Follow us      
  
  

โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 06/02/2555 ]
นักเศรษฐศาสตร์ลอนดอนเสนอ5รูปธรรมยกระดับบัตรทอง
          ...ทีมข่าวในประเทศ
          แม้ภาพกว้างของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาดำเนินงาน 1 ทศวรรษจะบรรลุผลเลิศตามที่วางไว้ ทว่ายังมีภารกิจที่ยังไม่สำเร็จและจำเป็นต้องสานต่ออีกในอนาคต
          แอน มิลล์ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร มองว่าสิ่งที่ประเทศไทยต้องสร้างรูปธรรมให้เกิดในระบบประกันสุขภาพมี 5 ประการ ได้แก่
          1.สร้างระบบให้มีธรรมาภิบาล ปราศจากการแทรกแซงและป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการเมืองที่พยายามเข้ามาแทรกแซงจนทำให้ระบบบิดเบี้ยวไป ควรเพิ่มบทบาทตัวแทนของภาคประชาสังคมและภาคชุมชน และควรแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ได้มาจากข้าราชการเพิ่มขึ้น เพื่อให้การตัดสินใจต่างๆอิงกับหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้น
          นอกจากนี้ ยังต้องจัดการความสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งแม้ว่าจะต้องทำให้มีความเป็นอิสระต่อกัน แต่ก็ต้องเอื้อประโยชน์ต่อกันเพื่อการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชน
          2.ลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพไทยได้แก่ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และบัตรทอง เนื่องจากปัจจุบันทั้งสามกองทุนมีความแตกต่างกันอย่างมาก หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้จะไม่เป็นผลดีกับประเทศ สำหรับวิธีลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุน
          มีหลายวิธี ซึ่งอาจไม่ใช่การรวมกองทุน แต่จะต้องทำให้ทั้งสามกองทุนมีวิธีการจัดการที่เหมือนกัน มีสิทธิประโยชน์เหมือนกัน เพื่อไม่ให้ผู้ให้บริการมีการเลือกปฏิบัติ นั่นเพราะในปัจจุบันพบว่าทั้งสามระบบมีการจัดการที่แตกต่างกัน
          "ในส่วนของบัตรทองนั้น 10 ปีที่ผ่านมา มีการปฏิรูปอย่างก้าวหน้ามาก ขณะที่ประกันสังคมและข้าราชการมีน้อยมาก หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น"ศาสตราจารย์รายนี้ระบุ
          นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยลอนดอนขยายความว่า ในอนาคตผู้ประกันตนที่เกษียณอายุจากประกันสังคมจะย้ายเข้ามาอยู่บัตรทอง ยิ่งทำให้โครงสร้างประชากรของบัตรทองต้องรองรับผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งจะต้องเพิ่มงบประมาณมากขึ้น ดังนั้น ณ เวลานี้ ประเทศไทยต้องคิดหาวิธีการที่ว่าจะทำอย่างไรให้แต่ละระบบมีความเท่าเทียมไม่แตกต่างกันสำหรับรูปธรรมที่
          3.สร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยบริการภาคเอกชนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรออกแบบให้หน่วยบริการภาคเอกชน เช่น คลินิกเอกชน โรงพยาบาลเอกชน เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการมากขึ้น เพราะปัจจุบันเห็นเฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น โดยตัวอย่างการจัดการในประเทศอังกฤษจะมีหน่วยบริการภาคเอกชนเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการจำนวนมาก และไม่มีความแตกต่างระหว่างหน่วยบริการสังกัดของรัฐและเอกชนมากนัก
          4.สร้างความสมดุลระหว่างการกระจายอำนาจและการรวมศูนย์อำนาจแม้บางภารกิจจำเป็นต้องรวมศูนย์ เช่น การกำหนดมาตรฐานและอัตราการจ่าย การตรวจสอบเวชปฏิบัติ แต่ในระดับพื้นที่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นและต่อรองระหว่างผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาอุปสรรคและสร้างความร่วมมือในการนำนโยบายไปสู่เป้าหมายได้
          5.มุ่งความสำคัญไปที่การส่งเสริมสุขภาพระดับเบื้องต้นการให้ความสำคัญกับการป้องกันไม่ให้เกิดโรคต้องทำควบคู่ไปกับการให้การรักษาพยาบาลและการควบคุมคุณภาพ พร้อมกันนี้ควรให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างคุ้มค่าเพื่อตัดสินใจเชิงนโยบาย ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ ต้นทุนและความคุ้มค่าผลกระทบต่อองค์กร สังคมและจริยธรรมได้อย่างรอบด้าน
          "แม้ประเทศไทยจะไม่ร่ำรวย แต่สามารถทำระบบประกันสุขภาพให้กับประชาชนทุกคน สะท้อนถึงทัศนะที่มองว่าการดำเนินการไม่ได้เป็นภาระต่องบประมาณ แต่เป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างคุ้มค่า จึงสามารถนำไปเป็นต้นแบบให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ นำไปปรับใช้ได้" แอน มิลล์เชื่อเช่นนั้น m
 pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved