Follow us      
  
  

กรุงเทพธุรกิจ [ วันที่ 15/09/2563 ]
3กระทรวงสังคมผนึก ช่วยวัยเรียนตั้งครรภ์หนุนเรียน-สร้างงาน

  กรุงเทพธุรกิจ   เผย 8 จังหวัด วัยรุ่นตั้งครรภ์พุ่ง โรคติดต่อเพศสัมพันธ์เพิ่ม 3 กระทรวงด้านสังคมทำเอ็มโอยูร่วมแก้ปัญหา ดูแลวันเรียนตั้งครรภ์ ให้โอกาสเรียนต่อ ส่งเสริมสร้างอาชีพ เลี้ยงดูครอบครัวได้
          วานนี้(14 ก.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และนายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "การให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษาได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม" พร้อมแถลงนโยบายการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
          โดยสถานการณ์อนามัยเจริญพันธุ์ ในวัยรุ่นและเยาวชน ปี 2562 โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ระบุว่า อัตราการคลอด ในวัยรุ่น เริ่มมีอัตราลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 โดยอัตราการคลอดในวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ลดลงจาก 53.4 ในพ.ศ. 2555 เป็น 35.0 ใน พ.ศ. 2561 ในปี 2562 ลดลงมาที่ 31.3 ส่วนอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปีต่อประชากรหญิงอายุ 10-14 ปี 1,000 คน ลดลงจาก 1.8 ใน พ.ศ. 2555 เป็น 1.2 ในพ.ศ. 2561 ในส่วนปี 2562 คิดเป็นสัดส่วน 1.1
          สำหรับ 8 จังหวัดที่มีอัตราการคลอด ของหญิง อายุ 15-19 ปีมากกว่า 40.0 ต่อวัยรุ่นหญิง 15-19 ปี 1,000 คน ปี 2562 ได้แก่ ตาก 1,007 คน จากทั้งหมด 21,240 คน คิดเป็น 47.4 นครนายก 333 คน จาก 7,072 คน คิดเป็น 47.1 ระยอง 1,018 คน จาก 22,186 คน คิดเป็น 45.9, ประจวบคีรีขันธ์ 707 คน จาก 15,827 คน คิดเป็น 44.7  สมุทรสาคร 706 คน จาก 15,988 คน คิดเป็น 44.2  ชลบุรี 1,988 คน จาก 45,576 คน คิดเป็น 43.6  ตราด 281 คน จาก 6,495 คน คิดเป็น 43.3 และ ปราจีนบุรี 618 คน จาก 14,374 คน คิดเป็น 43.0
          ขณะที่ สถานการณ์การคลอดซ้ำในวัยรุ่น เริ่มลดลงเรื่อย ๆเช่นกัน ร้อยละการคลอดซ้ำ ในหญิงอายุ 15-19 ปีลดลงจากร้อยละ 12.8 ใน พ.ศ. 2557 เป็น ร้อยละ 9.3 ในปี 2561 ขณะที่ ในปี 2562 ร้อยละ 8.5
          อย่างไรก็ตาม การป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นและเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา จากอัตรา 80.8 ต่อประชากรอายุ 15-24 ปี 100,000 คน ใน พ.ศ. 2553 เป็น 169.1  ต่อประชากรอายุ 15-24 ปี 100,000 คน ใน พ.ศ.2561 และในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 175.3
          นายณัฏฐพล กล่าวว่า ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ส่งผลให้มีอัตราการตั้งครรภ์ลดลงตามลำดับ ในขณะเดียวกันก็ยังพบเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา หรืออาจไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
          ส่งผลกระทบต่อปัญหาครอบครัว ชุมชน เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนการอบรมเลี้ยงดูบุตรให้มีพัฒนาการเติบโตตามวัย จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างกลไกการดำเนินงานร่วมกัน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษาได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม เป็นรูปธรรม และมีความเป็นเอกภาพ
          โดย ศธ.พร้อมให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ได้ศึกษาต่อในสถานศึกษาตามเดิม รวมทั้งปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่นตามความเหมาะสม ตลอดจนนำเด็กและเยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยไม่ทิ้ง ใครไว้ข้างหลัง เพราะเด็กและเยาวชนเหล่านี้ คืออนาคตของประเทศ   นายสากล กล่าวว่า ในส่วนของ พม. ได้จัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อาทิ การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อเป็นแกนนำในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พร้อมประสานงานเฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และครอบครัว รวมทั้งให้มีการฝึกอบรมอาชีพแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ทั้งก่อนและหลัง คลอด เพื่อให้ได้ประกอบอาชีพตามความ เหมาะสม รวมถึงจัดหาครอบครัวทดแทน กรณีที่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ด้วยตนเอง ถือเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved