Follow us      
  
  

สยามกีฬา [ วันที่ 22/04/2564 ]
โควิดป่วนหนัก สิ้นลมอีก2คน เจอเพิ่ม1,458คน เร่งหาวัคซีน

 ศบค.รายงาน สถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ประจำวันที่ 21 เม.ย. 64 ยอดผู้ติดเชื้อยังสูงพบติดเพิ่ม 1,458 ราย รักษาตัวอยู่เกือบ 2 หมื่น รายแล้ว รายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เผยกำลังสอบสวนเชิงลึก หลังพบ 6 ราย ฉีดวัคซีนซิโนแวค เกิดอาการคล้ายอัมพฤกษ์ คาด 2 วันมีคำตอบชัดเจน และยังไม่ต้องหยุดฉีด ด้าน ศบค. ยันไม่ใช่โรคอัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค เผยแค่มีอาการคลาย ระบุทุกคนอาการดีขึ้นแล้ว ขอให้ติดตามการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนสาวลำปางตรวจโควิด 5 ครั้งถึงเจอ พบเจ็บคอ ไข้สูงมาหลายวัน นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยม รพ.สนาม เอราวัณ 2 ของ กทม. พร้อมรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 สั่งเพิ่มคู่สาย  1668, 1669 เผย พร้อมใช้มาตรการแรงขึ้นหากคุมโควิดไม่อยู่
         โควิดไทยยังสูง 1,458 คน
         เมื่อวันที่ 21 เม.ย. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก รายงานสถานการณ์โควิดประจำวัน โดยพบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 1,458 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 46,643 ราย รักษาตัวอยู่ 17,162 ราย หรือ 62.97 เปอร์เซ็นต์ มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย สะสม 110 ราย
          สำหรับรายที่ 109 เป็นหญิงไทย อายุ 56 ปี กทม. โรคประจำตัว คือ เบาหวาน ความดัน ไตวายเรื้อรัง และโรคอ้วน ประวัติ วันที่ 10 เม.ย. เริ่ม มีไข้ ไอ วันที่ 13 เม.ย.ตรวจหาเชื้อ วันที่ 14 เม.ย. ยืนยันติดเชื้อ วันที่ 17 เม.ย. เข้ารับการรักษาเหนื่อย หอบ ผลเอกซเรย์ พบปอดอักเสบรุนแรง วันที่ 19 เม.ย. หายใจล้มเหลวและเสียชีวิต
          รายที่ 110 ชายไทยอายุ 32 ปี จ.นนทบุรี โรคประจำตัว คือ ภูมิแพ้ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยวันที่ 4 เม.ย. ต่อมา 8 เม.ย. มีอาการไข้ต่ำ ไอ เสมหะ ปูนเลือด 15 เม.ย. เหนื่อยมากขึ้น 16 เม.ย. เข้ารับ การรักษาที่ รพ.เอกซเรย์ มีปอดอักเสบรุนแรง ต่อ มาอาการแย่ลงและเสียชีวิตวันที่ 19 เม.ย.
          พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ทิศทางการติดเชื้อพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูง บางวันลดลงต่ำแต่ เรายังวางไว้ไม่ได้เพราะยังขึ้นๆ ลงๆ แง่การชะลอตัว ขณะนี้ไม่เกิน 1 พันรายเศษ เรากำลังพยายามอย่างถึงที่สุด เพื่อไม่ให้ตัวเลขสูงไปกว่านี้ ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุก พบว่าตัวเลขยังค่อนข้างสูงเช่นกัน
          สอบฉีดซิโนฯเป็นอัมพฤกษ์
          จากกรณี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ปรากฏหลังฉีดวัคซีนเชื้อตาย Sinovac เกิดอัมพฤกษ์ขึ้น 6 รายที่จังหวัดระยอง และยังมีอีกหนึ่งรายที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
          ล่าสุด นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวถึงกรณีมีรายงานมีผู้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวคเกิดอาการอัมพฤกษ์ 6 รายที่ จ.ระยอง ว่า ขณะนี้มีรายงานหลังการฉีดวัคซีนของซิโนแวค มีอาการเกิดขึ้นพร้อมกันหลายราย เป็นอาการคล้ายอัมพฤกษ์ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล คาดว่า 1-2 วันจะมีคำตอบที่ชัดเจน ก่อนสรุปและแถลงต่อประชาชนอีกครั้ง
          ทั้งนี้เมื่อถูกถามว่า ต้องระงับการฉีดวัคซีนของซิโนแวคหรือไม่ นพ.ทวี กล่าวว่า ยังก่อน เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขจะสั่งอีกครั้งและอยู่ระหว่างการสืบข้อมูลเชิงลึก
          ศบค.ยันไม่ใช่อัมพฤกษ์
          พญ.อภิสมัย ศรีรัสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีการฉีดวัควีนซิโนแวคมี 6 คนอาการอัมพฤกษ์ ว่า ที่ประชุมมีการรายงานเคสดังกล่าว ในภาพข่าวมีรายงานว่าเกิดอัมพฤกษ์ จึงเกิดการตั้งคำถามอยากให้สาธารณสุข (สธ.) ชี้แจง ซึ่ง สธ.มีกรรมการเข้ามาสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อายุรแพทย์โรคสมอง
          พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ล่าสุดรายงานเช้าวันนี้ อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เรียกว่าโรคอัมพฤกษ์ แต่มีอาการคล้ายอัมพฤกษ์ ที่ปรากฏเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกชา ประสาทสัมผัสที่ไม่รู้สึก จากรายงานเบื้องต้น ทุกคนที่มีรายงานดังกล่าวมีอาการฟื้นตัวดีขึ้น ขอให้ติดตามการรายงานของ สธ.
          “ขอให้บริโภคข่าวโดยตั้งคำถามเสมอ เพราะทุกข่าวที่ปรากฏและแชร์ออกไป อาจไม่ใช่ข่าวจริง แม้จะเป็นนักวิชาการ อาจารย์ คุณหมอที่นับถือ ก็ขอให้ตรวจสอบและรับฟังรายงานรอบด้าน สธ.จะมีการสอบสวน และเอาข้อมูลหลักฐานมายืนยันขอให้ติดตามในช่วงบ่ายวันนี้” พญ.อภิสมัย กล่าว
          สาวตรวจโควิด 5 ครั้งถึงเจอ
          เฟซบุ๊กเพจ ศูนย์ข้อมูล Covid-19 จังหวัดลำปาง รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัด ประจำวันที่ 20 เม.ย.64 พบว่ามียอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด 135 ราย โดยทั้งหมดกำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
          ต่อมามีการเปิดเผยไทม์ไลน์ผู้ป่วย พบว่าที่น่าสนใจคือผู้ป่วยยืนยันรายที่ 121 ซึ่งไปเที่ยวร้าน Warm up ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 เม.ย.
          โดยเมื่อวันที่ 6 เม.ย.กลับมาบ้านและแยกกักตัว หลังพบข่าวมีผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิง
          ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. ขับรถยนต์ส่วนตัวไปตรวจเชื้อ ที่โรงพยาบาลเขลางค์-ราม ครั้งที่ 1 ผลการตรวจไม่พบเชื้อ
          วันที่ 8 เม.ย. เริ่มมีอาการเจ็บคอ จึงขับรถไปตรวจที่ โรงพยาบาลเขลางค์-ราม ครั้งที่ 2 ผลการตรวจไม่พบเชื้อ
          วันที่ 12 เม.ย. มีไข้สูง อาการไม่ดีขึ้น ไปตรวจโควิด ครั้งที่ 3 ที่โรงพยาบาลลำปาง ผลการตรวจไม่พบเชื้อ
          วันที่ 16 เม.ย. มีอาการไข้สูง พ่อขับรถส่วนตัวไปส่งตรวจที่โรงพยาบาลเขลางค์-ราม ครั้งที่ 4 ผลการตรวจไม่พบเชื้อ แต่นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
          ต่อมาวันที่ 18 เม.ย. ตรวจหาเชื้อโควิด ครั้งที่ 5 ขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาลเขลางค์-ราม ผลการตรวจพบเชื้อ จึงย้ายมารักษาตัวที่โรงพยาบาลลำปาง
          ไทยเร่งเจรจาวัคซีนหลายเจ้า
          เมื่อวันที่ 21 เม.ย.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มอบให้กระทรวงสาธารณสุข จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากผู้ผลิตไฟเซอร์ ว่า ท่านนายกฯ สนับสนุนสธ. ในการจัดหาวัคซีนทุกชนิดที่มีความปลอดภัย ที่ไดรับการยอมรับทั่วโลก ไม่ได้ระบุเป็นยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง
          ทางทฤษฏีบอกว่าฉีดวัคซีนได้ร้อยละ 60 ของจำนวนประชากรก็จะมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว แต่ท่านนายกฯ ก็บอกให้เป็นแนวทางว่า ให้เผื่อไว้ที่ร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร เราก็พยายามจะหาวัคซีนให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใด
          “เวลาแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน 6 เดือนที่แล้ว ไม่มีใครบอกว่าจะส่งวัคซีนได้เมื่อไหร่ แต่ประเทศไทยเราสั่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 60 กว่าล้านโดส เจ้าอื่นก็เริ่มเข้ามาแล้ว จากที่เคยบอกว่า ส่งสิ้นปี 2564 ก็เลื่อนมาเป็นไตรมาส 3 ของปี เราก็เจรจาขอให้ส่งในปลายไตรมาส 2 ได้หรือไม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา” นายอนุทิน กล่าว
          นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สำหรับวันพรุ่งนี้ (22 เม.ย.) เราจะเจรจากับตัวแทนผู้ผลิตวัคซีนอีก 2-3 ราย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ วัคซีนจะส่งได้เมื่อไหร่ หากส่งได้ไตรมาสที่ 4 ก็ช้าเกินไป เพราะเราต้องทำให้เกิดความมั่นใจ ส่วนวัคซีนแอสตร้าฯ ที่ผลิตในประเทศไทย ก็ไม่ได้ช้า เพราะว่าเขาระบุในสัญญาตั้งแต่วันลงนามสัญญาในเดือนต.ค.2563 ว่าจะส่งให้ในวันที่ 1 มิ.ย.2564
          เมื่อถามว่าวัคซีนไฟเซอร์มีการหารือกันอย่างไรบ้าง ในจำนวน 10 ล้านโดส นายอนุทิน กล่าวว่า ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา ยังไม่มีการส่งใบเสนอราคามาเลยด้วยซ้ำ และเราก็ขอให้เขาเสนอมา
          “สมมติว่าพรุ่งนี้เขาส่งใบเสนอราคามา จะส่งให้ได้ 10 ล้านโดสภายในเดือน มิ.ย.หรือ เดือนก.ค. รับรองว่าคว้าหมับเลย และเงื่อนไขทุกอย่างก็มีเหตุผล อย่างเช่น เงื่อนไขที่เราพิจารณาไฟเซอร์ เพราะครอบคลุมถึงเด็กอายุ 12 ปีได้ และจากเดิมต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 เซียสเซส แต่ตอนนี้ใช้ -20 เซียสเซสซึ่งเราสามารถเก็บได้ตามมาตรฐาน
          แต่หากเป็น 2-8 เซียสเซสเก็บได้ 3 เดือน ถ้ามี 5-10 ล้านโดส ความสามารถฉีดของเราใช้เวลาเดือนกว่าๆ ก็หมดแล้ว ยิ่งทำให้เกิดเหตุผลที่เราจะนำมาพิจารณา ทุกอย่างที่อยู่เขาทำการทดสอบ ตอนนี้ไม่ได้พูดถึง -70 เซียสเซสแล้ว แต่ถ้าเขาบอกอีกคำว่า จะส่งให้ได้เร็ว เราก็จะรีบซื้อไปตามกฎหมายที่มี” นายอนุทิน กล่าว
          นายอนุทิน กล่าวว่า ตอนนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ไปเชิญผู้แทนจากวัคซีนสปุตนิก มาให้เราเจรจา ซึ่งเขาอยากให้รัฐบาลยืนยันตัวเลขว่าจะซื้อกี่โดส แต่เมื่อเรายืนยันไป เขาก็บอกว่าส่งได้สิ้นปี 2564 ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เราต้องคิด
          “ยืนยันว่า ท่านนายกฯ ไม่เคยไม่สนับสนุนให้คนได้รับวัคซีน มีแต่สนับสนุนให้ได้มากขึ้น ท่านพูดในที่ประชุมว่า ยังไงก็ต้องมีเงินสำหรับวัคซีนให้คนไทย ตรงนี้ก็เปิดไฟเขียวมาแล้ว เราก็ต้องทำให้สำเร็จ” นายอนุทินกล่าว
          เมื่อถามว่าวัคซีนไฟเซอร์ หากได้มาจะฉีดให้กลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มวัยรุ่นหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า หากเราได้มา 10 ล้านโดส เราก็ฉีดให้กลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ แต่ถ้าได้เพิ่มมากขึ้น ก็ฉีดกับกลุ่มทั่วไปได้ ซึ่งรัฐบาลฟังทุกเสียงแนะนำ “เราไม่ต้องการขี่ม้าตัวเดียว แต่เราต้องมีม้าหลักก่อน” นายอนุทินกล่าว
          นายกไม่อยากใช้ยาแรง
          เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม (เอราวัณ 2) สนามบางกอกอารีน่า เขตหนองจอก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 ของกรุงเทพมหานคร
          ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณกรุงเทพมหานคร ข้าราชการ บุคลากรทางการแพทย์ของกรุงเทพมหานคร ที่เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนาม (เอราวัณ 2) แห่งนี้ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยรัฐบาลทำงานทั้งเชิงรุกและตั้งรับ กำหนดแผนเผชิญเหตุ เพื่อให้พร้อมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ตลอดเวลา ซึ่งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยยึดตามมาตรฐานการป้องกันควบคุมโรค ทั้งระบบระบายอากาศ การจัดการขยะติดเชื้อ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ ซึ่งมีความชัดเจนในการแบ่งระดับอาการของผู้ป่วยเป็นสีๆ ได้แก่ สีเขียว คือ ผู้ป่วยอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการ หรืออาการน้อยๆ ไม่มีโรคร่วม อาการดีหมด จะส่งไปมายังโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel แต่หากมีอาการเข้ากลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง จะส่งต่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ และโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการรักษา รวมทั้งสั่งการให้กระทรวงกลาโหมจัดรถพยาบาลทหารเข้ามาให้การช่วยเหลือร่วมกับรถพยาบาลด้วย
          พล.อ.ประยุทธ์ ยังเน้นย้ำให้เร่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วนต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือหรือรับแจ้งเหตุผู้ที่มีอาการป่วยเข้าเกณฑ์ เพื่อให้เข้าถึงการอำนวยความสะดวก รวมถึงการดำเนินของรัฐบาลในการป้องกันการติดเชื้อทำเต็มรูปแบบตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
          นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในการเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลสนาม มั่นใจว่าเมื่อประชาชนทุกคนร่วมมือกันทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี และยังช่วยลดความเสี่ยงแพทย์ บุคลากรด้านสาธารณสุขในการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น
          ขณะเดียวกัน ยังให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานหนักและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ พร้อมกับเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทุกคนร่วมมือกันในวันนี้จะเกื้อหนุนให้การทำงานสำเร็จไปได้ด้วยดีในการดูแลประชาชนทั้งประเทศ ยืนยันว่ารัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่ให้พี่น้องประชาชนปลอดภัย จะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของทุกคนด้วย
          "มาตรการถ้ามันคุมไม่อยู่ก็ต้องแรงขึ้นๆ ซึ่งเราทุกคนคงไม่อยากไปถึงจุดนั้น ผมเห็นใจพี่น้องประชาชนรายได้น้อย เศรษฐกิจฐานรากเขาเดือดร้อน SME มีปัญหา รัฐบาลก็กำลังเตรียมมาตรการทางด้านเศรษฐกิจระยะนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก็ขอเวลาสักนิดนึง เพราะต้องเตรียมงบประมาณ แนวทาง หลายคนเสนอง่ายๆ จ่ายเงินไปๆ อย่างนั้นคงไม่ได้ทั้งหมด งบประมาณเราก็มีจำนวนจำกัด"
          เมื่อถูกถามว่าหากสถานการณ์แรงขึ้นจะมีการเคอร์ฟิวหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ถ้า 2 สัปดาห์นี้ควบคุมสถานการณ์ได้ ตัวเลขดีขึ้น ก็ไม่ต้องไปหนักกว่านั้น ใครจะอยากทำ พอทำมาระยะแรกก็ดี แต่ตอนนี้มันสมควรหรือยัง ก็ต้องเป็นระยะๆ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานเข้ามาทุกวันและอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ ย้ำว่ายังนำเข้าวัคซีนได้อยู่ จากนั้นนายกรัฐมนตรีชี้ให้ดูโรงพยาบาลสนามก่อนกล่าวว่า “เป็นผม ผมก็อยู่นะ ก็ดูแลดีที่สุดแล้ว”
          ส่วนเรื่องสายด่วน 1668, 1669 นั้น สั่งการไปแล้ว กำลังดำเนินการเพิ่มคู่สาย จะต้องมีคนรับสาย เพราะลองโทรแล้วมีปัญหาอยู่เหมือนกัน แต่ก็ต้องดูด้วยว่าที่ไม่รับเพราะอะไร
          2 หนุ่มไทยแพร่เชื้อที่ลาว
          สำนักข่าวสารประเทศลาว รายงานว่าคณะเฉพาะกิจเพื่อป้องกัน ควบคุมและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด สปป.ลาว ตรวจพบผู้ติด เชื้อโควิดในลาวเพิ่มอีก 28 คนภายในวันเดียว นับว่ามากที่สุดตั้งแต่มีผู้ติดเชื้อโควิดในลาว รวมยอดสะสมทั้งหมด 88 คน รักษาหายดีแล้ว 49 คน อยู่ระหว่างรักษาในโรงพยาบาล 39 คน
          สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 28 คนนั้น อยู่ ในนครหลวงเวียงจันทน์ 26 คน ติดเชื้อจากผู้ติดเชื้อรายที่ 59 เป็นนักศึกษาผู้หญิงที่ติดจากพี่สาว และ 2 ผู้ชายคนไทยที่ลักลอบเข้าประเทศลาวอย่างผิด กฎหมายแล้วนาเชื้อมาแพร่ระบาด ส่วนผู้ติดเชื้ออีก 2 คนอยู่แขวงจำปาสัก เป็นแรงงานที่เดินทางกลับ มาจากประเทศไทย
          อินเดียป่วยเฉียด 3 แสน
          เมื่อวันที่ 21 เม.ย. รอยเตอร์ รายงานความคืบหน้าสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ที่อินเดีย  หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันทำสถิติสูงสุดในโลกเกือบ 3 แสนราย และกรุงนิวเดลี เข้าสู่สภาวะล็อกดาวน์เต็มพิกัด 6 วัน
          ล่าสุด ปริมาณผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังคงสูงถึง 295,041 คน มีผู้เสียชีวิต 2,023 ราย ในรอบ 24ชั่วโมงที่ผ่านมาและระบบสาธารณสุขที่กรุงนิวเดลี อยู่ในภาวะกระเสือกกระสน เนื่องจากภาวะขาดแคลนก๊าซออกซิเจนและเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤต
          ศูนย์บริหารงานโรงพยาบาลรัฐของกรุง
          นิวเดลีร้องขอความช่วยเหลือด่วนที่สุดจากรัฐบาลอินเดีย โดยระบุว่า โรงพยาบาลของรัฐในกรุงนิวเดลี มีปริมาณก๊าซออกซิเจนเพียงพอให้กับผู้ป่วยวิกฤตอีกได้ไม่เกิน 8 ถึง 24 ชั่วโมงเท่านั้น ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเหลือเพียงพอแค่ 4 ถึง 5 ชั่วโมง
          สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลอินเดียในการส่งรถบรรทุก ออกซิเจนเหลวออกไปเติมให้กับโรงพยาบาลทั่วกรุงนิวเดลี ส่งผลให้วิกฤตดังกล่าวอยู่สภาวะที่ต้องวิ่งรถเติมกันแบบวันต่อวัน เนื่องจากปริมาณการใช้ก๊าซออกซิเจนให้ผู้ป่วยไอซียูเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
          ด้านผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มองว่าสาเหตุของการกลับมาระบาดระลอกใหม่ในอินเดียของโควิด-19 อาจเนื่องมาจากหลายพื้นที่มีการลด ผนที่มีการมาตรการและชาวอินเดียลดความระมัดระวังตัวลงหลังโครงการฉีดวัคซีนของอินเดียมีความรุดหน้าทำให้เชื่อว่าการระบาดสิ้นสุดลงแล้ว นำไปสู่การชุมนุมและจัดพิธีทางศาสนา
          ทั่วโลกป่วย 143.6 ล้าน
          เว็บไซต์ worldometers รายงานสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ประจำวันที่ 21 เม.ย. 64 โดยระบุ ณ เวลา 18.00 น. (เวลาไทย) ยอดติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่จำนวน 143,663,539 คน เสียชีวิตแล้ว 3,060,651 คน และรักษาหายแล้ว 122,034,344 คน ด้านสหรัฐอเมริกา ยังเป็น ชาติที่พบการติดเชื้อสูงสุดที่จำนวน 32,536,470 คน ตามด้วยอินเดีย 15,616,130 คน, บราซิล 14,050,885 คน, ฝรั่งเศส 5,339,920 คน และรัสเซีย 4,727,125 คน

 pageview  1205006    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved