Follow us      
  
  

ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์ [ วันที่ 26/06/2561 ]
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง วิกฤตสุขภาพของประชากรทั่วโลก

 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ในแต่ละปีจะพบการเสียชีวิต ของประชากรทั่วโลกจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases: NCDs) ประมาณ 36 ล้านคน ซึ่งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญกว่านั้นคือ กว่า 80% เป็นประชากรของประเทศที่กำลังพัฒนา และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2573 ประชากรโลกจำนวน 23 ล้านคนจะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ และร้อยละ 85 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
          สำหรับในประเทศไทย แผนงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ พ.ศ. 2560-2564 สำนักโรคไม่ติดต่อ ระบุว่ากลุ่มโรค NCDs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 โรคสำคัญ คือ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยงร่วมหลักจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่และยาเส้น การกินอาหารที่เกินพอดี และการขาดการออกกำลังกาย ได้คร่าชีวิตคนไทยราวปีละ 3.2 แสนคน หรือ 75% ของการเสียชีวิตของประชากร ในจำนวนนี้พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งหรือราวร้อยละ 55 เสียชีวิตที่อายุต่ำกว่า 70 ปี ซึ่ง WHO ถือว่าเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในแต่ละปีจะมีคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน ส่งผลให้งบประมาณที่จะใช้จัดบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การจัดเก็บรายได้จากภาษีของรัฐบาลไม่เพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดความสูญเสียด้านทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นวัยทำงานและความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากมาย
          ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง ลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เราจึงได้เห็นการรณรงค์ที่เป็นรูปธรรมในหลายรูปแบบ อาทิ การกำหนดให้มีกิจกรรมการออกกำลังกายของทำเนียบรัฐบาลและส่วนราชการต่างๆ การจัดเก็บภาษีความหวาน หรือการนำร่อง "ชุมชนลดเค็ม ลดโรคต้นแบบ" ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่ต้องการลดอัตราการเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573
          แต่ความวิกฤตของปัญหานี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนระดับนานาชาติ WHO จึงออกมาประกาศเรียกร้องให้ผู้นำของประเทศสมาชิกเร่งการดำเนินการต่อสู้กับโรคเรื้อรังเพื่อช่วยชีวิตประชากรโลกกว่า 15 ล้านคน
          ในปีนี้จะมีการประชุมครั้งสำคัญคือการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ (High level Meeting of the United Nations General Assembly on the Prevention and Control of NCD) ครั้งที่ 3 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งการลงนามในปฏิญญาจากที่ประชุมดังกล่าวจะมีผลผูกพันให้ประเทศสมาชิกร่วมกันป้องกันโรค NCDs และมีการให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันในทุกระดับ ตั้งแต่นโยบายไปจนถึงประชาชน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งในและนอกภาคสาธารณสุข
          ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับคำชมเชยจากองค์การอนามัยโลกมาโดยตลอดเกี่ยวกับมาตรการในการแก้ปัญหาสาธารณสุขและการสร้างเสริม สุขภาพให้กับคนในประเทศ การประชุมระดับสูงครั้งนี้ น่าจะเป็นโอกาสอันดีอีกครั้งที่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะได้ร่วมมือกันกำหนดแนวทาง และนำเสนอจุดยืนของประเทศไทยในการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านสุขภาพใหม่ๆ มาใช้ในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชน และยังจะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (sustainable development goals) ในด้านอื่นๆ และที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน ตามแนวทางประชารัฐซึ่งหวังว่ากระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้ประสานงานและดูแลนโยบายต่างประเทศของไทยจะให้ความสำคัญกับการประชุมดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ของคนไทยที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคไม่ติดต่อเหล่านี้ และเพื่อให้มีแนวทางและนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยชีวิตคนไทยโดยเร็วที่สุด.

 pageview  1204512    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved