Follow us      
  
  

ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 18/09/2562 ]
รอบรู้เรื่องอาหารปลอดภัย: สารให้ความหวานกับผลต่อสุขภาพ

  แม้ว่าพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยยุคปัจจุบันจะหันมาใส่ใจเรื่องความสำคัญของอาหารที่บริโภคมากขึ้นแต่ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาล 20 - 26  ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่แนะนำ โดยปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมต่อวันคือ 6 ช้อนชาต่อวัน
          การได้รับน้ำตาลมากเกินไป เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลจึงถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพหลายชนิด เช่น เครื่องดื่ม โยเกิร์ต ของหวาน เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการจำกัดปริมาณน้ำตาล หรือผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
          มาทำความรู้จักกับชนิดของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจและสามารถเลือกใช้ได้ตรงกับความต้องการ
          ชนิดของสารให้ความหวาน- แบบลดพลังงาน (Reduced-calories sweetner) ได้แก่ กลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohol) ยกตัวอย่าง ซอร์บิทอล (sorbitol) แมนนิทอล (mannitol) ไซลิทอล (xylitol) ไอโซมอลต์ (isomalt) มาลิทอล (malitol)แลคติทอล (lactitol) และทากาโลส (tagalose) ซึ่งสารให้ความหวานประเภทน้ำตาลแอลกอฮอล์นี้ จะให้พลังงานประมาณ 50-60% ของน้ำตาลปกติ
          ข้อดีของน้ำตาลแอลกฮอล์ คือ ไม่ทำให้ฟันผุ ถูกดูดซึมได้ช้ากว่า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นช้ากว่าซูโครส หรือกลูโคส ผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้น้ำตาลในกลุ่มนี้ ได้แก่ หมากฝรั่ง ลูกอม ยาสีฟัน และช็อกโกแลต สารให้ความหวานกลุ่มนี้มีความปลอดภัยสูง สามารถรับประทานได้ในช่วง 20 -100 กรัมต่อวัน
          - สารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (non-nutritive sweetener) หรือสารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงาน มีความหวานมากกว่าน้ำตาล 200 - 10,000 เท่า จึงต้อใช้ในปริมาณที่น้อยมาก และหากนำมาใส่อาหารต้องไม่เกินปริมาณที่บริโภคได้อย่างปลอดภัย(Acceptable Daily Intake) ซึ่งจะมีกำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
          ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้บริโภคสามารถดูรายละเอียดได้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์สินค้า สารให้ความหวานในกลุ่มนี้มีทั้งชนิดที่เป็นสารสังเคราะห์ ได้แก่ แอสพาร์แทม(aspartame) อะซีซัลเฟมโพแทสเซียม (acesulfame potassium) แซคคาริน (saccharin)ซูคราโลส (sucralose) นีโอแทม (neotame) ในกลุ่มของสารให้หวานชนิดสังเคราะห์ที่นิยมใส่ในเครื่องดื่มต่างๆ โดยเฉพาะน้ำอัดลม คือ แอสพาร์แทมและ อะซีซัลเฟมโพแทสเซียม
          สารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงานแก่ร่างกายอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งสกัดได้จากธรรมชาติ คือ สตีเวีย (stevia) หรือหญ้าหวานเป็นสารกลุ่ม สตีวิออล ไกลโคไซด์ (stevioside)มีความหวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 300 เท่า นิยมใส่ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น เครื่องดื่ม ขนมหวาน อาหารทะเล และใช้เป็นน้ำตาลที่ใช้บนโต๊ะอาหาร
          ข้อดีของสารให้ความหวานชนิดนี้คือ ทนร้อนและไม่ให้พลังงาน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สารให้ความหวานจากหญ้าจะได้จากธรรมชาติ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวันอยู่ที่ 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ส่วนในแง่ของรสชาติสารสกัดจากหญ้าหวานจะให้รสหวานปนขมติดปลายลิ้น
          ข้อควรระวังในการใช้สารให้ความหวาน1. พิจารณาผลข้างเคียงของสารให้ความหวาน เช่น น้ำตาลแอลกฮอล์ หากบริโภคมากเกินไปจะทำให้มีอาการท้องเสีย และแอสพาร์แทมนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคฟีนิลคีโตนยูเรีย ไม่สามารถทานได้เนื่องจากไม่มีเอนไซม์ที่ใช้ย่อยกรดอะมิโนซึ่งเป็นองค์ประกอบของแอสพาร์แทม
          2. ผู้บริโภคควรต้องพิจารณาสารอาหารอื่นๆที่เป็นองค์ประกอบในอาหารที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลด้วย เพราะผลิตภัณฑ์ "sugar-free" ไม่ได้หมายความว่า "low-calorie" หรือ "low fat" เพราะพลังงานที่ได้อาจมาจากสารอาหารอื่น เช่น แป้งไขมัน ถ้ารับประทานมากไปก็จะทำให้ได้รับพลังงานมากกว่าที่ร่างกายต้องการ
          ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคในการเลือกรับประทาน หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารให้ความหวาน ใน 1 สัปดาห์ ให้เลือกทานน้ำตาลปกติสลับกับสารให้ความหวาน เน้นรับประทานอาหารที่หลากหลาย ไม่ควรบริโภคสารให้ความหวานชนิดเดิมๆซ้ำไปซ้ำมา ที่สำคัญบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณเหมาะสมกับความต้องการของร่างกายดร.ดาลัด ศิริวัน รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน
          สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
          มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์www.cpfworldwide.com

 pageview  1204955    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved