Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 05/04/2564 ]
ฉีด-ไม่ฉีด วัคซีนโควิด-19 คนไทยตัดสินใจ เสี่ยงหรือไม่ ??

ชุลีพร อร่ามเนตร qualitylife4444@gmail.com
          "ฉีด-ไม่ฉีด วัคซีนโควิด-19 ? และเมื่อใดจะได้ฉีดวัคซีน?" ดูจะเป็นคำถามที่หลายๆ คนเกิดความข้องใจ เพราะจนถึงขณะนี้คนไทยเพียง 0.1 คน ต่อประชากร 100 คน เท่านั้นที่ได้รับ "ฉีดวัคซีนโควิด-19"  หลายคนอาจจะเฝ้ารอการฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่อีก หลายคนก็เกิดความกังวลว่าควรจะฉีดหรือไม่?
          กรุงเทพธุรกิจ เว็บไซต์ทรูฮิตรายงานอ้างข้อมูลสำนักข่าวบูมเบิร์กว่ากระบวนการฉีดวัคซีนต้านโควิด COVID-19 ทั่วโลก เริ่มนับตั้งแต่วันที่วัคซีนได้รับการอนุมัติจาก FDA โดยในช่วงแรกยังเป็นการฉีดให้กับ ผู้ปฏิบัติงานในแนวหน้า เช่นแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการก่อน อัพเดทล่าสุด วันที่ 2 เม.ย. 2564 มีจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว
          อาทิ สหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้รับวัคซีน 153,631,404 คน รับวัคซีน 23.6 คน ต่อประชากร 100 คน จีน 118,210,000 คน รับวัคซีน 4.2 คน ต่อประชากร 100 คน ยุโรป 75,460,913 คน รับวัคซีน 8.5 คนต่อประชากร 100 คน อินเดีย 67,536,392 คน รับวัคซีน 2.5 คน ต่อประชากร 100 คน เยอรมนี 13,779,636 คน รับวัคซีน8.3 คน ต่อประชากร 100 คน อิตาลี 10,324,127 คน รับวัคซีน 8.6 คนต่อประชากร 100 คน
          ในส่วนภูมิภาคเอเชียนั้น อินโดนีเซีย มีจำนวนผู้ฉีดวัคซีน 12,226,028 คน รับวัคซีน 2.3 คนต่อประชากร 100 คน ญี่ปุ่น 1,050,112 คน รับวัคซีน 0.4 คน ต่อประชากร 100 คน เมียนมา 1,040,000 คน รับวัคซีน 1 คน ต่อประชากร 100 คน เกาหลีใต้ 889,546 คน  รับวัคซีน 0.9 คน ต่อประชากร 100 คน ฟิลิปปินส์ 738,913 คน รับวัคซีน 0.3 คนต่อประชากร 100 คน กัมพูชา 296,149 คน รับวัคซีน 0.9 คนต่อประชากร 100 คน ไทย 191,745 คน รับวัคซีน 0.1 คน ต่อประชากร 100 คน เป็นต้น
          ขณะที่ ประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-1 เม.ย.มีผู้ฉีดวัคซีนสะสมรวม 203,650 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 166,243 ราย เข็มที่ 37,407 ราย และยอดฉีดวันที่ 1 เม.ย. เข็มที่ 1 จำนวน 7,748 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 4,159 ราย ซึ่งตามหลักจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนได้ในสัดส่วน 50-60 % ของประชากรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันระดับพื้นที่
          ผศ.นพ.มนต์เดช สุขปราณี แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ  โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้มีหลายประเทศได้ดำเนินการฉีดไปแล้ว และประเทศไทยได้ฉีดเพียง 0.1 คน ต่อประชากร 100 คน โดยวัคซีนโควิด-19 ที่มีการฉีดกันทั่วโลกนั้น ต้องยอมรับว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงจำนวนมาก และหลายประเทศมีการจำกัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 บางชนิด เนื่องจากยังไม่มีการรับรองทางการแพทย์อย่างชัดเจน
          "ข้อมูลผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน โควิด-19 มีเยอะมาก ซึ่งคนไทยจำนวนมากที่ไม่ทราบผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น โดยส่วนตัวมองว่าเรื่องของการฉีดวัคซีน โควิด-19 ควรเปิดให้คนไทยตัดสินใจเอง มีอิสระในการเลือกว่าจะเสี่ยงฉีดกับวัคซีนตัวไหน จะฉีดหรือไม่ฉีด เพราะวัคซีนทุกชนิดมีความเสี่ยง คนฉีดต้องตัดสินใจเอง ส่วนหน้าที่ของรัฐบาลผู้เกี่ยวข้อง ควรอัพเดท ข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนรับรู้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ" ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าว การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มี 2 เป้าหมาย คือ "เป้าหมายส่วนบุคคล" และ "เป้าหมายของส่วนรวม" ทั้งประเทศหรือทั้งโลก ทั่วทั้งโลกพยายามให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องมีการคำนวณว่าใช้วัคซีนปริมาณเท่าไหร่ รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ตัดสินใจใช้อยู่ในระดับไหน เพราะวัคซีนที่ประสิทธิภาพสูง สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ในระดับสูงอาจราคาแพง แต่ทำให้มั่นใจได้ว่าจำนวนคนที่ฉีดไปส่วนใหญ่เกิดภูมิต้านทานทันเวลาในปริมาณที่ต้องการ
          โดยการวัคซีนต้องฉีดอย่างน้อย 60-70% ของประชากร ซึ่งประชากรทั่วโลกราว 7,000 ล้านคน ขณะที่ คนไทยราว 70 ล้านคน ต้องฉีดราว 40-50 ล้านคน การฉีดวัคซีนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและลดความรุนแรง ลดอัตราการเสียชีวิต บุคคลเสี่ยงมากที่สุด แน่นอนว่า กลุ่มแพทย์ พยาบาล เพราะอยู่แนวหน้า รวมถึงผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มี โรคประจำตัว แต่เมื่อฉีดกลุ่มคนเหล่านี้ โรคไม่หยุด อาจจะไม่ป้องกันการถ่ายทอดโรค
          "การที่มุ่งประเด็นไปที่การฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มนี้ เพื่อป้องกันแต่ไม่หยุดยั้งการแพร่กระจายโรค แต่กลุ่มคนเหล่านี้จะปลอดภัยเพราะมีวัคซีนมาป้องกัน แต่การแพร่กระจายโรคก็จะยังแพร่กระจายต่อไป เพราะคนที่แพร่เชื้อ คือ กลุ่มคนอายุน้อย แข็งแรง เวลาป่วยไม่มีอาการ หากจะหยุดยั้งได้ ต้องให้กลุ่มคนที่แพร่เชื้อให้คนอื่นและเคลื่อนไหวตลอดเวลา มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น" ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าว  ทั้งนี้ ในส่วนของรพ. เมดพาร์คนั้น ได้มีการเตรียมพร้อมของเครื่องมือในการจัดเก็บวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะ โมเดอร์นา หรือ ไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค โดยเป็นเครื่องจัดเก็บวัคซีน -80 องศา ซึ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะวัคซีนของไฟเซอร์ไบโอเอนเทค ทำให้สามารถจัดเก็บวัคซีนได้ ตลอดอายุการใช้งาน เพราะหากแช่ในตู้เย็นธรรมดา อายุจะเหลือเพียง 5 วัน แต่หากเปิดผสม อยู่ได้ 6 ชั่วโมง โดย 1 ขวดมี 6 โดส โดสละ 0.3 ซีซี เมื่อผสมแล้วจะต้องใช้ให้หมด
          "แนวทางในการนำวัคซีนเข้ามา จะพยายามนำวัคซีนที่ดีที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับสาธารณชน เมื่อรัฐบาลอนุญาต ขณะนี้แนวทางของรัฐเริ่มผ่อนคลาย อย่างที่เห็นว่าสหรัฐที่เป็นเจ้าของก็ยังไม่พอ โอกาสที่จะให้เราเยอะๆ ก็คงจะยังไม่มี หรืออาจจะช้า"ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าว
          ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ ระบุว่า ในคนไข้ที่เป็นโควิด-19 มาก่อน และดีขึ้นแล้ว สามารถฉีดได้และได้ประโยชน์ แต่หากกำลังเป็น ยังไม่หาย ห้ามฉีด ผ่านมา 1 ปี ยังไม่รู้ว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะสามารถอยู่ได้นานแค่ไหน เพราะเท่าที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ พบว่า ภูมิต้านทานของคนที่เคยเป็นอยู่ ไม่นาน และค่อยๆ ลดลง ดังนั้น จึงมีคนที่เคยเป็นมาแล้ว และฉีดวัคซีนด้วย ภูมิต้านทานก็ขึ้น เชื่อว่าอีกหลายปีข้างหน้าจะเริ่มเห็นคำตอบที่ชัดเจน
          ทั้งนี้ วัคซีนยังมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาให้ดีหากจะใช้ คิดว่าวัคซีนที่ดีคือ ฉีดหนเดียว กระตุ้นภูมิต้านทานได้ตลอด ในระยะเวลานาน และแน่นอนการเข้าถึงสำคัญมากเพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง ในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรักษา การบริหารยา โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมเครื่องมือในการจัดเก็บ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
          อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะถูกหรือแพง หรือจะยี่ห้อใด
          สิ่งที่สำคัญที่สุด ควรเปิดโอกาสให้คนที่จะฉีดเลือกเองว่าจะฉีดหรือไม่ หรือจะฉีดยี่ห้อไหน โดยที่พวกเขาต้องรู้ถึงผลข้างเคียง และได้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน เป็นความจริงทั้งหมด เพื่อให้พวกเขาได้ตัดสินใจยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ต่อให้ได้ฉีดหรือไม่ได้ฉีดวัคซีน โควิด-19 ทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ สวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ไปในพื้นที่เสี่ยง
          "การฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรเปิดให้คนไทยตัดสินใจเองว่าจะเสี่ยงฉีดหรือไม่"
          ผศ.นพ.มนต์เดช สุขปราณี

 pageview  1204949    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved