Follow us      
  
  

โพสต์ทูเดย์ [ วันที่ 07/08/2555 ]
บทสรุปเก็บเงิน '30 บาท รักษาทุกโรค'

  นพ.วิชัย โชควิวัฒน
          ในที่สุดรัฐบาลก็ยอมถอยในเรื่องการเก็บค่าบริการครั้งละ 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ "บัตรทอง" หลังจากที่ต้องเสียเวลาเปล่าประโยชน์ร่วมปี
          เริ่มจากการประกาศระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ว่าจะกลับมาเก็บค่าบริการ30 บาทใหม่ ถ้าได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏพบว่าเป็นการประกาศจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆและจะได้เงินก้อนใหญ่ถึง4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะได้ซื้อ "30 บาท" กลับคืนมาแล้ว ยังจะสามารถใช้เงินก้อนดังกล่าวมาปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้นทันตาเห็น แต่เมื่อชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ก็เริ่มลังเลเมื่อต้องเผชิญกับเสียงคัดค้าน ซึ่งมีเหตุผลว่าการเก็บค่าบริการ 30 บาท เป็นเรื่องผิดหลักการ ยุ่งยาก และได้ไม่คุ้มเสีย เพราะจะเป็นเพียงกองทุนเดียว ซึ่งครอบคลุมประชากรถึง 47-48 ล้านคน ที่จะมีการเก็บเงินค่าบริการ ขณะที่อีก 2 กองทุน คือ ประกันสังคมและสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ไม่เก็บค่าบริการและจะสวนทางกับคำประกาศของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวในคราวไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าจะสร้างความเท่าเทียมในระหว่าง 3 กองทุน นอกจากนั้นหากกลับไปเก็บอีกก็จะประสบปัญหายุ่งยาก เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยในการทำบัตรหรือทำหลักฐานยกเว้นให้แก่คนยากจนที่มีสิทธิรักษาฟรีตามรัฐธรรมนูญซึ่งในอดีตไม่เคยมีหน่วยราชการใดทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เงินที่คาดว่าจะได้ปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท ก็จะได้จริงเพียง 1,000-2,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยเกินกว่าจะนำไปใช้ปรับปรุงบริการทั้งระบบซึ่งต้องใช้งบปีละกว่าแสนล้าน
          คงเพราะความเป็นจริงดังกล่าว ทำให้เกิดการลังเลอยู่หลายเดือนก่อนจะเริ่มผลักดันจนมีมติให้เก็บ 30 บาท ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่13 มิ.ย. 2555 โดยกำหนดให้เริ่มเก็บในวันที่ 1 ส.ค. แต่ก็ไม่สามารถ "เดินเครื่องเต็มสูบ"นั่นคือ 6 เดือนแรกให้เก็บเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น ไม่เก็บในโรงพยาบาลชุมชนที่มีอยู่กว่า 700 แห่งทั่วประเทศและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัย ซึ่งมีอยู่เกือบหมื่นแห่งทั่วประเทศ ซึ่งแปลว่าจะได้เงินน้อยกว่าที่คาดไว้แต่เดิมมาก
          ต่อมาเมื่อมีการประชุม"บูรณาการ 3 กองทุน" ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่21 มิ.ย. 2555 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เรื่องนี้ก็ถูกเบรกให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ และให้มี "การยกเว้นการร่วมจ่ายของประชาชน ให้อยู่ในดุลพินิจของหน่วยบริการเป็นรายกรณี" ซึ่งนับเป็นการ "ถอยไปอีกหนึ่งก้าว" ให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถใช้ดุลพินิจว่าจะเก็บหรือไม่เก็บเงิน 30 บาท ก็ได้
          แน่นอนว่า คงจะมีโรงพยาบาลจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจเก็บ 30 บาท เพื่อให้มีเงินไปใช้เพิ่มขึ้น และหวังว่าการเก็บ30 บาท จะเป็นเครื่อง"กีดขวาง" มิให้ประชาชนไปใช้บริการโดยพร่ำเพรื่อแต่ทันทีที่มีการประกาศมตินี้ออกไป นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ก็ประกาศทันทีว่าโรงพยาบาลที่ตนดูแลอยู่จะไม่มีการเก็บ30 บาท เพราะได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากจะ
          ต้องเสียเจ้าหน้าที่มากกว่า 1 คน เพื่อไปทำหน้าที่เก็บเงิน ออกใบเสร็จรับเงิน และทำบัญชี ข้อสำคัญเป็นการเพิ่มขั้นตอนให้ประชาชนต้องยุ่งยากมากขึ้นอีกหนึ่งขั้นตอน และเหนืออื่นใดคือ ไม่เห็นด้วยกับการเก็บ 30 บาท เพราะเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมทั้งกรณีเมื่อเทียบกับอีกสองระบบอย่างที่กล่าวมา
          ในที่สุดมีการทบทวนเรื่องนี้ในการประชุมของคณะกรรมการหลักประกัน
          สุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่10 ก.ค. 2555 ซึ่งกรรมการผู้แทนองค์กรเอกชนหลายคนได้คัดค้าน เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็ยอมรับว่าไม่สามารถปรับปรุงบริการได้ทุกอย่างตามที่ประกาศไว้ เพราะจะต้องใช้ทั้งเวลาและ
          งบประมาณ เช่น ระบบบริการการแพทย์ทางไกล ซึ่งแท้จริงแล้วโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับล้วนมีการปรับปรุงระบบบริการมาอย่างต่อเนื่องและแบกภาระจนล้นมืออยู่แล้ว เมื่อเก็บ30 บาท จะให้ปรับปรุงบริการขนานใหญ่อย่างทันตาเห็นย่อมเป็นไปไม่ได้
          ในที่สุดคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ต้อง "ถอยไปอีกหนึ่งก้าว" นั่นคือ การเพิ่มเงื่อนไขว่า"หากผู้รับบริการไม่ประสงค์ร่วมจ่าย ให้สามารถแจ้งความประสงค์และไม่ต้องร่วมจ่ายได้" ซึ่งเป็นการถอยกลับไปใช้หลักการที่คณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ อันมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานได้เคยเสนอไว้ ตั้งแต่คราวประชุมพิจารณาเรื่องนี้ครั้งแรก เมื่อวันที่13 มิ.ย. 2555 แต่คงจะเกิดการเปลี่ยนใจกะทันหัน ทำให้ผู้มีอำนาจชี้ขาดในคณะกรรมการตัดสิทธิของประชาชนในข้อนี้ออกไป แต่แล้วในที่สุดก็กลับมาให้สิทธิประชาชนที่จะจ่ายหรือไม่จ่ายก็ได้ ซึ่งน่าเชื่อว่าผลที่สุดแล้วคงจะเก็บเงินจากนโยบายนี้ได้น้อยมาก ความพยายามตลอดมาของเรื่องนี้ในที่สุดแล้วจึงมีผลเสมอเป็นเพียง "การสำเร็จความใคร่ทางอำนาจ" (Power Masturbation)เท่านั้นเอง
          เมื่อให้สิทธิประชาชนเช่นนี้แล้วก็ขอให้โรงพยาบาลต่างๆ ที่ให้บริการ เคารพในสิทธิของประชาชนอย่างแท้จริง ให้ประชาชนสามารถแสดงเจตนาไม่จ่ายได้โดยง่าย นั่นคือ ถ้าคนไข้หรือญาติตรงไปรับยาโดยไม่จ่ายเงิน 30 บาท ก็ไม่ต้องซักถามว่าจ่าย 30 บาทหรือยัง เพราะนั่นคือการแสดงเจตนาที่จะไม่จ่าย 30 บาท อยู่แล้วโดยพฤตินัย การ "บีบบังคับ" หรือ "จูงใจ" ทั้งทางตรงทางอ้อมให้ผู้รับบริการจ่าย 30 บาท เช่น ต้องให้กรอกแบบฟอร์มแสดงความประสงค์ไม่จ่ายเงิน นอกจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งแก่โรงพยาบาลและประชาชนแล้ว รังแต่จะทำให้เกิดปัญหาและความยุ่งยากทั้งแก่ประชาชนและโรงพยาบาลเองโดยไม่สมควร

 pageview  1205848    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved