Follow us      
  
  

สยามกีฬา [ วันที่ 16/10/2563 ]
ผวาระบาดรอบ 2 WHO แนะไทย 6 ข้อแผนป้องกัน

เสนอลดวันกักตัวเหลือแค่ 10
          "ศูนย์ข้อมูล COVID-19" รายงาน"ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19" วันนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 13 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 3,665 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิตคงเดิมอยู่ที่ 59 ราย ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 3,463 ราย อนามัยโลกถอดบทเรียนโควิด-19 ในไทย ช.6 จุดเด่น 6 ข้อเสนอแนะ เร่งปรับใช้โดยเร็วรับมือระบาดระลอกต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ "อนุทิน" ประกาศถึงเวลาไทยรุกกลับโควิด อีก 1-2 สัปดาห์ เตรียมพิจารณาลดวันกักตัวคนเข้าไทยเหลือ 10 วัน
          พบผู้ติดเชื้อใหม่ 13 ราย
          เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ว่าประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 13 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,665 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 59 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 3,463 ราย ยัง คงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 143 ราย
          ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 13 ราย เป็นคนไทย 9 ราย สัญชาติซีเรีย 1 ราย ทั้งหมดเดินทางมาจากต่างประเทศ จากเลบานอน 1 ราย เมียนมา 3 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย อิตาลี 1 ราย ซูดานใต้ 3 ราย และ เอธิโอเปีย 1 ราย เข้าพักสถานที่กักกันที่ รัฐจัดให้ (State Quarantine , Alternative State Quarantine Alternative Hosoital Quarantine)ขณะที่สัญชาติเมียนมา, 3 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ และส่งกลับไปรักษาที่เมียนมา
          สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อ รวม 38,743,864 ราย อาการรุนแรง 70,431 ราย รักษาหายแล้ว 29,123,542 ราย เสียชีวิต 1,096,876 ราย 5 อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
          1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 8,150,043 ราย, 2. อินเดีย จำนวน 7,305,070 ราย, 3.บราซิล จำนวน 5, 141,498 ราย, 4. รัสเซีย จำนวน 1,340,409 ราย, 5. สเปน จำนวน 937,311 รายขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 141 จำนวน 3,665 ราย
          อนามัยโลกถอดบทเรียนโควิดไทย
          นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจํำประเทศไทย กล่าวว่า การถอดบทเรียนนี้เนื่องจากประเทศไทยรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วง 9 เดือนแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 สามารถจำกัดการแพร่ระบาดในระดับชุมชนได้ และลดผลกระทบต่อบริการสุขภาพที่จำเป็น
          การถอดบทเรียนใช้เครื่องมือมาตรฐาน พัฒนาโดยดับเบิลยูเอชโอให้ทุกประเทศนำไปใช้ ดำเนินการถอดบทเรียนเมื่อวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2563 โดยผู้ประเมินภายนอกจากองค์การอนามัยโลก หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติและมหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้ให้สัมภาษณ์ ประกอบด้วยผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการและบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการสถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศไทยมี 6 ข้อได้แก่
          1.ภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งได้รับข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด 2.ระบบบริหารที่ประยุกต์ได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง 3.ระบบการแพทย์และการสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง มีทรัพยากรพร้อม และทุกคนเข้าถึงได้
          4.ประสบการณ์รับมือการระบาดของโรคติดเชื้อ อาทิ  โรคซาร์ส ไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอช1เอ็น1 5.การสื่อสารสม่ำเสมอและโปร่งใสซึ่งนำไปสู่การให้ความร่วมมือของภาคประชาชนกับมาตรการป้องกันต่างๆ และ 6.วิธีการแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมของภาควิชาการและเอกชน
          อย่างไรก็ตาม ดับเบิลยูเอชโอ มี 6 ข้อเสนอแนะหลักประกอบด้วย 1.ข้อมูลที่นำไปสู่การปฏิบัติควรมีระบบฐานข้อมูลดิจิทัลใหม่ เพื่อบูรณาการข้อมูลระบาดวิทยา ข้อมูลห้องปฏิบัติการ ข้อมูลทางการแพทย์และการขนส่ง 2.ปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย จัดตั้งหน่วยงานระดับประเทศด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ 3.ปรับปรุงการค้นหาผู้ป่วย โดยขยายการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 เพื่อหนุนเสริมการค้นหาผู้ป่วยและเพื่อติดตามผลกระทบจากโรคระบาด
          4.เสริมกำลังคนโดยทบทวนทรัพยากรบุคคลที่ทำงานด้านโรคโควิด-19 เพื่อเทียบเคียงกับความต้องการจริงและรับมือกับการขาดแคลน 5.การกักกันที่ดีระดับโลก จัดตั้งหน่วยงานระดับประเทศที่มีอำนาจในการกักกันโรค เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพและอำนวยการประสานงานระหว่างภาคส่วนตางๆ ให้เป็นไปได้อย่างสะดวกขึ้น และ 6.เสริมการประสานงานเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของการตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด-19"
          "ข้อเสนอแนะจากถอดบทเรียน เน้นเรื่องการเสริมสร้างการประสานความร่วมมือ การ พัฒนาระบบเฝ้าระวังและฐานข้อมูล และการเสริมสร้างและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ การนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปปรับใช้อย่างรวดเร็วจะช่วยให้การรับมือกับสถานการณ์การระบาดในระลอกต่อไปมี ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นพ.แดเนียลกล่าว
          กรมควบคุมโรคเสนอกักตัว10วัน
          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือประเทศไทยไม่เคยปิดข้อมูลใดๆ ตั้งแต่ที่พบผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนรายแรกจากนี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะเป็นฝ่ายรุกกลับโควิด-19 คือรู้ว่าโควิด-19 มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร แพร่เชื้อและคุกคามสุขภาพคนได้อย่างไร ก็หาวิธีการป้องกันตรงจุดนั้น
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ในการเสนอ ศบค. จะเสนอลดวันกักตัวลงเหลือ 10 วัน โดยเริ่มในกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ เช่น จีน ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เป็นต้น เนื่องจากพบว่าการกักตัว 14 วัน และ 10 วัน โอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะหลุดรอดมาไม่แตกต่างกัน

 pageview  1205066    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved