Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 09/04/2564 ]
สปสช.คืนสิทธิกลุ่มชายขอบ ช่วยเข้าถึงบริการสุขภาพ

ลภายใต้ "กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค. 2553" บริหารโดยสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ภายใต้กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ
          กรุงเทพธุรกิจ   ปัจจุบัน กลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ มีจำนวนทั้งสิ้น 539,701 คน (ฐานข้อมูลสิทธิ สปสช. ณ 1 เม.ย. 2564) ส่วนใหญ่ จะอยู่ในพื้นที่ ภาคเหนือและภาคตะวันตก โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 คณะผู้บริหารสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าร่วม พิธีมอบบัตรประชาชน รหัส 5 ให้กับกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ที่ โฮงเฮียนแม่น้ำของ บ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
          พื้นที่เขต 10 อุบลราชธานี มีคนกลุ่มนี้ทั้งสิ้น 7,514 คน โดยอยู่อาศัยในจังหวัดอุบลราชธานี ตามชายขอบลุ่มน้ำโขง 5,903 คน (80% ของทั้งเขต) การแก้ไขปัญหากลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ของ สปสช.เขต 10 ดำเนินการผ่านทาง "หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน 50(5)" มีอยู่ 5 แห่งครบทุกจังหวัด ทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายภาคประชาชน โดยจะดำเนินการให้คำแนะนำช่วยเหลือ และพาไปยื่นเรื่องพิสูจน์สถานะ จนกระทั่งได้บัตรประชาชน และลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาล ที่ผ่านมา ได้ทำการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ไปแล้วกว่า 96 คน (ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานี)
          สำหรับ "บ้านตามุย" หมู่ที่ 4 มีประชาชนทั้งกลุ่มคนไทย และคนลาวอพยพที่หนีภัยสงครามข้ามมาเมื่อกว่า 40 กว่าปีที่แล้ว และตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่ โดยปัจจุบันบ้านตามุย มีประชากรทั้งสิ้น 609 คน พบเป็นกลุ่มที่มีปัญหาทางสถานะและสิทธิ 101 คน ได้ รับการพิสูจน์และได้บัตรประชาชนไปแล้ว  75 คน อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนแล้ว รอพิสูจน์สถานะ 26 คน และยังไม่เข้าสู่กระบวนการใดๆ อีก 2 คน
          ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า แม้ว่าภาพรวมของกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ จะมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับแล้ว แต่ยังมีปัญหาการเข้าถึงและความไม่เท่าเทียมในการเข้ารับบริการ ที่ยังคงรอการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของประเทศ
          "ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนไทย แต่ ด้วยเหตุตกหล่นอะไรก็ตามแต่ ทำให้ชื่อไม่ปรากฏ ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเจ็บป่วยคนกลุ่มนี้น่าสงสารที่สุด เพราะแม้จะรู้ว่าเป็นคนไทย มีคนยืนยันได้ก็จริง แต่เมื่อไม่มีหลักฐานก็เข้าไม่ถึงสิทธิ สปสช. จึงมีหน้าที่ทำอย่างไรให้เขาเข้าถึง ซึ่ง สปสช. ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"
          "ในการพิสูจน์ บางทีหาหลักฐานยาก ดังนั้น  ต้องมีการตรวจ DNA โดยนิติวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าภาพ เพื่อให้คนเข้าถึงสิทธิได้ มีปัญหาเล็กน้อยคือ หากอยู่ระหว่างการตรวจสอบการรับรองสิทธิ แล้วเกิดการเจ็บป่วยไปโรงพยาบาล ภาระจะอยู่ที่โรงพยาบาลซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น คณะทำงานจึงคุยกันว่าอาจจะของบประมาณสักก้อนเพื่อสำรอง ช่วยเหลือกลุ่มที่อยู่ระหว่างการรอยืนยันได้เข้าถึงสิทธิ โดยไม่ต้องเป็นภาระของ หน่วยบริการ ตามสิทธิที่เขาควรจะได้" รองเลขา สปสช. กล่าว
          กรรณิการ์ กิจติเวชกุล บอร์ด สปสช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องยอมรับว่าหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย แม้ในกฎหมายจะเขียนว่า ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ที่มีสิทธิ แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด เพราะหน่วยราชการตีความว่าต้องมีบัตรประชาชน จึงมีคนจำนวนหนึ่งที่เป็นคนไทย แต่มีปัญหาสถานะทางสิทธิ หรือ คนไทยตกหล่น อยู่ราว 5-6 แสนคน คนที่ข้ามมาอยู่ที่ฝั่งไทย 40-50 ปี หรือคนไทย แต่ตกหล่นทะเบียนบ้าน หรือคนที่เป็นจิตเวชในส่วนของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
          "กลุ่มคนเหล่านี้หากสุขภาพดีหรืออาการไม่หนัก เขาจะไม่ออกมา แต่เขาจะมาหน่วยบริการพยาบาล หรือ โรงพยาบาลเมื่ออาการหนักแล้ว ดังนั้น ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น ทางสปสช. จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ หน่วยงานต่างๆ ในการพยายามค้นหากลุ่มคนเหล่านี้เพื่อไม่ให้มีใครตกหล่น หากคนไหนที่สามารถโยงกับการตรวจ DNA ได้ ก็ร่วมมือกับนิติวิทยาศาสตร์ โดยมีงบประมาณการตรวจ DNA และงบในการเดินทาง และร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีใครเข้ามาสวมสิทธิ"
          อย่างไรก็ตาม ยังต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่หากปล่อยให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้น และให้ไปในระบบบริการ หรือ โรงพยาบาลต่างๆ รับค่าบริการทั้งหมดก็ไม่ไหว โดยที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่ตีเป็นค่าสังคมสงเคราะห์เยอะพอสมควร ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถแบ่งเงินจำนวนหนึ่งราว 2-3 ร้อยล้านบาท กันเป็นกองทุนและให้ สปสช. จัดการให้คนที่มีปัญหาสถานะทางสิทธิได้ใช้บริการก่อน เพื่อไม่ให้อาการหนัก เพราะยิ่งเป็นโรคระบาดที่ป้องกันได้ แต่หากไม่ป้องกันจะลุกลามต่อไป
          "ตอนนี้ สปสช. จึงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ ผลักดันเรื่องนี้ เสนอเขาคณะรัฐมนตรี และหวังว่าจะได้รับการอนุมัติในเร็ววัน เพราะช่วยทำให้คนไทยไม่ตกหล่น และยิ่งในภาวะวิกฤติโควิด เราเห็นเลยว่าจุดไหนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จุดนั้นเป็นจุดอ่อน การมี บัตรประชาชน หมายถึงการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ดังนั้น จึงต้องออกไปตามหา คนกลุ่มนี้ โดยการทำงานร่วมกับ เครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์ สปสช. และอื่นๆ เพราะแต่ละคนมีปัญหาที่แตกต่างกัน" กรรณิการ์ กล่าว
          ด้าน อังคาร สังทองทัศ วัย 21 ปี กลุ่มบุคคลไร้สถานะผู้ได้รับมอบบัตรประชาชน พร้อมด้วย วิชุดา จำปาขาว วัย 40 ปี ผู้เป็นแม่ เล่าว่า ตนเองเกิดที่เมืองไทย โดยพ่อเป็นคนไทย และ แม่เป็นชาวลาวที่เดินทางมาอยู่ที่ประเทศไทยมากกว่า 20 ปี แต่ในช่วงที่เกิดพ่อไม่ได้มาเซ็นรับรองที่โรงพยาบาลทำให้ตนไม่ได้รับสถานะ ที่ผ่านมา ทำให้การสมัครเรียนเป็นไปด้วยความลำบากเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน แต่เมื่อได้รับการพิสูจน์โดยการตรวจ DNA กับญาติที่อยู่ฝั่งไทย และได้บัตรประชาชนแล้วรู้สึกดีใจมาก ที่จะได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นรวมถึงสิทธิการรักษาพยาบาลด้วย ขณะที่น้องสาววัย 13 ปี ได้รับบัตรประชาชนตามปกติ

 pageview  1205127    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved