Follow us      
  
  

ประชาชาติธุรกิจ [ วันที่ 06/08/2561 ]
อย.บังคับฉลากไขมันทรานส์ 0%TRANSFAT-จี้ตรวจอาหารนำเข้า

เอกชนมั่นใจส่งออกอาหารได้รับอานิสงส์ หลัง อย.คุมเข้มไขมันทรานส์สอดรับเทรนด์โลก ด้านสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปห่วงอาหารสำเร็จรูปนำเข้าแฝงไขมันทรานส์เข้ามาถล่มตลาดในประเทศ เร่งถก อย.กำหนดมาตรการกำกับดูแลการผลิต-จำหน่าย-นำเข้า พร้อมแนะรัฐบาลติดฉลาก "0% tran sfat" ตามแบบฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 สร้างความรับรู้ให้กับประชาชน
          นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปแห่งประเทศไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" หลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการนี้เป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยให้ระยะเวลาผู้ประกอบการในการปรับปรุงกระบวนการผลิต 6 เดือน นับจากวันที่ 13 มิถุนายน 2561
          การห้ามอาหารที่มีส่วนประกอบของ "ไขมันทรานส์" ตามประกาศข้างต้น ส่งผลดีกับอุตสาหกรรมอาหารของไทยในการส่งออก เนื่องจากไทยถือเป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลเรื่องนี้ ขณะที่ ผู้ประกอบการไทยก็ได้มีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมแล้ว ซึ่งจะส่งผล ดีต่อภาพรวมการส่งออกอาหารไทย
          "ตามปกติในกระบวนการผลิตอาหารทุกชนิดมีไขมันทรานส์เป็นส่วนผสมอยู่แล้ว เพียงแต่มีปริมาณน้อย เพราะไขมัน ชนิดนี้เกิดจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนที่มี 2 แบบคือ การเติมทั้งหมด (fully process) แบบนี้จะไม่ทำให้เกิดไขมันทรานส์ แต่การเติมไฮโดรเจนบางส่วนหรือ partially hydrogenated oil (PHO) จะทำให้เกิดไขมันทรานส์ ทาง อย.จึงต้องเข้ามาควบคุมส่วนนี้ (PHO) ซึ่งมักพบในมาร์การีนกับเนยขาวในอดีต"
          ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมานั้น จะทำให้ผู้ผลิตสินค้าอาหารแบบที่มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วน PHO "ขายไม่ได้" แต่ล่าสุดมีการเชิญผู้ผลิต "มาร์การีน-เนยขาว" เข้ามาหารือแล้ว พบว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้มีการปรับกระบวนการผลิตเช่นเดียวกับกลุ่มผู้ผลิตเบเกอรี่จากต่างประเทศ
          "สหรัฐออกประกาศบังคับใช้เรื่องไขมันทรานส์เมื่อ 3 ปีก่อน แต่ให้เวลาปรับตัว 3 ปีเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ ใกล้เคียงกับการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขไทย แต่ที่ไทยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือนนั้น ข้อดีคือ เมื่อประเทศหนึ่งแบนการใช้ไขมันทรานส์ จะส่งผลให้มี สินค้าที่ผลิต โดยมีส่วนผสมของไขมัน ทรานส์จากประเทศนั้นทะลักมายังประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายของไทยขณะนี้จึงเป็นการป้องกันไม่ให้มีใครนำเข้าสินค้าที่มีส่วนผสมไขมันทรานส์เข้ามา เพราะทำตลาดภายในประเทศไม่ได้" นายวิศิษฐ์กล่าว
          ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เชิญสมาคม ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเข้าไปหารือเพื่อออกมาตรการกำกับดูแลว่า เบื้องต้นจะกำหนดข้อความบนฉลากอย่างไร จะกำหนดสัดส่วนไขมันทรานส์อย่างไร บางส่วนเห็นว่า ควรกำหนดให้ทำแบบฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หรือกำหนดแบบกระทรวงสาธารณสุขใช้น้ำตาล น้ำมันไม่เกินกี่ช้อน เป็นต้น หลังจากนี้ อย.จะต้องออกแนวปฏิบัติออกมาให้ ผู้ประกอบการทราบ "อย.ต้องกำหนดรายละเอียดว่า จะตรวจสอบและพิสูจน์อย่างไร อย.จะรับในรูปแบบสำแดงในฉลาก ถ้าเราไม่ใช้ trans fat free อาจจะใช้ 0% trans fat เพื่อยืนยันว่า มีส่วนผสมของทรานส์ไม่เกินปริมาณที่กำหนด" นายวิศิษฐ์กล่าว
          ทั้งนี้การวัดค่าเฉลี่ยการมีไขมันทรานส์เป็นส่วนผสมแล้วไม่ก่อให้เกิดอันตรายจะมี 2 แบบคือ กำหนดอัตราการมีไขมันทรานส์เป็นส่วนผสมสูงสุดเป็น "เปอร์เซ็นต์" หรือเป็น "กรัม" 0.5-1 กรัมต่อ 100 กรัม ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ขณะนี้ประเทศที่บังคับใช้แล้ว ได้แก่ สหรัฐ, แคนาดา, เดนมาร์ก, จีน ส่วนใน อาเซียนมีประเทศไทยและมาเลเซีย มีตัวอย่างการออกมาตรการกำกับดูแลของ ประเทศเหล่านี้ เช่น
          สหรัฐกำหนดให้ใช้การติดฉลาก "0g.trans fat" หากใช้สูตรที่กำหนดสัดส่วนการใช้ไขมันทรานส์เป็นส่วนผสมได้ไม่เกินปริมาณที่กำหนดเมื่อปี 2546, เดนมาร์กกำหนดให้มีไขมันทรานส์เป็น ส่วนผสมไม่เกิน 2%, แคนาดาบังคับใช้เมื่อ ปี 2548 กำหนดให้มีไขมันทรานส์เป็นส่วนผสมไม่เกิน 0.2 กรัม แต่ในอาหารทั่วไปของแคนาดาต้องน้อยกว่า 2% ของ ไขมันทั้งหมดที่อยู่ในน้ำมัน, จีนบังคับใช้ ปี 2556 กำหนด 0.3 กรัมต่อ 100 กรัม, ญี่ปุ่นไม่มีการกำหนดมาตรการควบคุมไขมันทรานส์, มาเลเซียบังคับใช้ปี 2549 กำหนดใช้ฉลาก low trans fat สหภาพยุโรปให้ระบุแค่ว่า การผลิตเป็นแบบ fully หรือ partially hydrogenated oil (PHO) ส่วนมาตรฐาน CODEX ยังอยู่ระหว่างหารือ ว่า ให้ลงฉลากว่า free of trans fatty acid ส่วนประเทศไทยควบคุมต้นทาง ห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้าน้ำมันพืชที่เติมไฮโดรเจนบางส่วน PHO
          ด้าน น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีอาหารสำเร็จรูปนำเข้า แม้ว่าจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ตามกฎหมายของ อย.ที่ประกาศห้ามใช้ ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า PHO ไปแล้ว หมายถึง ห้ามอาหารนำเข้าอยู่แล้ว แต่หลังจากนี้จะต้องมีมาตรการออกมาว่า "จะพิสูจน์อย่างไร" โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาในรูปแบบวัตถุดิบ แต่มาในรูปแบบอาหาร ขนมสำเร็จรูป จะมี การตรวจสอบได้อย่างไร ในอนาคตต้องวางกระบวนการตรวจสอบทุกลอต เช่น ต้องมีใบรับรอง certificate เป็นต้น

 pageview  1205105    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved