Follow us      
  
  

ผู้จัดการรายวัน [ วันที่ 30/04/2555 ]
"ผู้ใหญ่บิ๊ก" ขอท้า พูด 2 ภาษา คนไทยสร้างได้

ห่างหายไปจากการมีชื่ออยู่บนแผงหนังสือใหม่2-3 ปีกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามสไตล์หมู่บ้านสองภาษาของ "ผู้ใหญ่บิ๊กพงษ์ระพี เตชพาหพงษ์" ผู้นำเสนอแนวคิด "เด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้" ที่เคยสร้างความเกรียวกราวในหมู่พ่อแม่ชาวไทย วันนี้เขากลับมาอีกครั้งพร้อมแนวคิดใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม นั่นก็คือการพัฒนาแนวคิดเพื่อการเรียนภาษาอังกฤษสำหรับคนไทยทั้งประเทศ!
          สำหรับจุดเริ่มต้นของการค้นหาแนวทางการเรียนภาษาที่เหมาะกับคนไทย ผู้ใหญ่บิ๊กเผยว่า มาจากความเสียดายที่ยังมีคนไทยจำนวนมากขาดความมั่นใจ และไม่กล้าใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ทั้ง ๆ ที่เรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมานาน 12 ปีเต็ม
          "ผมเสียดายศักยภาพของคนไทย เรามีศักยภาพด้านการออกเสียงสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์พม่า เขมร หรือแม้แต่ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกอย่างญี่ปุ่น แต่เพราะเรามีรูปแบบการเรียนการสอนที่ผิดพลาด เราเน้นแต่ท่องจำไวยากรณ์ และเมื่อจะออกเสียงศัพท์ต่างๆก็เลือกใช้วิธีที่ง่ายอย่างการเทียบเสียงอังกฤษมาเป็นอักษรไทย เช่น ตัว th เท่ากับเสียง "ธ" หรือตัว R เท่ากับเสียง "ร" จึงไม่น่าแปลกที่เราไม่สามารถออกเสียงภาษาอังกฤษได้เหมือนเจ้าของภาษา หรือก็คือคนไทยกำลังเรียนรู้ภาษาอังกฤษในวิธีที่สวนทางกับการเรียนรู้ภาษาแม่อย่างภาษาไทยนั่นเอง"
          "ในฐานะที่ผมเคยจุดประกายเรื่องเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้ที่สร้างรากฐานการเรียนรู้ภาษาบนวิถีธรรมชาติจากบ้าน เมื่อสามปีที่แล้ว ผมใช้ประสบการณ์ตรงนี้บวกกับค้นคว้าทดลองเพิ่มเติม แล้วเสนอกรอบในการเรียนภาษาอังกฤษอีกทางหนึ่งขึ้นมา ที่ชื่อว่าแนวคิด "พูดสองภาษา คุณสร้างได้เอง" เพื่อเป็นทางเลือกอีกทางให้กับคนที่สนใจพัฒนาการพูดภาษาอังกฤษจากความรู้สึกได้มีแผนที่ในการเดินทาง"
          "แนวคิดนี้มีหลักทั้งหมดสิบข้อ ที่เชื่อมต่อร้อยเรียงภาพของเส้นทางในการเดินทางฝึกฝน นี่คือสิ่งที่เป็นสาระสำคัญที่สุด เพราะเราจะได้รู้ว่าเราควรจะเริ่มต้นอย่างไร เรียนรู้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรากลัวในการพูด แล้วเราจะข้ามมันไปอย่างไร"
          พูดจากความรู้สึก ไม่ยากแค่อย่าใจร้อน
          "ยกตัวอย่างง่ายๆ กว่าเราจะเริ่มเรียนเขียนอ่านภาษาไทยในโรงเรียน เราพูดภาษาไทยได้กันแล้วใช่ไหมครับ พ่อแม่คือคนที่สอนให้เราพูดคำต่างๆ เราพูดคำว่ากินข้าวได้ก่อนที่เราจะเขียนคำว่ากินข้าวได้ด้วยซ้ำ ทุกวันนี้พอใครพูดกับคุณว่ากินข้าวกันเถอะ คุณก็รู้ว่าเขาพูดผิด แต่พอเราเรียนภาษาอังกฤษ เราเริ่มต้นจากการท่อง A ant มด ท่องไวยากรณ์ มี Tense นู้นนี้นั้นมากมาย ประโยคนี้ต้องเติม -ing ประโยคนั้นต้องเติม -ed ท่องแรกๆ ก็จำได้ จำได้ดีสุดขีดตอนก่อนสอบ หลังสอบสักพักก็เริ่มลืม พอจะใช้ก็นึกเงื่อนไขไม่ออกว่าต้องใช้อย่างไร จะเปล่งเสียงก็ไม่แน่ใจว่าถูกหรือเปล่า คนไทยกว่าจะพูดอังกฤษได้สักประโยคจึงมีเรื่องให้ต้องคิดมากมายและความกลัวในการใช้ภาษาอังกฤษก็เริ่มเกาะกินหัวใจของเราตั้งแต่บัดนั้น"
          ผู้ใหญ่บิ๊กเสนอทางแก้ปัญหานี้ด้วยแนวคิดในการเรียนภาษาที่มุ่งสู่สากล หรือก็คือผู้สอนและผู้เรียนต้องนำ อักษรโฟเนติกส์ และการออกเสียงตามหลักโฟนิกส์เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เป็นรูปธรรม เพื่อที่ผู้เรียนจะได้ออกเสียงได้อย่างถูกต้องควบคู่ไปกับ "การสร้างโหมดการพูดภาษาอังกฤษจากความรู้สึก" เพื่อให้เราพูดได้โดยที่ไม่ต้องแปล เหมือนที่เราพูดภาษาไทยในทุกวันนี้
          สวนกระแสหลัก "เจ้าของภาษาห้ามสอน"
          ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสของการเรียนภาษาอังกฤษกับ "เจ้าของภาษา" ดูจะเป็นสิ่งที่คนไทยส่วนมากต้องการ และเชื่อว่าสามารถฝากความหวังเอาไว้ได้ว่าจะช่วยให้ตนเองสามารถพูดภาษาอังกฤษคล่องขึ้นจริงๆ แต่ผู้ใหญ่บิ๊กกลับเห็นตรงข้าม ซึ่งเขาเฉลยว่า
          "แนวคิดของผมที่บอกว่า "เจ้าของภาษาห้ามสอน" นั้น ผมพยายามจะชี้ให้เห็นว่าฝรั่งโดยส่วนใหญ่แล้วสอนภาษาอังกฤษไม่เป็น เขาพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ แต่เขาไม่รู้ว่าจะสอนคนอื่นให้พูดอังกฤษจากความรู้สึกเหมือนกับเขาได้อย่างไรคงไม่ต่างกับเราที่เราเป็นเจ้าของภาษาไทย เราก็คงนึกไม่ออกว่าจะสอนภาษาไทยให้กับเด็กฝรั่งสักยี่สิบคนอย่างไรเหมือนกัน การที่เราไปยึดติดกับฝรั่งมากไปทำให้ต้นทุนในการเรียนภาษาสูงและไม่ได้ผล เราควรจะปลดแอกความเชื่อเรื่องนี้ได้แล้วคุณค่าที่แท้จริงของฝรั่งนั้น ไม่ใช่ที่เขาเป็นฝรั่ง และพูดภาษาอังกฤษเป็น แต่เขาเป็นคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เขาพูดจากความรู้สึก ดังนั้น เราต้องเอาคุณค่าเขามาใช้ให้ถูกวิธี ถูกที่ นี่แหล่ะคือประเด็น"
          แล้วเราจะใช้ฝรั่งอย่างไรดี?
          "ใช้เป็นคู่สนทนาสิครับ เอาไว้ตรวจสอบ และขัดเกลาการออกเสียง - การเลียนแบบของเราให้ดียิ่งขึ้น ไม่ต้องให้สอน ดังนั้น ฝรั่งจะมาจะไป จะสอนเป็นสอนไม่เป็น ก็ไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับเรามากนัก สิ่งสำคัญที่สุดในการฝึกพูดสองภาษาบนวิถีธรรมชาติคือ แนวคิดในการเรียนรู้ แนวคิดควรจะอยู่กับเรา เมื่อเราปลดแอกเรื่องนี้ได้ต้นทุนในการเรียนภาษาของเราจะลดต่ำลงทันที"
          "ผมเสียดายเงินภาษีที่ภาครัฐต้องไปจ้างฝรั่งมาสอนภาษาให้คนไทย เพียงเพราะเราเชื่อว่าการจะเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ดีต้องเรียนกับคนที่เป็นเจ้าของภาษา แล้วฝรั่งที่มีวุฒิการศึกษายืนยันว่าเขาจบมาโดยตรงด้านการสอนนั้น เขาจะมารับเงินเดือน 30,000-50,000 บาทในไทยหรือเปล่า (หัวเราะ) ถ้ามีที่ที่ดีกว่า เขาก็ไป"
          คนไทยต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการพูด?
          สำหรับข้อนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนิสัยพื้นฐานของคนไทยที่มักชอบจับผิดคนไทยด้วยกันเอง ดังนั้น เมื่อมีใครพยายามจะพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ สายตาทุกคู่จะจ้องมองไปที่คนคนนั้น พร้อมเงี่ยหูฟังว่าคนพูดจะหน้าแตกหรือไม่ ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการฝึกพูด ในระยะเริ่มต้นการมีพื้นที่ปลอดภัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น
          "การพูดจากความรู้สึกให้ได้นั้นไม่มีสูตรเร่งรัด ไม่มีหนังสือให้ท่อง มันต้องอาศัยการสะสม ผมยกตัวอย่างพ่อแม่สื่อสารกับลูกเล็กเพียงไม่กี่เรื่องแค่กิน นอน อาบน้ำ เล่น และพ่อแม่ก็ช่วยขัดเกลาการเลียนแบบอีกหลายปี จนลูกพูดชัด พูดได้จากความรู้สึก และถูกต้องตามหลักภาษา การฝึกภาษาอังกฤษก็เช่นกัน เราจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่แคบที่สุดก่อน เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัยและฝึกพูดในพื้นที่นี้อย่างเดียว เมื่อพูดได้แล้วค่อยขยับขยายพื้นที่ปลอดภัยให้กว้างขึ้น เหมือนที่พ่อแม่ฝึกลูก ฉันใดฉันนั้น"
          โซเชียลเน็ตเวิร์ก จำเป็นสำหรับฝึกภาษา?
          เมื่อผู้ใหญ่บิ๊กบอกกับเราว่าการฝึกภาษาจำเป็นต้องใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ความสับสนเกิดขึ้นในใจทันที ว่าจะใช้เฟซบุ๊กอย่างไร เขาหัวเราะทันที พร้อมบอกว่าไม่ใช่ โซเชียลเน็ตเวิร์กก็คือเพื่อนหรือคนที่สนใจฝึกภาษาด้วยกัน
          "ถ้าไม่มีจุดเชื่อมต่อหรือกลไกขับเคลื่อนมันก็ยากจะเกิดครับ ผมมองตรงนี้ไว้แล้ว ก็เลยสร้างเว็บ 2pasa.net ขึ้นมาเพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อกับคนที่สนใจการฝึกภาษาอังกฤษแต่แค่นั้นก็คงไม่พอ ผมก็ได้สร้างกลไกขับเคลื่อนเพื่อให้เพื่อนเหล่านี้รวมกันติดซึ่งก็ออกมาในหน้าตาของ "การ์ดเกมพูดสองภาษา" ผมคิดว่าผมออกแบบการ์ดเกมมาตอบโจทย์เรื่องนี้ได้แต่แค่นั้นคงไม่พอ ผมได้บรรจุแนวคิดพูดสองภาษาลงไปในเกมด้วย นั่นก็หมายความว่า เมื่อเล่นเกมกับเพื่อนก็เหมือนกับเป็นการฝึกภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องไปท่องตำราแต่อย่างไร นั่งเล่นกันกลางสนามหญ้าก็ได้ บนโต๊ะรับประทานอาหารก็ได้ ไม่ต้องมีต้นทุนด้านอาคารสถานที่ใดๆ ทั้งสิ้น"
          "ที่สำคัญ เมื่อเล่นเกมแล้วใจจะจดจ่ออยู่กับเกม ทำให้เราลืมนิสัยของคนไทยอย่างการจับผิดการออกเสียงเพื่อนไปได้อีกทั้ง มันยังทำให้เราช่วยกันดู ช่วยกันตรวจทานว่า เราได้ออกเสียงคำศัพท์ หรือประโยคได้ถูกต้องหรือยังด้วยครับ"
          คงต้องบอกว่า เป็นการเปิดแนวคิดใหม่ด้านการเรียนภาษาที่สองอย่างน่าตื่นตาตื่นใจทีเดียวสำหรับประเทศไทยที่การปฏิรูปการศึกษายังหาทางออกไม่ได้ แถมยังมีการเปิดเสรีอาเซียนจ่อรดต้นคอในปี ค.ศ. 2015 เราจะสามารถพัฒนาศักยภาพของคนไทยที่ขาดความพร้อมในหลายๆ ด้าน และหนึ่งในนั้นคือการใช้ภาษาอังกฤษให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านของเราได้หรือไม่หรือจะปล่อยให้คนไทยเป็นผลผลิตที่ชำรุดทางการศึกษาต่อไป คนไทยเท่านั้นที่จะเป็นผู้ร่วมตอบคำถามนี้ด้วยกัน

 pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved