Follow us      
  
  

โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 14/03/2555 ]
จับตา'ธุรกิจยาข้ามชาติ'รุกไทยประโยชน์ทับซ้อนสุขภาพมาตรฐานเดียว

          
          สัญญาณความเป็นไปได้ในการสร้าง "ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว" ส่งออกจากที่ประชุมร่วม 3 กองทุนประกันสุขภาพ เมื่อวันที่21 ก.พ.ที่ผ่านมา
          ในวันนั้นที่ประชุมได้ลงนามความร่วมมือจัดทำ "ราคากลางยา" และเครื่องมือแพทย์โดยจะเริ่มใช้ในกลุ่มยาราคาแพง หรือที่เรียกว่าบัญชียา จ (2) จำนวน 7 รายการ
          รักษาโรคสำคัญ อาทิ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด เกล็ดเลือดต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง คาวาซากิ อาการติดเชื้อราอย่างรุนแรง รวมถึงจอประสาทตาเสื่อม
          ผลเลิศที่วางไว้ คือ ช่วยให้ภาครัฐลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น นั่นเพราะเมื่อผู้ซื้อรวมตัวกันจะสามารถสร้างอำนาจต่อรองกับบริษัทยาได้
          จากความร่วมมือครั้งนี้ แน่นอนว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นเบื้องต้น ณ เวลานั้นสังคมขานรับแนวนโยบาย ทุกฝ่ายเห็นพ้องเป็นเรื่องดี
          อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่12 มี.ค.ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ชินวัตรนายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกับ "นักธุรกิจสหรัฐอเมริกา" เมื่อสิ้นสุดการประชุมนายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับบริษัทยาข้ามชาติ เพื่อกำหนดราคายาและเวชภัณฑ์ให้อยู่ในระดับเหมาะสม
          หากคณะทำงานชุดนี้เกิดขึ้นจริง จะนับเป็นคณะทำงานชุดที่ 2 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการร่วม 3 กองทุน ที่ได้ประชุมเพื่อจัดทำราคากลางยาไปก่อนหน้านี้
          การตั้งคณะทำงานที่ว่าในครั้งนี้ จะนำไปสู่ข้อเคลือบแคลงต่อรัฐบาลในระยะยาว
          นั่นเพราะที่ผ่านมาบริษัทยาสหรัฐได้เดินสายล็อบบี้รัฐบาลทั่วโลกใน 2 ลักษณะ คือ 1.เข้าพบรัฐบาลในสถานะสภานักธุรกิจอเมริกัน (เช่นเดียวกับการเข้าพบยิ่งลักษณ์)และ 2.ให้รัฐบาลสหรัฐเป็นผู้เจรจาต่อรองภายใต้ข้อตกลงกรอบการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ
          ในเรื่องนี้นิมิตร์ เทียนอุดมผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าพบนายกรัฐมนตรีของกลุ่มบริษัทยา มีเป้าหมายพยายามเจรจาเพื่อไม่ให้เกิดการต่อรองราคายาด้วยวิธีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อดูราคาให้เหมาะสมคำถามคือ เหตุใดจึงตั้งผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าร่วม
          "ถ้าไม่เกิดการต่อรองจริง จะทำให้กลไกราคายาเป็นอัมพาต เมื่อบริษัทยาแจ้งราคามาอย่างไรรัฐบาลก็ยอมรับว่าเป็นความเหมาะสมทั้งสิ้น" นิมิตร์ ระบุ
          นิมิตร์ ระบุว่า การตั้งคณะทำงานชุดนี้อาจส่งผลต่อการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) และจะลามไปถึงอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาลต่อการออกกฎ ระเบียบหรือปรับแก้เงื่อนไขต่างๆซึ่งจะมีบริษัทยาข้ามชาติร่วมพิจารณา
          สอดคล้องกับความเห็นของ อภิวัฒน์ กวางแก้วประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ที่ระบุว่า บริษัทยาไม่มีสิทธิเข้ามาร่วมการตัดสินใจในทุกเรื่องเพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนโดยรัฐบาลต้องคิดอย่างรอบด้านก่อนจะตัดสินใจใดๆ ที่สำคัญต้องมีกระบวนการรับฟังและสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
          "นายกฯ ต้องทันเล่ห์กลของบริษัทยาข้ามชาติ และไม่ควรให้คณะทำงานชุดนี้เกิดขึ้นได้" อภิวัฒน์ ระบุ
          ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวคือเป้าหมายสูงสุดที่ทุกคนคาดหวัง และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้นำประเทศสามารถขับเคลื่อนจนจับต้องเป็นรูปธรรมได้อย่างดี
          การตัดสินใจต่างๆ จึงต้องอยู่เหนือข้อเคลือบแคลงใดๆอย่าให้ถูกครหาได้ว่าเดินหน้านโยบายสุขภาพด้วยประโยชน์แอบแฝง m

 pageview  1204947    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved