป เป็นการที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ส่งถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.64 ในเนื้อหาทางบริษัทฯ ขอบคุณ รมว.สาธารณสุข ที่สนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตแอสตร้าฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงมัลดีฟส์ ไต้หวันและบางประเทศที่สามารถส่งวัคซีนออกไปได้ รวม 8 ประเทศ และรายงานว่าสิ่งที่ทำมามีอะไรบ้างยกตัวอย่างเช่น การส่งวัคซีนให้ไทย
          ประการต่อไปในหนังสือพูดถึงจำนวนของวัคซีนที่มีการสั่งจองกับแอสตร้าฯ โดยไทยสั่งจองมากที่สุด 61 ล้านโดสใน 8 ประเทศ คิดเป็น 1 ใน 3 ของวัคซีนที่มีการจอง ซึ่งเขายืนยันว่าจะส่งวัคซีนให้เราประมาณอย่างน้อย 1 ใน 3 ของวัคซีนที่ผลิตได้ แล้วยังยืนยันว่าจะพยายามส่งให้เราครบถ้วนตามสัญญา
          “ถ้าสังเกตตอนทำสัญญาที่เราจอง ที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 27 พ.ย.63 ตอนนั้นการผลิตวัคซีนยังไม่ได้แม้แต่ขวดเดียว ฉะนั้นในการทำสัญญาจองล่วงหน้า คงเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุว่าเดือนไหนจะส่งวัคซีนเป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่ในสัญญาระบุไว้คือในแต่ละครั้งจะมีการเจรจาเป็นรายเดือน ว่าแต่ละเดือนแล้วต้องการเท่าไหร่ และทางกรมควบคุมโรคได้ทำหนังสือถึงบริษัทแอสตร้าฯ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 เม.ย.64 เพราะกำหนดการกระจายวัคซีนจะเริ่มเดือน มิ.ย. เราจึงแจ้งเขาล่วงหน้าประมาณ 1 เดือนและในทุกเดือน และในหนังสือระบุว่าเราจะขอวัคซีนเดือนมิ.ย. 6 ล้านโดส ก.ค. 10 ล้านโดส ส.ค. 10 ล้านโดส ก.ย. 10 ล้านโดส ต.ค. 10 ล้านโดส พ.ย. 10 ล้านโดส และ ธ.ค. 5 ล้านโดส ครบ 61 ล้านโดส เป็นหนังสือที่เราทำถึงเขา เพื่อยืนยันว่าเราต้องการวัคซีนเท่าไหร่ แต่อย่างที่เรียนว่าการส่งมอบขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตของเขาว่าได้มากน้อยแค่ไหน และเขาก็จะจัดส่งให้เรา ดังนั้น สิ่งที่เราขอไปไม่ได้แปลว่าเราจะได้รับตามที่ขอ การส่งมอบจะเป็นการเจรจาทั้งสองฝ่าย” นพ.โอภาส กล่าว
          เมื่อถามว่าในจดหมายมีการระบุตัวเลขการส่งวัคซีนที่ 3 ล้านโดสต่อเดือน นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลเท่าที่เห็นในหนังสือได้อ้างอิงการประชุมไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.ย.63 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยในเดือน ก.ย.63 ตอนนั้นมีการสอบถามว่า ความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยมีเท่าไหร่ ข้อมูลตอนนั้น คือ ฉีดได้ 3 ล้านโดส แต่ความเป็นจริง กรมควบคุมโรคไม่เคยบอกเป็นทางการ ว่าเราจะสามารถฉีดได้ 3 ล้านโดส เพราะจริงๆ เรามีการแจ้งเป็นทางการกับแอสตร้าฯ ว่า เรามีขีดความสามารถฉีดได้ถึง 10 ล้านโดส หากมีวัคซีนเพียงพอ
          ฉีดสูตรเอสเอให้บุคคลทั่วไป
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนกระจายวัคซีนโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ว่า ภาพรวมแผนการฉีดวัคซีนตามศักยภาพ เราประมาณไว้อย่างน้อยเดือนฉีด 10 ล้านโดส โดยขณะนี้ มีวัคซีน 2 ชนิด คือ ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า จะส่งให้จังหวัดต่างๆ และส่งให้กลุ่มเป้าหมายหลักขณะนี้ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
          นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยช่วงแรกๆ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และฉีดไปค่อนข้างครบถ้วนแล้ว กลุ่มต่อมา คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อและเสียชีวิตสูง จากข้อมูลพบเกิน 70% เป็นกลุ่มดังกล่าว ดังนั้น การกระจายกลุ่มนี้จะมากที่สุด นอกจากนั้น จะฉีดให้กับพื้นที่ระบาดสุด ตอนนี้คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่อไปก็จะเป็นการป้องกันควบคุมโรคและต่างจังหวัด เพราะฉะนั้น แผนการกระจายวัคซีนแต่ละช่วงเวลาจะปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาตามสถานการณ์ระบาด
          เมื่อถามถึงแผนสำรองกรณีหากแอสตร้าฯ ไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนสลับชนิด รวมถึงการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค นพ.โอภาส กล่าวว่า แผนสำรองจะมีการหาวัคซีนจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมตามสถานการณ์ อย่างที่มีการเจรจาวัคซีนไฟเซอร์ เป็นต้น ส่วนต้องเอาซิโนแวคเข้ามาอีกหรือไม่นั้น ก็เป็นไปตามกรอบ ครม. เห็นชอบและอนุมัติงบประมาณ แต่สถานการณ์วัคซีนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่ผ่านมาวัคซีนซิโนแวค ก็มีประสิทธิภาพ เพราะช่วยลดอาการป่วยหนักจนถึงเสียชีวิต
          เมื่อมีการสลับชนิดวัคซีน จะต้องมีการปรับสัดส่วนการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าฯ อย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ตอนนี้ก็มีการสลับวัคซีนโควิด-19 (cross vaccination) วัตถุประสงค์ พบว่าหลายประเทศมีการสลับชนิด ซึ่งสามารถทำให้เพิ่มภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างเดลต้าได้ดียิ่งขึ้น
          นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการศึกษาของไทยพบว่า หากใช้เข็ม 1 เป็นซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ จะทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นใกล้เคียงแอสตร้าฯ 2 เข็ม และขึ้นสูงกว่าการติดเชื้อธรรมชาติ และข้อดีอีกอย่าง คือ จากเดิมแอสตร้าฯ 2 เข็มต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ และต้องรออีก 2 สัปดาห์กว่าวัคซีนสร้างภูมิฯ เต็มที่ ดังนั้น ต้องใช้เวลาเกือบ 4 เดือนกว่าผู้ที่รับวัคซีนจะได้มีภูมิฯเต็มที่
          “แต่หากสลับเป็นซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าฯ เข็ม 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ภูมิจะขึ้น แปลว่า จะใช้เวลาเพียง 5-6 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันจะใกล้เคียงกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ก็จะทำให้เรามีภูมิต้านทานต่อเชื้อได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ระยะต่อไปเราจะพยายามให้ใช้สูตรนี้เป็นวัคซีนหลักในการฉีดให้คนประเทศไทย ยกเว้นบางกรณี ที่อาจจะต้องใช้สูตรเดิม จากการคำนวณในแต่ละเดือนใช้ซิโนแวค 4-5 ล้านโดส และแอสตร้าฯ ประมาณ 5-6 ล้านโดส ซึ่งก็จะสอดคล้องกับที่เราหาได้” นพ.โอภาส กล่าว

 pageview  1204270    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved