Follow us      
  
  

โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 30/10/2555 ]
พาราเซตามอลยาอันตรายหากใช้ไม่ถูกวิธี

  เมื่อเกิดอาการ "ปวดหัว"ยาที่หลายคนนึกถึงคือ "พาราเซตามอล"ยาแก้ปวดและลดไข้ที่คนไทยนิยมใช้กันมากที่สุด ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในหมวดยาสามัญประจำบ้านด้วย แต่ถึงแม้จะอยู่ในหมวดติดบ้านหารับประทานคล่อง ทว่าแท้จริงแล้วพาราเซตามอลมีผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุด คือการเกิดพิษต่อตับ และ เกิดภาวะตับวาย หากใช้เกินขนาด หรือใช้ติดต่อกันนานเกินไปพญ.ประพิมพ์พร ฉันทวศินกุลแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์และโภชนบำบัด โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กล่าวว่า เมื่อปี2554 องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐ (U.S.Food and Drug Administration หรือUSFDA) ได้ออกประกาศให้บริษัทยาที่ผลิตยาแก้ปวดสูตรผสมที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ ให้ลดปริมาณยาพาราเซตามอลลงจากเดิม จากขนาด 500 มิลลิกรัมต่อเม็ดเป็น 325 มิลลิกรัมต่อเม็ด เพื่อลดความเสี่ยงของผู้บริโภคในการที่จะได้รับปริมาณยาพาราเซตามอลเกินขนาด และลดความเสี่ยงที่จะเกิดพิษต่อตับ
          นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ระบุถึงผลข้างเคียงของยาพาราเซตามอล ที่ฉลากยาให้ชัดเจนว่า ยามีผลทำให้เกิดพิษต่อตับอย่างรุนแรงได้นอกเหนือจากผลข้างเคียงอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้เช่น อาการแพ้ยาหรือผื่นคัน
          "ในฉลากยาติดไว้ที่ขวดยา เขียนไว้ว่า รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นจำนวนที่ผิดและก่อให้เกิดอันตราย เพราะถ้าผู้ป่วยปวดหัวมากๆ แล้วกินตามที่บอก วันหนึ่งต้องกิน 12 เม็ด ก็อันตรายแล้ว และถ้ากินต่อกัน 3-4 วัน ก็เกิดพิษต่อตับ ซึ่งตรงนี้ขนาดอเมริกายังลดโดสลงแล้ว แต่ของไทยยังต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ซึ่งจริงๆ เราต้องบอกว่า ให้กินทุก 6 ชั่วโมง เป็นเวลาสั้นๆ และกินภายใต้การควบคุมของแพทย์" พญ.ประพิมพ์พร กล่าว
          ใช้ยาต่อเนื่องเสี่ยงอันตราย
          การรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน และเกิดภาวะตับวาย ซึ่งอาการอาจรุนแรงถึงขั้นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ หรือเสียชีวิตหากไปรับการรักษาไม่ทันท่วงที ผู้ป่วยกลุ่มที่เกิดภาวะเป็นพิษต่อตับ พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ทราบว่ากำลังทำร้ายตัวเองด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ที่มีผลทำร้ายตับต่อเนื่องเป็นเวลานาน แม้ว่าจะรับประทานไม่เกินขนาดที่กำหนด แต่ถ้ารับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสที่จะเกิดตับอักเสบได้เช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะไปรับการรักษาช้า เนื่องจากไม่ตระหนักถึงพิษภัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทานยาพาราเซตามอลเป็นเวลานาน
          สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคตับเรื้อรัง ตับแข็ง หรือดื่มสุราเป็นประจำจะมีความเสี่ยงในการเกิดพิษต่อตับง่ายกว่าคนปกติ จึงควรงดเว้นการรับประทานพาราเซตามอล หรือหากจำเป็นจริงๆ ก็ควรรับประทานให้น้อยที่สุด
          "จริงๆ พาราเซตามอลเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ป่วยแล้วกิน ครั้งสองครั้งไม่เป็นไร แต่ผู้ป่วยบางรายเวลากินจะกินติดต่อกันนานๆ ซึ่งก็ส่งผลอันตราย อีกอย่างยาพาราเซตามอลเป็นยาที่คนไทยคุ้นเคย มีติดบ้าน บางคนซื้อไม่ได้ซื้อมาแค่ 10 เม็ด แต่ซื้อที่เป็นกระปุก 100 เม็ด เวลาปวดอะไรก็แล้วแต่ก็หยิบมากินบรรเทาอาการบางคนกินกันไว้ก่อนก็มี เพราะความเข้าใจผิดคิดว่ายาพาราเซตามอลแก้ปวดได้ทุกอย่าง เป็นการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง
          บางคนกินแล้วหายปวดก็บอกว่า กินแล้วดีซึ่งจริงๆ บางอาการนั้นสามารถหายเองได้ ไม่ใช่เพราะยาพาราเซตามอลทำให้ดีขึ้น และยาพาราเซตามอลก็ไม่ได้แก้ทุกอาการปวด อย่างปวดท้อง ท้องเสีย ลำไส้บิด ตัวเราต้องกินยาลดการบิดตัว และแพทย์จะให้ยาแก้ปวดท้องอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่พาราเซตามอล
          เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินยาพาราเซตามอล และแก้ความคิด พาราเซตามอลไม่ใช่ยาวิเศษกินปุ๊บแก้ปวด เวียนหัวจังเลย ปวดท้องหาพาราเซตามอลมากิน มันไม่ถูก ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่"
          ข้อระวัง! ในการรับประทานยา
          ใครที่มีพฤติกรรมปวดหัวแล้วรีบคว้ายาเข้าปากทีละเม็ด 2 เม็ด ปวดหนักหน่อยก็คว้า 2 เม็ดโดยไม่เท่าทันระวังผลข้างเคียง หรือรับประทานถี่เกินไปเพื่อหวังอาการจะบรรเทาแต่การรับประทานยาพาราเซตามอล ที่ถูกต้องนั้นต้องไม่รับประทานเป็นประจำต่อเนื่องเป็นเวลานานและไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลเกินวันละ 4 กรัม ซึ่งยาในบ้านเรานั้นอยู่ในรูปแบบเม็ด มีปริมาณยาเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ดังนั้นปริมาณที่สามารถรับประทานได้คือ "ไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน" และ "ไม่เกิน 1-2 เม็ดต่อครั้ง"อีกหนึ่งอย่างที่ ควรรู้ คือ ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 50 กิโลกรัม ควรรับประทานพาราเซตามอลครั้งละ 1 เม็ดเท่านั้น
          ดังนั้น ความคิดในการรับประทานยา ที่ว่าเด็ก 1 เม็ด ผู้ใหญ่ 2 เม็ด ปวดน้อย 1 เม็ด ปวดมาก 2 เม็ด ผิด!!!นอกจากนี้ ไม่ควรดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ขณะที่รับประทานยาพาราเซตามอล
          ข้อควรระวังอีกอย่างคือ มียาสูตรผสมเป็นจำนวนมากที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบเช่น ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดเมื่อยยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งยาสูตรผสมเหล่านี้หากนำมารับประทานร่วมกันโดยไม่ทราบว่ามีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เช่น รับประทานยาแก้ไข้หวัดพร้อมๆกับยาคลายกล้ามเนื้อ จะทำให้ได้รับยาเกินขนาดและเกิดตับอักเสบหรือตับวายเฉียบพลันได้ดังนั้นก่อนรับประทานยาทุกชนิดจึงควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดเสมอ ถ้าไม่แน่ใจว่ายามีส่วนประกอบของพาราเซตามอลหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนบริโภคยาทุกครั้ง
          "คนเข้าใจผิดว่ายาพาราเซตามอลปลอดภัยเพราะเทียบกับแอสไพรินที่เป็นยาแก้ปวด แต่มีผลข้างเคียงคือกัดกระเพาะ พาราเซตามอลจึงถูกใช้เยอะ และใช้นาน พาราเซตามอลยังเป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่หมอคิดว่าน่าจะมีกระบวนการที่ออกมาให้ประชาชนเข้าใจว่า ยาสามัญประจำบ้านก็ใช้ได้อย่างจำกัด ท้ายสุดเราไม่รู้ว่าเราปวดอะไร เป็นเพราะอะไร ให้ไปพบแพทย์กินยาให้ตรงโรคดีกว่า" พญ.ประพิมพ์พร กล่าว
          แม้ว่ายาพาราเซตามอลจะเป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่มีประโยชน์ แต่หากใช้ผิดวิธีก็อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ จึงต้องระมัดระวังในการใช้ยา และหากอาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยาควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเสมอn

 

 pageview  1205867    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved