Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 01/05/2555 ]
สมองไหล: ปัญหาเรื้อรังของฟิลิปปินส์

ดร.วับรัศมิ์ ลีละวัฒน์
          สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
          ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ให้การสนับสนุนแรงงานของตนให้ไปทำงานในสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ เป็นจำนวนมาก จนถึงปัจจุบันแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ (Overseas Filino Workers) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า OFW ไม่ว่าจะเป็นแรงงานระดับล่าง หรือแรงงานวิชาชีพ เช่น แพทย์พยาบาล วิศวกร นักบิน ฯลฯ มีอยู่เกินกว่า 4.2 ล้านคน หรือประมาณ 4.6% ของประชากร และเป็นสัดส่วน 11.3% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ
          การออกไปทำงานในต่างประเทศของ OFW มีผลดีคือ สามารถแก้ปัญหาการว่างงานในประเทศได้บ้าง เพราะตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นค่อนข้างจำกัด ไม่สามารถรองรับอุปทานแรงงานทั้งหมดได้กอปรกับเงินที่ OFW ส่งกลับมาจุนเจือครอบครัวที่อยู่บ้านเกิด ทำให้สมาชิกครอบครัวสามารถจับจ่ายใช้สอยและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
          ระบบเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ต้องพึ่งพาเงินส่งกลับเป็นอย่างมาก ในปี 2554 ปริมาณเงินส่งกลับสูงถึง 23.03 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 10.7% ของจีดีพีโดยมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ย 7-8% นับจากปี 2549 เป็นต้นมาเมื่อเทียบกับเงินจากต่างประเทศแหล่งอื่นๆ ถือว่าเงินส่งกลับมีสัดส่วนที่สูงมาก ในขณะที่เงินลงทุนจากต่างประเทศมีปริมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์ และเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศมีแค่ 0.1 พันล้านดอลลาร์เท่านั้นเอง
          นโยบายส่งเสริมให้แรงงานออกไปทำงานในต่างประเทศนี้สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ดี เนื่องจากเงินส่งกลับที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงของ OFW สามารถกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ส่วนเงินที่เหลือใช้จากการบริโภค ก็เป็นเงินออมสำหรับครอบครัวของ OFW นำไปลงทุนในธุรกิจเล็กๆ เพื่อสร้างรายได้อีกต่อหนึ่ง
          หากมองอีกมุมหนึ่งนับได้ว่า นโยบายนี้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ไม่ยั่งยืนของฟิลิปปินส์เป็นนโยบายที่ทำให้ประเทศต้องเสียแรงงานวิชาชีพระดับหัวกะทิให้กับต่างชาติเป็นจำนวนมาก น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ภาครัฐลงทุนอุดหนุนให้ได้รับการศึกษาในประเทศ ซึ่งเงินอุดหนุนก็มาจากภาษีประชาชนนั่นเอง แต่หัวกะทิทั้งหลายออกไปทำงานให้กับประเทศอื่นโดยที่ไม่ได้อุทิศพลังสมองให้กับฟิลิปปินส์อย่างเต็มที่นี่แหละเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาประเทศของฟิลิปปินส์เป็นไปอย่างล่าช้า เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ
          ในปัจจุบันฟิลิปปินส์เป็นประเทศผู้ส่งออกพยาบาลมากที่สุดในโลก พยาบาลชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศ มีกว่าสองแสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐ โอกาสที่ดีเช่นนี้เป็นแรงจูงใจให้การเรียนวิชาพยาบาลเป็นที่นิยมมากขึ้น จำนวนวิทยาลัยการพยาบาลเพิ่มขึ้นจาก 189 แห่ง ในปี 2541 เป็น 456 แห่งในปี 2553 ในขณะที่การเรียนวิชาแพทย์มีความต้องการน้อยลง จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนลดลงทุกปีนับตั้งแต่ 2543 คณะแพทย์ศาสตร์ในบางมหาวิทยาลัยต้องปิดตัวลง คนที่เคยคิดจะเรียนแพทย์ก็หันมาเรียนพยาบาลเพราะคาดว่าจะมีโอกาสได้ไปทำงานในต่างประเทศมากกว่า
          จากข้อมูลของธนาคารโลก พบว่า แพทย์ชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 20,149 คนในปี 2553 แน่นอนว่าไม่ใช่หมอทุกคนจะเป็นหมอในต่างประเทศตามที่เรียนมา หมอหลายคนผันตัวเองไปเป็นพยาบาล เพื่อที่จะได้ทำงานในสหรัฐ และแคนาดาได้ง่ายขึ้นลักษณะเช่นนี้เรียกว่า nursing medics phenomenon ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างไม่คุ้มค่า
          ปัญหาสมองไหลของแพทย์และพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลกว่า 200 โรงต้องปิดลง อีกทั้งโรงพยาบาลเกือบ 800 โรงต้องหยุดให้บริการบางอย่างลง เนื่องจากขาดแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่การแก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มค่าตอบแทนก็อาจทำได้ยาก เพราะจำทำให้การรักษาพยาบาลมีต้นทุนและราคาที่สุงขึ้น ในที่สุดคนจนก็จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้ยากขึ้น
          เครื่องมืออันหนึ่งที่อาจช่วยได้ก็คือข้อคกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreement) หรือ MRA สาขาวิชาชีพแพทย์ของอาเซียน MRA จะอำนวยความสะดวกให้แพทย์จากประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถเข้าไปประกอบอาชีพในฟิลิปปินส์ได้ ถ้าคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานของคณะกรรมการกำกับดูแลวิชาชีพแพทย์ของฟิลิปปินส์ ซึ่งอาจจะบรรเทาปัญหาสมองไหลเรื้องรังนี้ได้บ้าง แต่ที่สำคัญ รัฐบาลฟิลิปปินส์จำเป็นต้องปรับแก้กฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่อนุญาตให้เฉพาะหมอที่เกิดในฟิลิปปินส์เท่านั้นที่จะสามารถประกอบวิชาชีพแพทย์ภายในประเทศฟิลิปปินส์ได้
          แต่อย่างไรก็ดี MRA อาจเป็นดาบสองคมได้ ด้วยเหตุว่า MRA จะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้หมอชาวฟิลิปปินส์ที่ประกอบวิชาชีพในประเทศมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี สามารถขอขึ้นทะเบียนหรือขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้หมอชาวฟิลิปปินส์ต้องการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในมาเลเซียและสิงคโปร์มากขึ้น เพราะหวังว่าจะได้รับที่ค่าตอบแทนที่สูงกว่าที่ได้รับในประเทศของตน หากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นการตอกย้ำปัญหาเดิมๆ ให้หนักเข้าไปอีก
          ถ้าต้องการให้แรงดึงเข้ามากกว่าแรงผลักออก นอกจากจะต้องยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นการกีดกันแพทย์จากอาเซียนแล้ว รัฐบาลจะต้องริเริ่มมาตรการเสริมขึ้นมาอีก เพื่อที่จะทำให้การเข้ามาทำงานในฟิลิปปินส์ของแพทย์จากอินโดนีเซีย เวียดนามและประเทศอาเซียนอื่นๆ เป็นเรื่องที่ง่านและไม่ต้องมีขั้นตอนอะไรมากมาย เช่น การจัดตั้ง One-Stop Service หรือ การส่งผู้แทนไปรับสมัครแพทย์ถึงที่ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งให้ฟิลิปปินส์สามารถแก้ปัญหาสมองไหลที่เรื้อรังอยู่ได้เร็วขึ้น
          น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ภาครัฐลงทุนให้ได้รับการศึกษาในประเทศ แต่หัวกะทิทั้งหลายไปทำงานให้กับประเทศอื่น

 pageview  1205841    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved