Follow us      
  
  

โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 07/08/2555 ]
พิษสุนัขบ้าบุกแล้ว!ระวังสัตว์เลี้ยงแสนรัก

 จากที่ใครๆ ก็มองว่า กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงน่ารักน่ากอด เห็นทีต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ เพราะหลังจากมีข่าวออกมาว่า ชาวบ้านในเขตจอมทอง กทม. ซื้อกระต่ายพันธุ์วู้ดดี้จากตลาดนัดจตุจักรมาเลี้ยง แล้วเที่ยวไล่กัดคนในบ้านและเกิดชักเกร็งตายลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สุดท้ายผลพิสูจน์ออกมาว่ากระต่ายติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
          เรื่องมีอยู่ว่าครอบครัวดังกล่าวเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์ จึงตกลงใจซื้อกระต่ายมาเลี้ยง โดยไปซื้อมา 1 คู่ ในโซนขายสัตว์เลี้ยงตลาดนัดจตุจักร โดยตัวผู้ชื่อ"โป๊ะโกะ" ส่วนตัวเมียท้องเสียตายไปเสียก่อน ที่ผ่านมาเจ้าโป๊ะโกะมีสภาพร่างกายแข็งแรงดี ไม่เกเรและกินเก่งมาก
          ภายหลังโป๊ะโกะเริ่มมีอาการผิดปกติไล่งับคนในบ้านที่เดินผ่าน หนักสุดคือลูกชายโดนกัดรุนแรงเป็นแผลยาวกว่า 4 ซม. จากนั้นโป๊ะโกะก็หนักขึ้นเรื่อยๆแววตาสีแดงก่ำและชักเกร็งตายในที่สุด โดยกรมควบคุมโรคฟันธงแล้วว่า กระต่ายดังกล่าวติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
          สพญ.อภิรมย์ พวงหัตถ์หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ประชาชนมีความเข้าใจที่ผิดว่าโรคพิษสุนัขบ้าเกิดได้เฉพาะในสุนัขเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด หากได้รับเชื้อเรบีส์ไวรัส(Rabies Virus) จากสัตว์นำโรคแล้วมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ทั้งสิ้น
          โดยสัตว์นำโรคหลักที่มีโอกาสเกิดโรคสูงถึงร้อยละ 96 คือ สุนัข รองลงมาคือ แมวร้อยละ 3 และที่เหลืออีกร้อยละ 1 เป็นสุกร โค กระบือ ม้า และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆแม้กระทั่งตัวนากก็พบว่าติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้
          จากข้อมูลของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ระบุว่า การเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พบเฉพาะสายพันธุ์ที่ติดเชื้อจากสุนัขและแมวเท่านั้น ไม่พบในสายพันธุ์สัตว์ป่าแปลว่าสัตว์ที่เป็นโรคต้องเคยถูกสุนัขบ้ากัดมาก่อน หรือได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสุนัขไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
          ในกรณีสัตว์เลี้ยงภายในบ้านจำพวกแมวสุนัข กระรอก หนู หากไม่มีการฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคได้พอๆ กับสัตว์จรจัด เจ้าของสัตว์จำเป็นต้องเลี้ยงดูอย่างดี ถ้ามีการเลี้ยงในกรงอย่างมีรั้วรอบขอบชิด ข้อเสียคือ สัตว์ไม่ได้ออกกำลังกาย แต่สัตว์อาจมีความเสี่ยงน้อยที่จะได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ขณะที่ถ้าสัตว์ถูกปล่อยให้มีอิสระสุนัข กระรอก หนู หากไม่มีการฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคได้พอๆ กับสัตว์จรจัด เจ้าของสัตว์จำเป็นต้องเลี้ยงดูอย่างดี ถ้ามีการเลี้ยงในกรงอย่างมีรั้วรอบขอบชิด ข้อเสียคือ สัตว์ไม่ได้ออกกำลังกาย แต่สัตว์อาจมีความเสี่ยงน้อยที่จะได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ขณะที่ถ้าสัตว์ถูกปล่อยให้มีอิสระมากเกินไป ก็อาจถูกสัตว์ที่มีพาหะนำโรคกัดได้มากกว่า
          ทั้งนี้ วิธีสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงภายในบ้านว่าติดเชื้อหรือไม่ เริ่มจากสังเกตอาการในขั้นแรก นิสัยของสัตว์จะเปลี่ยนไป จากที่เคยวิ่งเล่นรักสนุกจะมีความดุร้าย ก้าวร้าว
          ในระยะที่ 2 สัตว์จะเริ่มมีอาการทางประสาท ตื่นเต้นตกใจง่ายกระวนกระวาย ไวต่อแสงสีเสียง เริ่มกัดทุกอย่างที่เดินผ่าน หรือขวางหน้า ถ้าขังกรงหรือล่ามโซ่ไว้ สัตว์ก็อาจกัดจนเลือดกบปาก
          ในระยะสุดท้ายเรียกว่า ระยะอัมพาตสัตว์จะเดินโซเซ ทรงตัวไม่ได้ ลิ้นห้อยออกจากปาก และเป็นอัมพาตล้มลงตาย บางตัวมีอาการชัก บางตัวอ้าปากกว้างเหมือนกำลังขย้อนสิ่งของที่ติดอยู่ในลำคอ เจ้าของบางคนไม่ทราบก็ใช้มือล้วงเข้าไป จังหวะนี้มีโอกาสถูกสัตว์กัดและรับพิษสุนัขบ้าได้โดยตรง
          สำหรับอาการโรคพิษสุนัขบ้าแสดงออกได้ใน 2 ลักษณะ คือ อาการดุร้ายและอาการเซื่องซึมโดยสัตว์จะดุร้ายเพราะอาการอยู่ในระยะที่ 2 เป็นเวลานาน แต่เข้าสู่ระยะที่ 3 เป็นเวลาสั้นๆ จึงตายเร็วกว่าสัตว์ที่เซื่องซึมเช่นเดียวกับอาการในคน หากคนที่เป็นพิษสุนัขบ้าแล้วแสดงอาการดุร้ายจะเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่มีอาการซึมเงียบ
          เอาเป็นว่า อย่าประมาทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในบ้านทุกชนิด คุณหมอเตือนว่า ใครเผลอไปสัมผัสน้ำลายหรือถูกกัดข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสบู่ ซับแผลให้แห้ง จากนั้นใส่ยาแล้วรีบส่งพบแพทย์ทันที ปลอดภัยไว้ก่อนคุณหมอสอนไว้ n
          5 วิธี ไกลพิษสุนัขบ้า
          มีคำแนะนำ 5 วิธี เพื่อสังเกตอาการสัตว์เลี้ยง (โดยเฉพาะสุนัขและแมว) ที่สุ่มเสี่ยงเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มตั้งแต่
          1.ตรวจประวัติการรับวัคซีนของสัตว์เลี้ยง โดยต้องรับวัคซีนมาอย่างน้อย 2 เข็ม เข็มสุดท้ายไม่เกิน 1 ปี ถ้าเป็นสัตว์เพิ่งเกิดสามารถนำไปฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 3 เดือน
          2.สังเกตว่าสัตว์เลี้ยงกินอาหารปกติดีหรือไม่ ถ้าเริ่มเบื่ออาหารง่วงซึม แสดงว่าเริ่มผิดปกติ
          3.ถ้าสัตว์ถูกเลี้ยงโดยปล่อยให้วิ่งเล่นอิสระ จะมีโอกาสสัมผัสเชื้อจากภายนอกได้มากกว่าเลี้ยงอย่างจำกัดบริเวณ
          4.ต้องดูเหตุการณ์ขณะกัดว่าเราไปแหย่สัตว์ให้โกรธ หรือสัตว์วิ่งพล่านมากัดเอง ถ้าเป็นอย่างหลังแสดงว่าเข้าข่ายติดโรคแล้ว
          และ 5.ถ้าเห็นว่าสัตว์เริ่มมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ให้กักบริเวณเพื่อรอดูอาการภายใน 10 วัน จากข้อมูลสถานเสาวภาและกรมอนามัยโลก ระบุตรงกันว่า ถ้าอยู่เกิน 10 วัน แสดงว่าสัตว์ปลอดภัย แต่ถ้าติดเชื้อจะเสียชีวิตภายใน 10 วัน 
 

 pageview  1205847    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved