Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 27/02/2556 ]
รักลูก ต้องดูแลตั้งแต่..ฟันซี่แรก

เด็ก อาจไม่สนใจ เพราะเห็นว่า ไม่นานฟันแท้ก็จะขึ้นมาแทนที่  จากผลการสำรวจของ พบว่า เด็กไทย 80% กำลังเผชิญ "โรคฟันน้ำนมผุ" ภัยร้ายที่พ่อแม่มองข้าม แต่กลับส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ฟันผุทำให้เด็กมีการบดเคี้ยวที่แย่ลง ส่งผลให้เกิดการขาดสารอาหารเรื้อรัง  แคระแกร็น สมองพัฒนาน้อย ความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาการช้า ล่าสุด สสส.สานต่อแคมเปญ รณรงค์ "ลูกรักฟันดี เริ่มที่ซี่แรก ปี 2" เร่งเปลี่ยนความเข้าใจ พ่อแม่ทั่วประเทศให้เริ่มดูแลตั้งแต่ฟันน้ำนม ซี่แรก
          ทพ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการสำรวจโดยกรมอนามัย  พบว่า เด็กเริ่มมีฟันผุตั้งแต่อายุ 9 เดือน และเมื่ออายุ 3 ขวบ จำนวน  6 ใน 10 คน จะมีฟันน้ำนมผุ โดยมีค่าเฉลี่ยฟันผุคนละประมาณ 3 ซี่ และเมื่อเด็กโตขึ้นจนอายุ 5 ขวบ ฟันน้ำนมก็จะผุมากขึ้น โดยเด็ก 8 ใน 10 คนมีฟันผุ ประมาณคนละ 5 ซี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่มีอุบัติการณ์ของฟันผุสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว บางพื้นที่พบ 100 เปอร์เซ็นต์ ของเด็กมีฟันผุในช่องปาก และร้อยละ 90 ของเด็กที่มีฟันผุยังไม่เคยได้รับการรักษาใดๆ ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมาก ยังมีความเข้าใจที่ผิดว่า ฟันน้ำนมไม่สำคัญไม่จำเป็นต้องดูแล พอหลุดไปฟันแท้ก็ขึ้นมาแทนที่
          จากการรวบรวมบทวิจัย เพื่อวิเคราะห์ พบว่า การบดเคี้ยวมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาด้านการทำงานของสมอง การเคี้ยวอาหารแข็งจะส่งสัญญาณประสาทไปที่สมอง ทำให้มีการเจริญเติบโตทางสมองดีกว่าเมื่อเทียบกับการเคี้ยวอาหารอ่อน นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่มีฟันผุ จนมีอาการปวดเรื้อรังมีผลต่อภาวะโภชนาการและสุขภาพโดยรวมของตัวเด็กเอง หลายการศึกษาพบว่า เด็กที่มีฟันผุจะมีน้ำหนักต่ำกว่าอายุเมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่ไม่มีฟันผุ  และเมื่อได้รับการบูรณะฟันทั้งปาก เด็กจะมีการเจริญเติบโตเท่ากับกลุ่มที่ไม่มีฟันผุ แต่ก็มีบางการศึกษาที่พบว่าเด็กที่มีฟันผุไม่สามารถ รับประทานอาหารได้อย่างสมดุลและเลือกรับประทานอาหารเหลว รสหวาน จะทำให้เกิดภาวะอ้วนได้  สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือเด็กเล็กๆ ยังไม่สามารถอธิบายหรือบอกถึงความเจ็บปวดที่เกิดจากฟันผุได้ แต่จะแสดงออกถึงการมีความเจ็บปวดเรื้อรัง โดยไม่อยากรับประทานอาหาร  รู้สึกหงุดหงิด และนอนไม่หลับ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของตัวเด็กเอง
          โดยผลการวิเคราะห์ข้างต้นสอดคล้องกับ ผลการศึกษาของรศ.ทญ. ชุติมา ไตรรัตน์วรกุล พบว่า โรคฟันผุในเด็กปฐมวัยจะส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเด็กในกลุ่มที่ฟันแข็งแรง เนื่องจากในภาวะที่เด็กมีความเจ็บปวดและอยู่ในระหว่างการติดเชื้อของฟัน เด็กจะรับประทานอาหารได้น้อยลง ความเจ็บปวดที่รบกวนการนอนของเด็ก จะทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายลดลง และขณะที่ร่างกายมีการติดเชื้ออัตราการเผาผลาญพลังงานโดยรวมในร่างกายเพิ่มขึ้น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจะรบกวนต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามปกติของเด็ก ในเด็กที่มีการสูญเสียฟันหน้าน้ำนมบนไปตั้งแต่อายุน้อยๆ จะส่งผลต่อพัฒนาการในการพูดและ ความเชื่อมั่นในตนเองของเด็ก  และเด็กที่มีฟันน้ำนมผุจะมีโอกาสเกิดฟันผุในฟันแท้เพิ่มขึ้นด้วย
          ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะมีพรบ.หลักประกันคุณภาพถ้วนหน้าต่อโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของประชากรไทยแล้วก็ตาม  แต่ในกรณีที่โรคลุกลามไปมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก การรักษาจะยุ่งยากมากขึ้น ถึงแม้การรักษาเนื้อเยื่อในฟันน้ำนมจะระบุไว้ว่า เป็นสิทธิประโยชน์ของการประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 51 ของทันตแพทย์ไม่สามารถให้บริการในระดับที่ยุ่งยากได้ เนื่องจากมีปริมาณผู้ป่วยมาก และไม่สามารถจัดการพฤติกรรมเด็กได้ รวมทั้งหลังการรักษาเนื้อเยื่อในฟันน้ำนมเหล่านี้จำเป็นต้องบูรณะด้วยครอบฟันเหล็ก ไร้สนิม ซึ่งไม่รวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์และผู้ปกครอง ก็ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาเองได้ทันตแพทย์ จึงมักเลือกถอนฟันน้ำนมเหล่านี้
          ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมา คือ มีการสูญเสียพื้นที่ในขากรรไกรซึ่งต้องใส่ เครื่องกันที่ โดยงานชนิดนี้ก็ไม่รวมอยู่ในชุด สิทธิประโยชน์เช่นกัน ทำให้เด็กไทยในครอบครัวที่มีรายได้น้อยยังขาดการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมอย่างสมบูรณ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิด โรคขึ้น เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคจะต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาแล้ว การที่เด็กไทยมีสุขภาพช่องปากดี ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศ ในอนาคตอีกด้วย
          อย่างไรก็ตาม การดูแลเพื่อการป้องกันฟันผุ สามารถทำได้โดยการแปรงฟันให้เด็กด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์วันละ 2 ครั้ง และควบคุมการกินหวานของเด็ก

 pageview  1205464    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved