Follow us      
  
  

ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 09/01/2563 ]
รู้ปัจจัยเสี่ยง โรคหลอดเลือดหัวใจ สาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลก

แต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดประมาณ 9.2 ล้านคน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ในจำนวนนั้นเป็นคนไทยปีละ 2 หมื่นกว่าคน และจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาวะความผิดปกติที่จะนำไปสู่โรคหัวใจ ขาดเลือดก็คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือภาวะที่ไขมันอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ทำให้ส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่สะดวก
          นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรม การแพทย์กล่าวว่า โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรค ที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท ประชาชนควรตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อย่างเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ สูบบุหรี่ ความเครียด โรคอ้วนลงพุง และกรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันได้
          อธิบดีกรมการแพทย์ให้ข้อมูลว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แบ่งได้ตามลักษณะอาการแสดงมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.แบบเรื้อรัง เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ เนื่องจากมีไขมันเกาะผนังหลอดเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 2.แบบเฉียบพลัน เกิดจากการปริแตกด้านในของผนังหลอดเลือด ทำให้มีลิ่มเลือดมาเกาะและมีการอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจส่งผลให้บางรายเสียชีวิตแบบกะทันหันได้
          ด้านนายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ อธิบายรายละเอียดอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจทั้ง 2 แบบว่า แบบเรื้อรัง เกิดขึ้นจาก การสะสมคอเลสเตอรอลที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือด ที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบแคบ มักเกิดในบุคคลที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และผู้ที่มี ไขมันในเลือดสูง รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ โดยมีอาการบ่งชี้ เช่น เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอกคล้ายมีบางอย่างมากดทับ รู้สึกร้าว ไปกรามและแขนด้านซ้าย ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการออกแรง ซึ่งอาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพักหรืออมยาใต้ลิ้น
          ส่วนอาการแบบเฉียบพลัน เกิดได้โดยไม่เลือกเวลา อาจมีอาการในขณะทำงาน เล่นกีฬา หรือพักผ่อน ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ ด้วยอาการแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง มีเหงื่อออก ใจสั่น และปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย จุกคอหอย บางราย มาด้วยอาการจุกลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน ซึ่งเกิดจากมีการปริแตกด้านในของผนังหลอดเลือด และมี ลิ่มเลือดมาจับตัวบริเวณนั้น เมื่อลิ่มเลือดมีปริมาณมากขึ้น เรื่อย ๆ ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาจจะส่งผล ให้เกิดหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย และอาจเสียชีวิตเฉียบพลันทันทีจากภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง
          ดังนั้นหากพบว่ามีอาการบ่งชี้ดังที่กล่าวมาควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกวิธีและรักษาชีวิตได้อย่างปลอดภัย ในกรณีที่พบผู้ป่วยหมดสติจากหัวใจวาย การกู้ชีพเบื้องต้นโดยผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและนำส่งโรงพยาบาลในทันทีอาจจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้
          สำหรับการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในปัจจุบันมี 3 วิธี คือ การรักษาด้วยยา การขยายหลอดเลือดแดงด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน และการรักษาด้วยการผ่าตัดเบี่ยงเบนหลอดเลือดหัวใจหรือการทำบายพาส
          แม้จะมีวิทยาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยสามารถรักษาช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ด้วยหลายวิธี แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดโรคก็ย่อมเป็นทางที่ดีที่สุด ดังนั้นวิธีป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ อันดับแรกเลย คือ ควรงดอาหารมัน ๆ ที่จะทำให้คอเลสเตอรอลในร่างกายสูง และถ้าออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอก็จะดีมากขึ้นไปอีก

 pageview  1205128    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved