Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 11/11/2563 ]
อนาคต วัคซีน โควิด-19 ใครจะได้ใช้ก่อน

ข่าวผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ จุดประกายความหวังให้กับคนทั้งโลก เบื้องต้นวัดจากปฏิกิริยาจากตลาดหุ้น แต่คำถาม ที่จะตามมาคือใครจะได้ใช้วัคซีนก่อน ในราคาเท่าใด และจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ไม่มีใครถูกทิ้งไว้
          กรุงเทพธุรกิจ  เว็บไซต์เนชันแนล จีโอกราฟฟิกรายงานว่า โดยปกติการจะนำวัคซีนออกวางตลาดได้ต้องใช้เวลา 10-15 ปี เร็วสุดที่เคยทำได้คือวัคซีนคางทูมในทศวรรษ 60 ใช้เวลา 4 ปี วัคซีนแต่ละตัวก่อนได้รับอนุมัติต้องทดลองทางคลินิก 3 ระยะ จึงเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน  แต่เนื่องจากเป็นความจำเป็นเร่งด่วนท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)  บริษัทพัฒนาวัคซีนบางรายอาจทดลอง ทางคลินิกขั้นต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน
          แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการ สถาบันโรคติดเชื้อและภูมิแพ้แห่งชาติสหรัฐ เคยย้ำว่า คณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยและข้อมูล ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ อาจยุติการทดลองได้เร็ว ถ้าผลเบื้องต้นจำนวนมากเป็นบวกมากกว่าลบ
          สอดคล้องกับรายงานของเว็บไซต์ บีบีซีที่ว่า โดยปกติวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ มักใช้เวลาในการพัฒนา ทดสอบ ส่งมอบ นานหลายปี ถึงขนาดนั้นก็ไม่อาจรับประกันได้ถึงความสำเร็จ นับถึงวันนี้โรคติดเชื้อในมนุษย์เพียงโรคเดียวที่ขจัดได้คือ ไข้ทรพิษ ที่ต้องใช้เวลาถึง 200 ปี ที่เหลือตั้งแต่โปลิโอ บาดทะยัก หัด คางทูม และวัณโรค มนุษย์ยังต้องเผชิญหน้าต่อไป แต่มีวัคซีนป้องกัน
          สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 กระบวนการที่เคยใช้เวลา 5-10 ปีถูกย่นย่อลงเหลือหลักหลายเดือน ในเวลาเดียวกัน การผลิตก็ต้องเร่งมือ นักลงทุนและผู้ผลิตกล้าทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลลาร์ผลิตวัคซีนที่ได้ผล
          ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคกล่าวว่า ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นชี้ วัคซีนของตนสามารถป้องกันผู้คนไม่ให้ติดเชื้อ โควิด-19 ได้กว่า 90% บริษัทมีแผนยื่นขออนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉินภายในสิ้นเดือน พ.ย. ไฟเซอร์เชื่อว่า สามารถจัดหาวัคซีน 50 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ และราว 1.3 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2564
          ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทยาอังกฤษที่มีใบอนุญาตผลิตวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กำลังเพิ่มขีดความสามารถ การผลิตระดับโลกเห็นชอบจัดหาวัคซีน  100 ล้านโดสสำหรับสหราชอาณาจักร ประเทศเดียว และอาจถึง 2 พันล้านโดสสำหรับทั้งโลก หากพัฒนาวัคซีนสำเร็จ
          สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้คือรัฐบาลทั้งหลายทุ่มเดิมพันเพื่อให้ได้วัคซีน ด้วยการทำ ข้อตกลงกับหลายๆ บริษัทตั้งแต่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ เช่น รัฐบาลสหราชอาณาจักรลงนามข้อตกลงแบบ ไม่เปิดเผยปริมาณ ซื้อวัคซีนทางเลือก 6 ตัว
          สหรัฐหวังว่าจะได้วัคซีน 300 ล้านโดส ภายในเดือน ม.ค.2564 จากโครงการอนุมัติ วัคซีนแบบฟาสต์แทร็ก แต่ใช่ว่าทุกประเทศจะสามารถทำแบบสองประเทศนี้ได้
          องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน กล่าวว่า การทำข้อตกลงกับบริษัทยาล่วงหน้า เป็นแนวโน้มที่น่ากลัวว่าจะเกิดวัคซีนชาตินิยมโดยประเทศร่ำรวย
          ขณะที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กำลังทำงานร่วมกับกลุ่มรับมือโรคระบาด "เซพี" (Cepi) และพันธมิตรวัคซีน "เกวี" (Gavi) เพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านวัคซีน
          นับถึงขณะนี้มีประเทศ/เขตเศรษฐกิจมั่งคั่งอย่างน้อย 94 แห่ง ลงนามร่วมโครงการวัคซีนโลก "โคแวกซ์" (Covax) ตั้งเป้า ระดมทุน 2 พันล้านดอลลาร์ให้ได้ภายใน สิ้นปีนี้ เพื่อช่วยซื้อและแจกจ่ายวัคซีน อย่างเป็นธรรมไปทั่วโลก โดยสหรัฐที่ประธานาธิบดีทรัมป์อยากออกจาก ดับเบิลยูเอชโอ ไม่ได้ร่วมในโคแวกซ์ด้วย
          ประเทศที่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ต่างหวังว่าการระดมทรัพยากรร่วมกัน แบบนี้ จะเป็นหลักประกันว่าประเทศ รายได้ต่ำ 92 ประเทศในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาจะได้วัคซีนโควิด-19 อย่างรวดเร็ว เป็นธรรม เข้าถึงได้เสมอกัน
          โครงการนี้ช่วยหาทุนตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาวัคซีน ไปจนถึงสนับสนุน การผลิตในปริมาณมาก ผู้ร่วมโครงการ ต่างหวังว่า น่าจะได้วัคซีนอย่างน้อย 1 ตัว เพื่อส่งมอบได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ จำนวน 2 พันล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564
          ราคาของวัคซีนเป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา บีบีซีรายงานว่า ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน บริษัทที่ผลิต และจำนวนโดสที่สั่งซื้อ ตัวอย่างเช่น บริษัทยาโมเดิร์นนา รายงานว่า ขายวัคซีนของตนในราคาโดสละ 32-37 ดอลลาร์
          แอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า จะจัดหาวัคซีน ราคาถูกโดสละไม่กี่ดอลลาร์ระหว่างการระบาด
          สถาบันเซรัมอินเดีย (เอสเอสไอ) ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่สุดของโลกในเชิงปริมาณ ได้รับการสนับสนุนจากเกวีและมูลนิธิบิล และเมอลินดา เกตส์ เป็นเงิน 150 ล้านดอลลาร์ ให้ผลิตและส่งมอบวัคซีนที่ทดลองแล้วว่า ใช้ได้ผล ให้กับอินเดียและประเทศรายได้ต่ำ ถึงรายได้ปานกลาง ราคาไม่เกินโดสละ 3 ดอลลาร์
          ส่วนใครจะได้ใช้วัคซีนเป็นรายแรกนั้น ไม่ใช่อำนาจการตัดสินใจของบริษัทผลิต  เกวีวางแผนว่า ประเทศที่ลงนามในโคแวกซ์ ไม่ว่าจะรายได้สูงหรือต่ำ จะได้รับวัคซีนมากเพียงพอสำหรับประชากร 3% ซี่งพอครอบคลุมบุคลากรด้านสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ เมื่อผลิตได้มากขึ้นจะเพิ่มเป็นครอบคลุมประชากร 20% ขั้นนี้ ให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงอายุ 65 ปีและมากกว่าก่อน หลังจากกลุ่ม 20% ได้วัคซีนหมดทุกคนแล้วจึงค่อยกระจายไปตามเกณฑ์อื่นๆ เช่น ตามระดับความเสี่ยง และภัยคุกคามเร่งด่วนจากโควิด-19 ในประเทศนั้นๆ

 pageview  1204511    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved