Follow us      
  
  

ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 20/06/2562 ]
แผลเบาหวานติดเชื้อง่าย หายยากควรใส่ใจดูแลก่อนลุกลามถูกตัดเท้า

โรคเบาหวานเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะ แทรกซ้อนตามมาหลายประการ ที่สำคัญและน่าเป็นห่วง คือ การเกิดแผลเบาหวาน เมื่อเกิดบาดแผลแล้วอาจติดเชื้อได้ง่ายและหายยาก ทางที่ดีคนไข้ควรใส่ใจดูแล อย่าละเลยจนเกิดบาดแผล เพราะถ้าแผลติดเชื้อลุกลามอาจจะร้ายแรงถึงขั้นต้องตัดขาเลยทีเดียว
          พญ.สุทธาทิพย์ เวชวิทย์วรากุล แพทย์ด้านศัลยศาสตร์หลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า แผลเบาหวาน เป็นบาดแผลเรื้อรังที่พบได้บ่อย สาเหตุหลัก ๆ มักจะเกิดกับผู้เป็นเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงที่ระบบประสาทส่วนปลายรวมถึงหลอดเลือดส่วนปลายจะเสียหาย ส่งผลให้เส้นเลือดตีบและอุดตันในที่สุด เมื่อเท้าเกิดการขาดเลือด ส่งผลให้แผลหายยากเพราะไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีระบบประสาทรับความรู้สึกเสื่อม รับความรู้สึกได้น้อยลงหรือ รับความรู้สึกไม่ได้เลย จึงเกิดอาการชา ไม่รู้สึกเจ็บ เมื่อสัมผัสความร้อนหรือเย็น หรือมีแผล เมื่อเป็นแผลที่เท้าในช่วงแรกมักไม่รู้สึก กว่าจะรู้ตัว แผลก็ลุกลามไปมากแล้ว ทำให้รักษายาก กระบวนการการรักษาแผลของร่างกายเป็นไปอย่างล่าช้า
          อีกทั้งการที่ระบบประสาทสั่งการผิดปกติก็ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ เท้าเกิดการผิดรูปบิดเบี้ยว เนื้อบริเวณปุ่มกระดูกบางแห่งต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น เกิดเป็นแผลได้เช่นกัน และหากมีการติดเชื้อรุนแรงร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจต้องถูกตัดเท้าหรือขา โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดแผลเบาหวานคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นแผลเบาหวานเรื้อรังมานาน 5-10 ปี ยิ่งเป็นโรคเบาหวานมานานหลายปียิ่งเสี่ยงที่จะเกิดบาดแผล
          พญ.สุทธาทิพย์บอกอีกว่า ผู้ป่วยเบาหวานสามารถป้องกันการสูญเสียได้โดยการตรวจดูแลรักษาแผลและหลอดเลือดตั้งแต่ระยะแรก สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันดูแลแผลเบาหวาน คือ การคุมระดับน้ำตาล และหมั่นตรวจเท้าทุกวัน คนไข้ควรมีกระจกดูด้านล่างของเท้าเพื่อส่องบริเวณนิ้วเท้าและใต้เท้าด้วย เพราะอาการชาไม่รู้สึกเจ็บจะทำให้แผลไม่รบกวนผู้ป่วยจนกระทั่งลุกลามไปแล้ว
          สำหรับคนไข้เบาหวานหากมีบาดแผลเกิดขึ้น ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลักๆ มี 2 ประเด็น คือ 1.มีเส้นเลือดตีบหรือตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเท้าไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีอาการปวดน่อง เดินได้เพียงระยะทางสั้น ๆ ก็ต้องนั่งพักเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่พอ ถ้าผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ปล่อยให้ลุกลามจนเลือดไปเลี้ยงไม่ได้จะกลายเป็นแผลเรื้อรัง ซึ่งระยะการลุกลามนั้นขึ้นอยู่กับว่าบาดแผลนั้นขาดเลือดหรือติดเชื้อรุนแรงมากเพียงใด ดังนั้น เมื่อมีแผลหรือมีปัญหาเกิดขึ้นกับเท้า ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที 2.เนื่องจากคนไข้เบาหวานจะมีน้ำตาลในเลือดสูง หากไม่ควบคุมน้ำตาล ก็จะยิ่งทำให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ง่ายและหายยาก
          วิธีการรักษาแผลเรื้อรังจากเส้นเลือดตีบตันในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน คือ
          1.คนไข้เบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เพราะไม่อย่างนั้นจะรักษาเรื่องการติดเชื้อไม่ได้ หากน้ำตาลในเลือดสูง ระบบร่างกายจะทำงานได้ไม่ค่อยดี ทำให้กำจัดเชื้อออกไปจากร่างกายไม่ได้
          2.ทำบอลลูนขยายหลอดเลือด เพื่อให้เลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงบริเวณส่วนที่เป็นแผลได้ ทั้งนี้การรักษาด้วยเทคโนโลยีบอลลูนหลอดเลือดสามารถทำได้ในคนไข้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เพราะจะรบกวนระบบของการทำงานของร่างกายน้อยกว่า เปรียบเทียบกับในอดีตที่ส่วนใหญ่ต้องใช้การรักษาด้วยวิธีการบายพาส ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่แพทย์จะใช้เส้นเลือดดำหรือเส้นเลือดเทียมมาเย็บต่อโดยข้ามผ่านเส้นเลือดส่วนที่ตีบ ทั้งนี้การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมถือเป็นส่วนสำคัญในการรักษาคนไข้
          อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ดีที่สุดก็คือการป้องกัน คนไข้ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี หมั่นทำความสะอาดเท้า ตรวจเท้าและฝ่าเท้าทุกวัน เพื่อเช็กดูว่ามีแผลที่เท้าหรือไม่ และทาครีมไม่ให้เท้าแห้งแตกจนเกิดแผล หากเท้าผิดรูปอาจต้องใส่รองเท้าพิเศษสำหรับผู้ป่วยเพื่อให้รับกับรูปเท้าและป้องกันไม่ให้เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เมื่อเกิดแผลก็ไม่ควรรีรอและรักษาเองจนลุกลาม ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ทันท่วงที

 pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved