Follow us      
  
  

สยามกีฬา [ วันที่ 04/11/2563 ]
ติดโควิดพุ่ง47ล้านมาเลย์ พม่าน่าห่วง

ศบค.เผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิต-19 ในไทย ประจำวันที่ 3 พ.ย.63 พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดใหม่ 10 ราย เดินทางมาจาก 9 ประเทศ เหลือผู้ป่วยรักษาอยู่ 133 ราย ด้าน นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เชื่อยอดป่วยทั้งโลกที่เพิ่มสูงต่อเนื่องเฉลี่ย 2 วัน ต่อ 1 ล้านคน จะทำให้สิ้นปี 2564 โลกจะป่วยทะลุเกิน 60 ล้านคน ชี้ระวังเพื่อนบ้านพรมแดนติดกันทั้งมาเลเซียและพม่า ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงอย่างน่าตกใจ ฟันกลางปี 2564 โลกมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ ขณะที่ สศช.รายงานความยากจนปี 62 เหลือ 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปีก่อน แต่ยังห่วงโควิด-19 กระทบความยากจนปี 63 กลับมาแย่ลงอีก ด้านยอดป่วยโลกล่าสุดทะยานสูงเกิน 47 ล้านคน ไปอยู่ที่จำนวน 47.4 ล้านคนแล้ว
          ติดเชื้อ 10 รายจากต่างแดน
          เมื่อวันที่ 3 พ.ย.63 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศประจำวัน ระบุพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 10 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกัน (Quarantine Facilities) โดยมาจากบาห์เรน 1 ราย, เยอรมนี 2 ราย, ซาอุดีอาระเบีย 1 ราย, อาเซอร์ใบจาน 1 ราย, รัสเซีย 1 ราย, สาธารณรัฐเช็ก 1 ราย, บังกลาเทศ 1 ราย, ฝรั่งเศส 1 ราย และอิสราเอล 1 ราย
          ส่วนจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 3,797 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 2,451 ราย และผู้ป่วยที่ตรวจพบในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 849 ราย โดยผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มอีก 10 ราย รวมเป็น 3,605 ราย
          สำหรับรายละเอียดของผู้ป่วยใหม่ 10 รายมีดังนี้ ที่มาจากบาห์เรน 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 27 ปี เข้าพักอยู่ใน State Quarantine ที่ จ.ชลบุรี, 1 ราย ที่มาจากซาอุดีอาระเบีย เป็นหญิงไทย อายุ 20 เข้าพักอยู่ใน State Quarantine กรุงเทพฯ
          1 ราย ที่มาจากบังกลาเทศ เป็นชาย สัญชาติบังกลาเทศ อายุ 36 ปี เข้าพักอยู่ใน Allternative State Quarantine จ.สมุทรปราการ 2 ราย มาจากเยอรมัน เป็นสามีและภรรยากัน โดยภรรยาเป็นหญิงไทย อายุ 49 ปี ส่วนสามีเป็นชาย อายุ 38 ปี State Quarantine ที่ จ.ชลบุรี
          1 ราย ที่มาจากอาเซอร์ไบจาน เป็นชายสัญชาติอาเซอร์ไบจาน อายุ 12 ปี เข้าพักอยู่ใน Allternative State Quarantine กรุงเทพฯ, 1 ราย ที่มาจากสาธารณรัฐเช็ก เป็นหญิงไทย อายุ 46 ปี เป็นแม่บ้าน State Quarantine จ.ชลบุรี
          ที่มาจากฝรั่งเศส 1 ราย เป็นชายสัญชาติฝรั่งเศส อายุ 33 ปี เป็นผู้จัดการโรงแรม เข้าพักอยู่ใน Allternative State Quarantine กรุงเทพฯ และที่มาจากอิสราเอล 1 ราย เป็นชายสัญชาติอิสราเอล อายุ 61 ปี เข้าพัก Allternative State Quarantine กรุงเทพฯ
          ป่วยโลกทะลุ 47 ล้านคน
          สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ณ วันที่ 3 พ.ย.63 เวลา 19.15 น.(เวลาไทย) ตามการรายงานของเว็บไซต์ worldometers ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องทะลุ 47 ล้านคน ไปอยู่ที่จำนวน 47,428,888 คนแล้ว ด้านยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 1,213,224 คน รักษาหายแล้ว 34,105,583 คน
          สหรัฐอเมริกายังเป็นชาติที่มียอดผู้ป่วยสูงสุดในโลก ที่จำนวน 9,568,275 คน ตามด้วย อินเดีย 8,267,623 คน, บราซิล 5,554,206 คน,รัสเซีย 1,673,686 คน, ฝรั่งเศส 1,466,433 คน,สเปน 1,313,087 คน, อาร์เจนตินา 1,183,131 คน,โคลอมเบีย 1,093,256 คน และสหราชอาณาจักร 1,053,864 คน
          สศช.ห่วงโควิดทำคนจนพุ่ง
          น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำปี 2562 พบว่า สัดส่วนคนยากจนลดลงจากร้อยละ 9.85 ในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือมีคนจน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแนวโน้มของความยากจนระหว่างปี 2541-ถึงปัจจุบัน สัดส่วนและจำนวนคนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคนยากจน 25.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.63 ในปี 2541 ลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน หรือร้อยละ 17.88 ในปี 2552 และลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน หรือร้อยละ 6.24 ในปี 2562
          สำหรับสถานการณ์ความยากจน 5 ปี(ปี 2558-2562) พบว่าสัดส่วนคนจนอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง คือ ปี 2559 และ 2561 โดยสัดส่วนคนยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 เกิดจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ปี 2561 เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ เงินบาทแข็งค่า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ซึ่งส่งผลสืบเนื่องต่อผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของธนาคารโลก
          ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ความยากจนระยะหลัง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารโลก ระบุว่า อาจเกิดจากความยากจนของไทยลดลงมากจากอดีตที่ผ่านมา ทำให้ครัวเรือนที่มีสถานะยากจนในปัจจุบันเป็นครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรังหรืออยู่ในกับดักของความยากจน ซึ่งต้องมีนโยบายแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด
          ทั้งนี้จากการวิเคราะห์กลุ่มคนยากจนระยะหลัง พบว่าครัวเรือนยากจน 1 ใน 3 เป็นผู้ไม่ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ มีการพึ่งพิงสูงโดยมีเด็กและผู้สูงอายุจำนวนมากในครัวเรือน และจบการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า อีกทั้งผู้มีงานทำที่ยากจนส่วนใหญ่ทำงานในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีรายได้น้อย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนมีความสามารถในการสร้างรายได้ได้น้อย
          สำหรับการปรับตัวลดลงของคนจนปี 2562 สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายความครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐปี 2562 โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง โดยปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น มาจากปี 2561 ที่มี 11.4 ล้านคน จากการที่รัฐบาลเปิดการลงทะเบียนรอบพิเศษ (พ.ค.-มิ.ย.61)
          ในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนรอบก่อนหน้า โดยผู้ที่มีบัตรจะได้รับการช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรายเดือน ได้แก่วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 200-300 บาท/เดือน ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะวงเงินรวมสูงสุด 1,500 บาท/เดือน และค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน อีกทั้งคนยากจนบางส่วนยังได้รับการเงินช่วยเหลือจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ และเงิน อุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
          อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนปี 2562 จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นวงกว้าง และยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนปี 2563 กลับไปแย่ลงอีกครั้ง
          คาดปีนี้ป่วยทะลุ 60 ล้าน
          นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แถลงถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกและในประเทศไทยว่า ขณะนี้อัตราการพบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 2 วัน 1 ล้านคน คาดไม่เกินสิ้นปีนี้ ผู้ป่วยทั่วโลกทะลุ 60 ล้านคน พร้อมจับตาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดในยุโรป เนื่องจากเข้าฤดูหนาว ทำให้คนส่วนใหญ่อยู่ ในอาคาร และไม่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย การป้องกันตัวเองลดลงตามวิสัย
          นายแพทย์ประสิทธิ์ยังเผยต่อว่า ประกอบกับในอาคารเมื่อปิดหน้าต่างมีสภาพคล้ายพื้นที่ปิด ทำให้อัตราการป่วยเพิ่มขึ้น และเริ่มกระทบต่อขีดความสามารถของสถานพยาบาลในการรองรับผู้ป่วย เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีอัตราป่วยเพิ่ม 1 แสนคนต่อวัน คาดไม่เกินสัปดาห์นี้ อัตราป่วยสะสม 10 ล้านคน ส่วนอัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มคู่ขนานเช่นกัน ส่วนที่ฝรั่งเศสมีการประกาศล็อกดาวน์รอบสอง แต่อัตราป่วยยังเพิ่ม 4-5 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่สหราชอาณาจักรที่ประกาศล็อกดาวน์ล่าสุดมีอัตราป่วยเฉลี่ย 2 หมื่นคนต่อวัน
          ส่วนในเอเชีย ประเทศที่ควบคุมได้ดีมี เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย มีอัตราป่วยค่อนข้างต่ำ ควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่ที่น่าห่วงคือประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับไทย ทั้งมาเลเซีย และเมียนมา โดยมาเลเซียมีอัตราการป่วยใหม่เพิ่ม 800-900 คนต่อวัน เพียงแค่ 10 วัน ก็มีอัตราป่วยสูง 8,000 คน เช่นเดียวกับที่เมียนมา อัตราป่วยเพิ่มขึ้นสูง มีผู้ป่วยสะสม 50,000 คนแล้ว ส่วนอัตราการตายเฉลี่ยต่อวันเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่อง ซึ่งใน 2 ประเทศนี้ มีพรมแดนติดกับไทย หากมีการลักลอบเข้าเมืองมาโดยไม่มีการติดตาม จะเป็นปัจจัยเสี่ยงส่งเสริมให้ไทยมีการติดเชื้อโควิด-19 รอบสอง
          สำหรับประเทศไทยการควบคุมโรคยังทำได้ดีมีผู้ป่วยรายใหม่ ร้อยละ 90 มาจาก state quarantine ดังนั้นอย่าชะล่าใจ ให้มีการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยในอาคาร และมีการเว้นระยะห่าง ล้างมือ เลี่ยงไปในพื้นที่ชุมชน
          เชื่อกลางปี 64 ได้วัคซีน
          นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าวัคซีนที่มีการทดลองและผลิตในทั่วโลก พบว่าแบ่งเป็นการทดลองในสัตว์ 88 บริษัท ทดลองในคนเฟสที่ 1 มี 35 บริษัท ทดลองในเฟส 2 มี 14 บริษัท ทดลองในคนเฟส 3 มี 11 บริษัท ซึ่งต้องมีการทดลองคนในทุกวันไม่ต่ำกว่า 30,000 คน โดยกระบวนการทดลองมีทั้งได้ยาจริง ยาหลอก และมี 6 บริษัท ที่เข้าสู่การทดลองเฟส 3 แต่อนุญาตให้ใช้ก่อนในกรณีฉุกเฉินบางพื้นที่ ซึ่งเมื่อผ่านการทดลองในสัตว์ ในคน ก็พบว่ามีความปลอดภัยระดับหนึ่ง
          "การทดลองวัคซีนใน 11 บริษัทนั้น มีทั้งของสหรัฐอเมริกา, จีน, เยอรมัน และรัสเซีย, อินเดีย และบริษัทร่วมผลิต ซึ่งทุกบริษัทคาดว่าจะสำเร็จได้ไม่ต่ำกว่ากลางปี 2021 โดยพบว่าการทดลองในสัตว์ โอกาสสำเร็จมีร้อยละ 7 การทดลองในคนมีโอกาส สำเร็จร้อยละ 20 และการทดลองวัคซีนในคนเฟส 3 มีโอกาสสำเร็จร้อยละ 50 เนื่องจากมีปัจจัยจากคนต่างพื้นที่ ต่างวัย อาจต่อสนองต่อการฉีดวัคซีนไม่เหมือนกัน ดังนั้นวัคซีนที่ดีสุดคือการดูแลตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ เลี่ยงการอยู่ในชุมชน"

 pageview  1204509    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved